×

เมื่ออุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สัญญาณเตือนภัยมนุษย์ครั้งร้ายแรงที่สุด

16.02.2024
  • LOADING...
อุณหภูมิโลก

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในสื่อต่างประเทศ แต่แทบจะไม่เป็นข่าวในสื่อไทย คือ ‘Nature Climate Change’ หน่วยงานหลักที่ดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้เปิดเผยงานวิชาการที่เก็บข้อมูลมานานว่า

 

ในปี 2023 โลกมีอุณหภูมิร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี 1850-1900) เป็นครั้งแรกไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ทั่วโลกพยายามจะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

ก่อนหน้านี้ Berkeley Earth องค์กรวิจัยอิสระด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ได้เผยแพร่รายงานอุณหภูมิโลกประจำปี 2023 ว่า เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

ในปี 2015 ประชาคมโลก 197 ประเทศ ได้ให้คำมั่นไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสถือเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ คือหากอุณหภูมิสูงไปกว่านี้ โอกาสที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ จะยากขึ้นมาก หรืออาจจะสายไปเสียแล้ว 

 

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยครั้งร้ายแรงที่สุดถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศครั้งสำคัญ และหายนะของคนทั้งโลก แต่ดูเหมือนจะมีแต่ความเงียบ

 

แม้ว่าในปี 2023 ผู้คน 2.3 พันล้านคน หรือราว 30% ของประชากรโลก ได้รับความเดือดร้อนจากอากาศร้อนเป็นประวัติการณ์ และที่น่าสนใจคือ สถิติย้อนหลัง 9 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

หลังปี 2023 ความร้อนที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า อัตราภาวะโลกร้อนกำลังเร่งตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีแนวโน้มจะลดลง

 

 

(อ้างอิง: https://www.nature.com/articles/s41558-023-01919-7?utm_source=facebook&utm_medium=organic_social&utm_content=null&utm_campaign=CONR_JRNLS_AWA1_GL_PCOM_SMEDA_NATUREPORTFOLIO&fbclid=IwAR3da1_I9LSyarq_kr6sTTwgAbGSViVlOAqCV_SUSHilkfMpPQ5L1XhVCqc)

 

ที่ผ่านมารายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ฉบับปี 2023 ชี้ว่า หากประเมินความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศทั่วโลกในปัจจุบันแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่าจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม 

 

และเมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส

 

แต่ 1.5 องศาเซลเซียสมาเร็วกว่า 6 ปี และคาดว่าอุณหภูมิจะสูงทะลุ 2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นสุดทศวรรษนี้ เร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ถึง 20 ปี

 

ถามว่า ถ้าโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส จะเกิดอะไรขึ้น 

 

มีการคาดการณ์ว่า ปะการังของโลก 70-90 เปอร์เซ็นต์อาจจะตายหมด แหล่งเพาะพันธุ์ปลาจะหายไป นั่นหมายถึงการสูญพันธุ์ของปลาทะเล อาหารหลักของคนทั้งโลก จะตามมา 

 

รวมทั้งการขาดแคลนอาหารสำหรับผู้คนนับล้านๆ คนทั่วโลก ซึ่งหากอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส หายนะต่างๆ จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมชายฝั่งและการขาดแคลนน้ำจืด

 

นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่า ในทศวรรษ 2080 บริเวณขั้วโลกเหนือและมหาสมุทรอาร์กติกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 10 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ในฤดูร้อน น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือจะละลายไปจนหมดสิ้น รอจนอากาศเข้าสู่ความหนาวเย็นจึงจะมีน้ำแข็งมาปกคลุมบริเวณขั้วโลกเหนืออีกครั้ง แต่ก็หายไปถึงครึ่งหนึ่ง

 

ขณะที่แบบจำลองด้านภูมิอากาศทำนายว่า หากการละลายของน้ำแข็งยังคงอัตราเช่นนี้ แนวโน้มที่จะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมขั้วโลกเหนือในฤดูร้อนอาจจะเกิดขึ้นภายใน 25 ปีข้างหน้า

 

Science วารสารวิชาการชื่อดังของโลกทำนายว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เราอาจจะได้เห็นน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 6 เมตร และหากน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนหมดสิ้น ประมาณว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราวๆ 100 เมตร

 

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า อัตราการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเข้าขั้นวิกฤต

 

ทุกวันนี้ธารน้ำแข็งบนหลังคาโลกแห่งนี้ละลายถึงปีละ 8.3 พันล้านตัน นับเป็นอัตราที่เร็วขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 1975-2000 

 

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปริมาณน้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาหิมาลัยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 72 เท่านั้น การละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขานี้ อาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับระดับน้ำทะเล

 

แต่ที่สาหัสกว่านั้นคือ น้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญ 8 สาย ได้แก่ แม่น้ำโขง แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำคงคา แม่น้ำสินธุ แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเหลือง แหล่งน้ำจืดสำคัญที่หล่อเลี้ยงประชากรกว่า 2 พันล้านคนในทวีปเอเชีย

 

หากน้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาหิมาลัยลดลงไปเรื่อยๆ ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายมาเติมแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับพันล้านคนจะเริ่มขาดแคลน และก่อให้เกิดสงครามแย่งชิงน้ำในที่สุด

 

แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวินที่ไหลผ่านประเทศไทย ก็หนีไม่พ้นชะตากรรมนี้

 

ภาวะโลกร้อนยังเป็นสาเหตุให้บางพื้นที่เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบหลายแห่งทั่วโลกลดลง เกิดความอดอยาก เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง

 

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติพบว่า ผลผลิตข้าวจะลดลงร้อยละ 15 เมื่ออากาศร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส

 

ความแห้งแล้งยังก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรงทั่วโลก ตั้งแต่ป่าในสหรัฐอเมริกา ป่าแอมะซอนในบราซิล ไปจนถึงป่าในออสเตรเลีย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดไฟไหม้ป่าฝนเขตร้อนในประเทศอินโดนีเซียรุนแรงขึ้นทุกปี พื้นที่ป่าเสียหายถึง 12.5 ล้านไร่ 

 

ขณะที่ขั้วโลกใต้ ดินแดนที่มีน้ำแข็งปกคลุมมากที่สุดในโลก องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA สำรวจพบว่า ภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาที่ใหญ่กว่ารัฐนิวยอร์ก 2 เท่า กำลังแตกออกจากชั้นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา

 

น้ำแข็งมีความสำคัญกับระบบนิเวศอย่างมาก โดยทำหน้าที่คล้าย ‘ป่า’ ในเขตหนาว

 

หากป่าเปรียบเสมือนฟองน้ำที่คอยอุ้มน้ำแล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำออกมา ‘น้ำแข็ง’ ก็เป็นเสมือนฟองน้ำที่ชะลอการไหลบ่าของกระแสน้ำด้วยความเย็นจนกลายเป็นน้ำแข็ง และเมื่อถึงฤดูร้อน น้ำแข็งก็ละลายเป็นน้ำไหลไปรวมเป็นลำธารและแม่น้ำสายต่างๆ หล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลก

 

ทุกวันนี้น้ำแข็งทั่วโลกละลายปีละมากกว่า 3.7 แสนล้านตัน มากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนถึง 5 เท่า

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเตือนเราว่า หากชาวโลกสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จตอนนี้ แต่น้ำแข็งก็ยังจะละลายต่อไปอีก10-30 ปี หรือเร็วกว่านั้น เมืองตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร ก็มิอาจรอดจากน้ำท่วมได้

 

เป็นไปได้ว่าที่ดินตารางวาละหลักล้านใจกลางกรุงเทพมหานคร อาจจะไม่เหลือมูลค่าอีกต่อไป

 

ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เมื่อเกิดขึ้นและส่งผลกระทบแล้ว แทบจะไม่มีหนทางแก้ไขได้

 

มนุษย์เราทุกวันนี้ก็ไม่ต่างจากกบต้มน้ำร้อน กว่าจะรู้ตัวว่าร้อนก็สายเกินไปแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising