สภาพอากาศของกรุงเทพฯ ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าย่ำแย่และอยู่ในขั้นวิกฤต หลังมีการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) พบว่า ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในเมืองหลวงของไทยเกินระดับมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (8 ก.พ.) กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ตรวจวัดได้ 69-94 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
ในขณะที่หากวัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ จาก The World Air Quality Index องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหามลภาวะในอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก จะพบว่า พื้นที่การเคหะชุมชนคลองจั่นวัดได้สูงสุดถึง 197 มคก./ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สีแดง (Unhealthy) หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 50 มคก./ลบ.ม.
เจ้าฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ ฝุ่นละออง (Particulate Matter) ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์เราถึง 25 เท่า ซึ่งสามารถลอดผ่านขนจมูกและเข้าสู่ปอดและร่างกายของเราได้ ซึ่งหากสูดอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เข้าไป จะส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจตามมา
แต่นอกจากในกรุงเทพแล้ว พื้นที่ไหนในประเทศที่กำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศจากเจ้าฝุ่นละออง PM2.5 บ้าง?
- สถานีวัดคุณภาพอากาศบริเวณบ้านพักกรมอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ จังหวัดสมุทรปราการ 186 มคก./ลบ.ม.
- แขวงการทางสมุทรสาคร 174 มคก./ลบ.ม.
- สถานีกรมอุตุนิยมวิทยาลำปาง 170 มคก./ลบ.ม.
- โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย 167 มคก./ลบ.ม.
- โดยบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนวัดค่าคุณภาพอากาศได้ 33 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์สีเขียว (Good) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่มีปริมาณฝุ่นละอองต่ำที่สุดในวันนี้ หลังจากการตรวจวัดค่าในรอบ 10.00 น. ที่ผ่านมา
ขยับออกจากประเทศไทย เช็กลิสต์พื้นที่ใด เมืองไหนในแผนที่โลกตรวจพบค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานกันบ้างในวันนี้ (ข้อมูลเรียลไทม์จากเว็บไซต์ aqicn.org ณ เวลา 15.00 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561)
ระดับเกณฑ์สีแดง 151-200 (Unhealthy):
ปักกิ่ง, จีน 152 มคก./ลบ.ม.
โฮจิมินห์ซิตี้, เวียดนาม 158 มคก./ลบ.ม.
อูลานบาตอร์, มองโกเลีย 191 มคก./ลบ.ม.
ระดับเกณฑ์สีน้ำเงิน 201-300 (Very Unhealthy):
โกลกาตา, อินเดีย 269 มคก./ลบ.ม.,
หางโจว มณฑลเจ้อเจียง, จีน 233 มคก./ลบ.ม.
ชีไถเหอ มณฑลเฮยหลงเจียง, จีน 225 มคก./ลบ.ม.
ชิมิซุโคจิ จังหวัดมิยางิ, ญี่ปุ่น 210 มคก./ลบ.ม.
ระดับเกณฑ์สีน้ำตาล 300+ (Hazardous):
เมืองส่วนใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และเบฮาเอย์, ตุรกี 999 มคก./ลบ.ม.
โกอาอุยลา, เม็กซิโก 868 มคก./ลบ.ม.
เดลี, อินเดีย 508 มคก./ลบ.ม.
เทศมณฑลพีมา รัฐแอริโซนา, สหรัฐอเมริกา 500 มคก./ลบ.ม.
มุมไบ, อินเดีย 369 มคก./ลบ.ม.
ภาพประกอบ: Karin Foxx
ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 ระดับ ได้แก่
- ระดับสีเขียว 0-50 (Good): คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- ระดับสีเหลือง 51-100 (Moderate): คุณภาพอากาศยังพอรับได้ แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือผู้ที่ไวต่อฝุ่นละอองเป็นพิเศษจำนวนหนึ่ง
- ระดับสีส้ม 101-150 (Unhealthy for Sensitive Group): ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือผู้ที่ไวต่อฝุ่นละอองเป็นพิเศษจะได้รับผลกระทบโดยตรง ในขณะที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบ
- ระดับเกณฑ์สีแดง 151-200 (Unhealty): ทุกคนเริ่มได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมา
- ระดับเกณฑ์สีน้ำเงิน 201-300 (Very Unhealthy): ประกาศเตือนปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการสูดฝุ่นละอองเข้าไป โดยคนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบ
- ระดับเกณฑ์สีน้ำตาล 300+ (Hazardous): ระดับฝุ่นละอองอยู่ในขั้นเป็นอันตรายร้ายแรงต่อคนที่อยู่ในพื้นที่และสูดฝุ่นละอองเข้าไป
- ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดัชนีดังกล่าวจะคำนวณจากค่าของ คาร์บอนมอนอกไซด์, โอโซน, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง PM10 และฝุ่นละออง PM2.5 โดยดูว่าค่าของสารมลพิษตัวใดมีค่ามากที่สุด เฉลี่ยในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ก็จะใช้เป็นดัชนีวัดคุณภาพอากาศ ในวันนั้นๆ