×

โลกร้อน สุขภาพรวน นับถอยหลังวันอวสานโลก

26.10.2021
  • LOADING...
global warming

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • รายงานจาก Lancet Countdown ปีล่าสุด (2021) พบว่า โลกที่ร้อนขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และร้อนหนักที่สุดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานั้นส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์โลกทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย
  • ปัญหาโลกที่ร้อนขึ้นพบมากในผู้มีรายได้น้อยในประเทศที่ยังไม่พัฒนา ในขณะที่ผู้มีฐานะดี มีทางเลือกในการหลบลมร้อนอยู่ในบ้าน และใช้เครื่องปรับอากาศแก้ปัญหา แต่การใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นปริมาณมากในเมืองใหญ่ ก็ก่อให้เกิด Urban Heat Island เป็นผลให้เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ต่างๆ มักมีอุณหภูมิสูงกว่าชนบท 
  • โลกที่ร้อนขึ้นจนมีผู้คนต้องล้มตายจากคลื่นความร้อน ไฟป่าที่ทวีความรุนแรงจนคร่าชีวิตสัตว์ป่าไปจำนวนมาก น้ำท่วมที่พัดพาบ้านเรือน รถยนต์ และชีวิตผู้คน ฝุ่นพิษที่ปกคลุมจนกลายเป็นเมืองในม่านฝุ่น ซึ่งประชาชนต้องใส่หน้ากากป้องกันมลพิษก่อนออกจากบ้าน 

หนังและซีรีส์เกี่ยวกับโลกอนาคตมากมายที่จินตนาการถึงโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โลกที่มนุษย์ต้องอพยพมาอาศัยรวมกันในที่หลบภัย หรือหนีไปตั้งรกรากใหม่ยังดาวดวงอื่น โลกที่แห้งแล้งจนมนุษย์ไม่สามารถเพาะปลูกผลิตอาหารเพื่อประทังชีวิตได้ ต้องอาศัยอาหารสังเคราะห์จากห้องทดลอง โลกที่สีเขียวและความชุ่มชื้นเหือดหายไป เหลือแต่ผืนดินแห้งๆ อากาศแปรปรวน และการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ที่ยังหลงเหลือ

 

มีนักวิจัยหลายสาขาทั่วโลกพยายามใช้มาตรต่างๆในการวัด ว่าโลกที่เราอาศัยอยู่ในวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าใกล้โลกในจินตนาการเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน หนึ่งในนั้นคือการรวมตัวกันของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์สาขาต่างๆ ภายใต้ชื่อ Lancet Countdown ที่เน้นไปที่การวัดสัญญาณชีพโลกและสัญญาณจากโรค เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมกับปัญหาสุขภาพส่งผลต่อกันในหลายแง่มุม

 

รายงานจาก Lancet Countdown ปีล่าสุด (2021) พบว่า โลกที่ร้อนขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และร้อนหนักที่สุดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานั้น ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์โลกทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย

 

ผลกระทบทางตรงคืออุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยในบางพื้นที่มีอุณหภูมิที่สูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสร่วมกับมี Heat Wave หรือคลื่นความร้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ที่มีโอกาสเกิดภาวะลมแดดหรือ Heat Stroke 

 

อุณหภูมิที่สูงเกินไปยังกระทบกับกิจกรรมกลางแจ้งทั้งการออกกำลัง กิจกรรมสันทนาการ และการประกอบอาชีพ เกษตรกรและผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งจำเป็นต้องลดเวลาการทำงานลง เพราะอุณหภูมิที่สูงเกินกว่าจะออกไปทำงานได้ ส่งผลให้โอกาสในการสร้างรายได้ลดลง

 

global warming

 

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางตรงนี้พบมากในผู้มีรายได้น้อยในประเทศที่ยังไม่พัฒนา ในขณะที่ผู้มีฐานะดี มีทางเลือกในการหลบลมร้อนอยู่ในบ้าน และใช้เครื่องปรับอากาศแก้ปัญหา แต่การใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นปริมาณมากในเมืองใหญ่ ก็ก่อให้เกิด Urban Heat Island เป็นผลให้เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ต่างๆ มักมีอุณหภูมิสูงกว่าชนบท 

 

global warming

 

นอกจากอุณหภูมิแล้ว มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โลกป่วนคนป่วย ในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตกว่า 3.3 ล้านคนจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ทั้งโรคในกลุ่มมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ ไปจนถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

โลกที่ร้อนขึ้นนอกจากส่งผลกับคนแล้ว ยังส่งผลต่อเชื้อก่อโรค เชื้อแบคทีเรียและไวรัสบางตัวแบ่งตัวและแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้นเมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เช่น ไวรัสนำโรคไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา ไข้ซิกา รวมไปถึงเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วงบางประเภท

 

สำหรับการผลิตอาหาร พบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นและอุทกภัยที่มาเยือนบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นแหล่งอาหารของประชากรโลก ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง และอื่นๆ โดยแนวโน้มการผลิตที่ลดลงในทุกๆ ปี สวนทางกับความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นของประชากรโลก ความเสี่ยงที่อาหารจะไม่เพียงพอจึงมีเพิ่มขึ้น (Food Insecurity)

 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่า ในแต่ละปีประชากรโลกราวสิบล้านต้องเสียชีวิตจากความไม่สมดุลในการกินอาหาร ทั้งไม่สมดุลในปริมาณ เช่น กินมากไปจนก่อโรค หรือมีให้กินน้อยไปจนเป็นโรค และไม่สมดุลในประเภทของอาหาร ทั้งจากการขาดความตระหนักและความรู้ทางโภชนาการ โดยปัญหาหลักที่พบคือ การกินเนื้อแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) ที่มากเกินไป การกินผัก ผลไม้ และถั่วต่างๆ ที่น้อยเกินไป โดยปัญหาการกินที่ไม่สมดุลนี้ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบในประเทศที่ร่ำรวยมากกว่าประเทศยากจนที่น่าสนใจคือ ในประเทศที่มีรายได้สูง ยิ่งมีอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดงมากขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยการปรับไลฟ์สไตล์มากขึ้น

 

การกินเนื้อแดงที่มากจนเกินไป ส่งผลให้สุขภาพรวน เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ และยังส่งผลให้โลกร้อนขึ้น เพราะราว 21-37% ของก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้โลกร้อน เป็นผลจากกระบวนการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ โดยครึ่งหนึ่งในนั้นมาจากกระบวนการเลี้ยงวัวเพื่อบริโภคเป็นเนื้อและนม

 

global warming

 

โลกที่ร้อนขึ้นจนมีผู้คนต้องล้มตายจากคลื่นความร้อน ไฟป่าที่ทวีความรุนแรงจนคร่าชีวิตสัตว์ป่าไปจำนวนมาก น้ำท่วมที่พัดพาบ้านเรือน รถยนต์ และชีวิตผู้คน ฝุ่นพิษที่ปกคลุมจนกลายเป็นเมืองในม่านฝุ่นซึ่งประชาชนต้องใส่หน้ากากป้องกันมลพิษก่อนออกจากบ้าน และภาพหมีขาวขั้วโลกที่ยืนโดดเดี่ยวบนก้อนน้ำแข็งที่กำลังละลาย ทั้งหมดไม่ใช่ซีนจากหนังฮอลลีวูด แต่เป็นปรากฏการณ์จริงที่มีข้อมูลชี้วัดต่างๆ สนับสนุนว่าโลกเรากำลังเดินทางเข้าสู่วันอวสาน

 

global warming

 

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัท เจ้าของกิจการ นักข่าว นักเขียน หมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออยู่ในบทบาทใด หมอเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะพลเมืองโลกที่จะสำรวจตัวเองว่า มีอะไรที่จะทำได้บ้าง เพื่อช่วยกันลดวิกฤติการณ์โลกร้อนนี้ 

 

ปัญหาโลกร้อนนั้น ไม่ต่างกันกับปัญหาโควิด ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนบนโลกนี้จะปลอดภัยไปด้วยกันค่ะ

 

อ้างอิง:

  • Romanello M, et al “The 2021 report of the Lancet Countdown on health and climate change: code red for a healthy future” Lancet 2021; DOI:10.1016/S0140-6736(21)01787-6.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising