×

โลกร้อนอาจทำให้สิ้นชาติ อุณหภูมิโลกอาจพุ่งขึ้นได้ถึง 14 องศาเซลเซียส มนุษย์เขตร้อนหมดทางรอดชีวิต

11.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเข้มข้นเฉลี่ยของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ราว 280 ส่วนต่อล้านส่วน (หรือเรียกว่า ppm) แต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ในปัจจุบันความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยพุ่งขึ้นไปถึง 411 ppm แล้ว
  • ว่ากันว่าถ้าตัวเลขนี้พุ่งถึง 500 ppm จะถึง The Point of No Return คือไม่อาจหวนคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก
  • แต่กระนั้นหลายคนก็ยังรู้สึก ‘เฉยๆ’ กับเรื่องพวกนี้ เพราะยังไม่เห็นผลที่เกิดขึ้นแบบ ‘ฉับพลันทันที’ แบบในหนัง แต่ถ้ามองด้วยมิติของ Deep Time หรือ Geologic Time ที่เรียกว่า ‘ธรณีกาล’ แล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ถือว่า ‘เร็ว’ เอามากๆ แล้วที่สำคัญก็คือ มันมีกระบวนการ ‘เร่งทำลายตัวเอง’ เกิดขึ้นอยู่ด้วย ซึ่งถ้าหากว่าเรายังไม่ทำอะไรเลย ยังอยู่กันไปวันๆ แบบนี้ ที่สุดเราจะสิ้นชาติและไม่มีแผ่นดินจะอยู่!

ในท่ามกลางกระแสการเมืองร้อนแรงนี้ อยู่ๆ ผมก็นึกถึงการเปรียบเทียบของ นพ.ประเวศ วะสี เรื่อง ‘ไก่ในเข่ง’ ขึ้นมา

 

‘ไก่ในเข่ง’ ของคุณหมอประเวศมีนัยหมายถึงการแตกความสามัคคีจะทำให้เกิดความล่มสลาย เหมือนไก่ในเข่งที่เขาจะเอาไปเชือดแต่ก็ยังจิกตีกันเป็นสามารถ แต่ ‘ไก่ในเข่ง’ ที่ผมนึกถึงกลับไม่ใช่เรื่องเชิงสังคมการเมืองแบบนั้น ทว่าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับ ‘โลกร้อน’ ล้วนๆ

 

อย่างที่เราก็คงรู้กันอยู่ว่าความเข้มข้นเฉลี่ยของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน จนนักวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็น Clear Trend หรือเป็นแนวโน้มที่ชัดเจนมากๆ นั่นคือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เพียงแต่ปีไหนจะเพิ่มมากเพิ่มน้อยเท่านั้นเอง

 

ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเข้มข้นเฉลี่ยของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ราว 280 ส่วนต่อล้านส่วน (หรือเรียกว่า ppm) แต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ปีไหนมีปรากฏการณ์เอลนีโญก็จะเพิ่มมาก เพราะว่าเกิดความแห้งแล้งและไฟป่า เช่นในปี 2016 ที่เกิดเอลนีโญรุนแรง ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นถึง 3.4 ppm ซึ่งถือว่าสูงที่สุด

 

ในปัจจุบัน ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยพุ่งขึ้นไปถึง 411 ppm แล้ว (ดูข้อมูลได้จากบทความนี้) ทั้งที่เพิ่งถึง 410 ppm ไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้นี่เอง

 

 

ว่ากันว่าถ้าตัวเลขนี้พุ่งถึง 500 ppm จะถึง The Point of No Return คือไม่อาจหวนคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก โดยที่เราก็เริ่มเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ในอัตราเร่งมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น หิ้งน้ำแข็งหลุดออกมาจากอาร์กติกบ้าง แอนตาร์กติกบ้าง รวมไปถึงปรากฏการณ์เกี่ยวกับภูมิอากาศต่างๆ ที่รุนแรงในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหลายอย่าง

 

แต่กระนั้นหลายคนก็ยังรู้สึก ‘เฉยๆ’ กับเรื่องพวกนี้ เพราะยังไม่เห็นผลที่เกิดขึ้นแบบ ‘ฉับพลันทันที’ แบบในหนัง แต่ที่จริงต้องบอกคุณว่า ถ้ามองด้วยมิติของ Deep Time หรือ Geologic Time ที่เรียกว่า ‘ธรณีกาล’ แล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ถือว่า ‘เร็ว’ เอามากๆ นะครับ แล้วที่สำคัญก็คือ มันมีกระบวนการ ‘เร่งทำลายตัวเอง’ เกิดขึ้นอยู่ด้วย

 

และเป็นการ ‘เร่งทำลายตัวเอง’ นี่แหละ ที่ถ้าหากว่าเรายังไม่ทำอะไรเลย ยังอยู่กันไปวันๆ แบบนี้ ที่สุดเราจะสิ้นชาติและไม่มีแผ่นดินจะอยู่!

 

เพิ่งมีรายงานของ ทาปิโอ ชไนเดอร์ (Tapio Schneider) จาก California Institute of Technology หรือ CalTec ในพาซาดีนา บอกว่า ภาวะโลกร้อนนั้นอาจเลวร้ายยิ่งกว่าที่เคยคิดกัน

 

เดิมทีเราคิดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นได้สูงถึงราว 6 องศาเซลเซียส ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่า โอ๊ย! แค่ 6 องศาเอง เปิดแอร์อยู่ก็ได้ไม่เป็นไรหรอก แต่ชไนเดอร์ได้ทำแบบจำลองของเมฆที่เรียกว่า สตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus) ที่อยู่เหนือมหาสมุทรบริเวณกึ่งเขตร้อน (Subtropics) ซึ่งเป็นเมฆที่กินพื้นที่ราว 7% ของโลก และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกเย็น เนื่องจากมันจะสะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์กลับไปในอวกาศ

 

ชไนเดอร์พบว่า ถ้าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง 1,200 ppm จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ ‘ฉับพลันทันที’ (Sudden Transition) ขึ้นมาอย่างสมใจคนที่อยากเห็นโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเหมือนในหนัง

 

ทั้งนี้ก็เพราะถ้าคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 1,200 ppm แล้ว เมฆสตราโตคิวมูลัสนี้จะสลายตัวไป ทำให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์พุ่งเข้ามาปะทะโลกตรงๆ นั่นทำให้อุณหภูมิจะสูงขึ้นได้อีกถึง 8 องศาเซลเซียส ถ้านับรวมแล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นได้ถึง 14 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น

 

แบบจำลองของชไนเดอร์นั้นน่าสนใจนะครับ เพราะอย่างหนึ่งก็คือ มันอธิบายได้ด้วยว่า เมื่อราว 50 ล้านปีก่อน ทำไมถึงมีจระเข้ไปอาศัยอยู่ในแถบอาร์กติกได้ เรารู้ว่าตอนนั้นระดับของคาร์บอนไดออกไซด์สูง แต่ไม่ได้สูงมากขนาดที่จะทำให้จระเข้แพร่พันธุ์ขึ้นไปถึงเขตอาร์กติก แต่แบบจำลองนี้ตอบปริศนานี้ได้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการสลายตัวของเมฆในรูปแบบเฉพาะ ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นได้ขนาดนั้น

 

แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

 

ที่จริงแล้ว ‘จุดเปลี่ยน’ ที่ว่านี้ นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Tipping Point ซึ่ง ‘ดักรอ’ เราอยู่หลายช่วงนะครับ เช่นที่ 500 ppm ก็จะเป็นจุดที่ไม่อาจหวนคืนได้อีกแล้ว โดยมีนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่หลายคน เช่น แกรี ปีเตอร์สัน (Garry Peterson) แห่ง Stockholm Resilience Centre ในสวีเดน (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)

 

ปีเตอร์สันบอกว่า ตัวอย่างของ ‘ความเปลี่ยนแปลงฉับพลัน’ ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2016 ก็คือการที่ธารน้ำแข็งแห่งหนึ่งในแคนาดาหดตัวลง ทำให้แม่น้ำสายหนึ่ง จู่ๆ ก็เปลี่ยนทิศทางไปฉับพลัน

 

ปีเตอร์สันศึกษาระบบนิเวศ 300 แห่งที่มีความเสี่ยงต่อ Tipping Point หรือการเปลี่ยนแปลงที่ว่า ตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่ามีฝนตกมากขึ้นฉับพลันในบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้า หรือ Grassland ก็อาจทำให้บริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นป่า หรือถ้าบริเวณป่าอยู่ๆ ก็ไม่มีฝนตกลงมาเลย ต้นไม้ก็จะตาย กลายเป็นทุ่งหญ้าหรือทะเลทรายแทน

 

การศึกษาของเขายังบ่งชี้ด้วยว่า ระบบนิเวศ 300 แห่งนั้น เกือบครึ่งหนึ่งมีความเชื่อมโยงถึงกัน อย่างเช่น ถ้าฝนตกมากเนื่องจากโลกร้อนขึ้น น้ำระเหยมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการพังทลายของดินมากขึ้น ชะเอาปุ๋ยลงไปในทะเล ทำให้สาหร่ายเติบโตจนแย่งออกซิเจนในทะเลไป ทั้งที่ออกซิเจนละลายที่อยู่ในน้ำมีน้อยอยู่แล้วเนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น ก็จะก่อให้เกิดพื้นที่ในทะเลที่เรียกว่า Dead Zone หรือพื้นที่ตาย ที่มีออกซิเจนต่ำ แล้วส่งผลต่อเนื่องไปอีกเรื่อยๆ

 

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์มันจะ ‘ไปได้ไกล’ ถึงขนาดไหนหรือ ปรากฏว่ามีงานวิจัย (ดูที่นี่) ที่บอกว่าถ้าเราเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดที่มีในโลก ระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะเพิ่มขึ้นไปได้สูงถึง 4,000 ppm ซึ่งถ้าหากว่าเป็นแบบนั้น เราคงต้องอพยพไปอยู่ดาวอังคารกันจริงๆ แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม การที่คาร์บอนไดออกไซด์จะไปถึง 1,200 ppm ได้นั้น ต่อให้ไม่มีการทำอะไรเลยก็ต้องหลังปี 2100 ไปแล้วถึงจะเกิดผล เพราะฉะนั้นก็ยังไม่สายเกินไปที่จะช่วยกันเพื่อลดการปล่อยรอยเท้าคาร์บอนด้วยวิธีต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ทั้งในระดับส่วนตัวและในระดับโลก

 

ไม่อย่างนั้น ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นไปอีก 14 องศาเซลเซียส พวก ‘ไก่ในเข่ง’ อย่างเราๆ ท่านๆ ก็คงต้องหนีตายไปจากแผ่นดินขวานทองของไทยไปทำไร่ไถนากันอยู่แถวๆ ภูเขาอัลไตหรือเลยขึ้นไปถึงเขตอาร์กติกแน่ๆ

 

แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าจนถึงขนาดนั้นแล้ว เราจะยังทะเลาะกันเป็นไก่ในเข่งต่อไปอีกหรือเปล่า

 

ภาพประกอบ: Weerapat L.

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X