×

ฤดูหนาวของโลกทำงาน: เมื่อเต่า มังกร และหงส์ ต้องเอาตัวรอดในเศรษฐกิจที่หนาวเหน็บ

12.04.2025
  • LOADING...
global-winter-economy

ฤดูหนาวในธรรมชาติคือเวลาที่ทุกอย่างชะลอตัว ทรัพยากรหายาก พืชหยุดเติบโต และสัตว์จำนวนมากต้องจำศีล แต่สำหรับมนุษย์ในโลกการทำงาน ฤดูหนาวของเราไม่ได้มาเป็นหิมะ หากแต่มาในรูปของวิกฤตเศรษฐกิจ การเลิกจ้าง เงินเฟ้อที่ไม่สมดุลกับรายได้ และความรู้สึกว่า “ไม่ว่าจะทำงานมากแค่ไหน ก็ยังไม่พอจะอยู่รอด”

 

ปี 2568 คือปีที่ลมหนาวของโลกทุนนิยมเริ่มแผ่ปกคลุมไปทั่วทุกวงการ โดยเฉพาะหลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา กลับมาแสดงบทบาทเชิงรุกในเวทีการค้าโลก พร้อมนโยบายกีดกันทางการค้าและการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าที่เข้มข้นขึ้น จุดกระแสย้อนกลับต่อโลกาภิวัตน์ และส่งผลกระทบในเชิงลึกต่อระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

 

สำหรับคนที่กำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นักลงทุน หรือผู้บริหารองค์กร การเข้าใจพลวัตของแรงงานในยุคเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของ ‘ทรัพยากรบุคคล’ อย่างที่เคยนิยาม แต่คือเรื่องของยุทธศาสตร์ในการเอาตัวรอดในตลาดที่ผันผวนสูง

 

ผมจึงอยากจะเปรียบเทียบลักษณะของแรงงานจากสัตว์ 3 ชนิด ในนิยายของจีน คือ เต่า มังกร และหงส์ สะท้อนถึงรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันของแรงงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ที่ผู้บริหารและนักลงทุนควรมองให้ลึกขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อตัดสินใจในเชิงทรัพยากรมนุษย์เท่านั้น แต่เพื่อเข้าใจโครงสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) ในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่โลกเสรีนิยมแบบเดิมกำลังสั่นคลอน

 

เต่า: ฐานเก่าที่ยังทรงพลัง หากถูกใช้ในจังหวะที่เหมาะสม

 

เต่าในฤดูหนาวไม่ดิ้นรน ไม่กระโจน ไม่หนี มันหดตัวอยู่ในเปลือก แข็งแรงจากภายใน ใช้พลังงานน้อยที่สุดเพื่อรอให้ฤดูกาลเปลี่ยนผ่าน

 

ในเชิงแรงงาน เต่าคือพนักงานหรือผู้จัดการรุ่นเก๋าที่คุ้นกับระบบเดิม อาจไม่คล่องกับระบบดิจิทัล แต่เข้าใจลึกซึ้งในกระบวนการและมีเครือข่ายภายในองค์กรที่แน่นแฟ้น

ปัญหาคือ ในยุคที่เศรษฐกิจถดถอยนี้ เต่ามักถูกมองว่าเป็นภาระ หรือถูกตัดออกจากสมการเพื่อให้ต้นทุนดูเบาลง

 

แต่สำหรับผู้บริหารที่มองการณ์ไกล เต่าคือสินทรัพย์ในยามวิกฤต เพราะคือคนที่ “ไม่ตื่นตระหนก” และมีประสบการณ์กับวัฏจักรของเศรษฐกิจหลายรอบ พวกเขาอาจไม่เหมาะกับการขับเคลื่อนอนาคต แต่เหมาะกับการประคองปัจจุบัน

 

มังกร: แรงงานสายปรับตัวเร็ว ที่องค์กรต้องใช้ให้เป็น ไม่ใช่ใช้ให้หมด

 

มังกรคือคนที่พลิ้วไหว เปลี่ยนทันตลาด และเรียนรู้เร็ว หรือก็คือกลุ่มพนักงานที่พร้อมเรียนรู้ทักษะใหม่อยู่เสมอ เป็นแรงงานที่พร้อมตอบปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและกระแสของตลาด หรืออยู่ในสายงานใหม่ เช่น Online Marketing, Data Science หรือ User Experience Design 

 

ในเชิงกลยุทธ์ มังกรคือทรัพยากรสำคัญขององค์กรที่ต้องการปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดต้นทุนการผลิต การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ หรือการขยับเข้าสู่ตลาดใหม่

 

แต่ปัญหาคือมังกรจำนวนมากเริ่มเหนื่อยล้า เมื่อความคาดหวังในผลลัพธ์สูงกว่าความยั่งยืนของระบบแรงงาน บางคนลาออก บางคนผันตัวไปทำงานอิสระหรือย้ายไปต่างประเทศ ส่งผลให้ “การรักษาไว้ซึ่งมังกร” กลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ยากไม่แพ้การดึงดูดคนเก่ง

 

หงส์: ทุนเชิงอุดมการณ์ ที่สะท้อนภาพลักษณ์องค์กรในสายตาสังคม

 

หงส์คือลูกจ้างหรือพนักงานที่มองงานเป็นมากกว่าแค่รายได้ แต่คือคนที่เรียกร้องคุณภาพชีวิต ความยุติธรรมทางแรงงาน หรือการทำงานที่มีความหมายต่อสังคม ไม่ใช่แค่สร้างผลประกอบการในไตรมาสหน้า

 

แม้จะถูกมองว่าไม่ ‘อยู่ในโลกความจริง’ แต่หงส์คือสิ่งที่ทำให้องค์กรมีจิตวิญญาณ และช่วยสร้างภาพลักษณ์ทางบวก เป็นกระบอกเสียงของแนวคิดเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล รวมถึงช่วยรักษาแรงงานคุณภาพไม่ให้หลุดออกจากระบบเพราะหมดใจ

 

ในยุคที่นักลงทุนเริ่มคำนึงถึงความยั่งยืนและชื่อเสียงมากขึ้น หงส์คือทรัพยากรเชิงคุณค่าทางสังคมที่บริษัทไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในตลาดทุนที่แนวคิดการลงทุนอย่างรับผิดชอบ กำลังกลายเป็นกระแสหลัก

 

บทสรุป: กลยุทธ์การเอาตัวรอดในเศรษฐกิจที่หนาวเหน็บ ต้องใช้ความหลากหลาย ไม่ใช่ความเร็วเพียงอย่างเดียว

 

ฤดูหนาวทางเศรษฐกิจในวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการชะลอตัวทางตัวเลข แต่คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้ทุกบริษัทต้องมองลึกถึงทุนมนุษย์ในแบบที่ซับซ้อนกว่าเดิม

 

เต่าคือความมั่นคง มังกรคือการพัฒนาและนวัตกรรม หงส์คือคุณค่าระยะยาว

การบริหารในยุคเศรษฐกิจถดถอย ไม่ใช่การเลือกแรงงานประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่คือการจัดสรรพื้นที่ให้ทั้งสามอยู่ร่วมกันอย่างมีสมดุล ผู้บริหารที่เข้าใจสิ่งนี้ย่อมไม่เพียงแต่อยู่รอดในฤดูหนาว แต่ยังสามารถต่อยอดเมื่อฤดูใบไม้ผลิกลับมาอีกครั้ง และนั่นคือกลยุทธ์ที่แท้จริงของการบริหารคนในโลกหลังยุคโลกาภิวัตน์

 

ภาพ: Goran13 / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising