×

โลกร้อนขึ้น 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส ส่งผลแตกต่างกันอย่างไร กระทบชีวิตมนุษย์แค่ไหน?

04.11.2021
  • LOADING...
โลกร้อนขึ้น 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่กำลังจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ มีเป้าหมายสำคัญที่ทั่วโลกกำลังพยายามผลักดันร่วมกันคือ การกำหนดยุทธศาสตร์ยับยั้งการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก เพื่อลดผลกระทบและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change 

 

เป้าหมายหลักที่นานาชาติได้ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 คือ การคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือเทียบเท่าช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และมุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่คือ จำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่า ‘ยากจะไปถึง’ เนื่องจากระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก ณ ปัจจุบัน สูงถึง 420 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก

 

รายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี 2018 ระบุว่า อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยน่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.5 องศาเซลเซียสในช่วงระหว่างปี 2030-2052 หากสถานการณ์การแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างที่เป็นอยู่

 

คำถามที่หลายฝ่ายสงสัยคือ หากเราไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ผลกระทบที่เกิดต่อโลกเราจะรุนแรงแค่ไหน? และจะเป็นอย่างไรหากอุณหภูมิโลกเพิ่มไปถึงระดับ 2 องศาเซลเซียส หรือมากกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 

 

คำตอบที่ชัดเจนจากผู้เชี่ยวชาญคือ ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียสนั้นมีความแตกต่างอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับระดับ 2 องศาเซลเซียส 

 

โดยรายงานพิเศษว่าด้วยภาวะโลกร้อน 1.5 องศาเซลเซียส (Special Report on Global Warming of 1.5 °C) จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่เผยแพร่ออกมาในปี 2018 ชี้ว่า ทุกการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนั้นจะส่งผลกระทบที่สำคัญ

 

โดยตัวอย่างความแตกต่างของผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกระหว่าง 1.5 และ 2 องศาเซลเซียส ที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่

 

สภาพอากาศร้อนจัดที่เพิ่มขึ้น

  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส วันที่อากาศร้อนจัดในเขตละติจูดกลางจะร้อนกว่าในระดับยุคก่อนอุตสาหกรรมประมาณ 3 องศาเซลเซียส
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส วันที่อากาศร้อนจัดในเขตละติจูดกลางจะร้อนกว่าในระดับยุคก่อนอุตสาหกรรมประมาณ 4 องศาเซลเซียส
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ประชากรโลกราว 14% จะเผชิญกับคลื่นความร้อนสูงในทุกๆ 5 ปี
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ประชากรโลกราว 37% จะเผชิญกับคลื่นความร้อนสูงในทุกๆ 5 ปี

 

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น

  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 0.26-0.77 เมตรในปี 2100 เมื่อเทียบกับช่วงปี 1986-2005
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 0.36-0.87 เมตรในปี 2100 เมื่อเทียบกับช่วงปี 1986-2005

 

ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง

  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส คาดว่าภายในปี 2100 แมลง 6% พืช 8% และสัตว์มีกระดูกสันหลัง 4% จะสูญเสียพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดโดยสภาพภูมิอากาศไปมากกว่าครึ่ง 
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส คาดว่าผลกระทบจะรุนแรงเป็น 2-3 เท่า โดยภายในปี 2100 แมลง 18% พืช 16% และสัตว์มีกระดูกสันหลัง 8% จะสูญเสียพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดโดยสภาพภูมิอากาศไปมากกว่าครึ่ง 
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส คาดว่าพื้นที่บนบกของโลกราว 4% จะเผชิญการเปลี่ยนผ่านของระบบนิเวศจากประเภทหนึ่งไปสู่อีกประเภทหนึ่ง
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส คาดว่าพื้นที่บนบกของโลกราว 13% จะเผชิญการเปลี่ยนผ่านของระบบนิเวศจากประเภทหนึ่งไปสู่อีกประเภทหนึ่ง


การละลายของน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก

  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามหาสมุทรอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อนประมาณทุกๆ 100 ปี
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส คาดว่ามหาสมุทรอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อนประมาณทุกๆ 10 ปี

 

การปราศจากน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกนั้นอาจเร่งให้ระดับอุณหภูมิโลกเพิ่มเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลที่เป็นสีน้ำเงินเข้มจะดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้

 

ความเสี่ยงต่อแนวปะการัง

  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส คาดว่าแนวปะการังทั่วโลกอาจลดลงอีก 70-90%
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส คาดว่าแนวปะการังทั่วโลกอาจลดลงมากกว่า 99% ซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียที่รุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งหลายแห่งแบบไม่มีทางย้อนกลับ

 

การทำประมงทั่วโลกลดลง

  • รายงานของ UN คาดการณ์ว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำประจำปีสำหรับการทำประมงทางทะเลทั่วโลก ลดลงประมาณ 1.5 ล้านตัน
  • หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำประจำปีสำหรับการทำประมงทางทะเลทั่วโลกลดลงอีกเป็นเท่าตัว หรือประมาณ 3 ล้านตัน

 

ภาวะความยากจนที่เพิ่มขึ้น

ผลกระทบที่ตามมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพิงการเกษตรหรือการหาเลี้ยงชีพจากทรัพยากรตามแนวชายฝั่ง 

 

ซึ่งการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส อาจช่วยลดจำนวนประชาชนทั่วโลกที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศลงได้หลายร้อยล้านคน เมื่อเทียบกับการปล่อยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2 องศาเซลเซียส

 

ผลกระทบด้านสุขภาพ

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 2 องศาเซลเซียส คาดว่าจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดหรือติดเชื้อจากพาหะนำโรค เช่น โรคมาลาเรียหรือไข้เลือดออกได้มากกว่า เมื่อเทียบกับระดับ 1.5 องศาเซลเซียส

 

ผลกระทบด้านอาหาร

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 2 องศาเซลเซียส คาดว่าจะส่งผลที่รุนแรงกว่าระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ในแง่ของผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี และธัญพืชต่างๆ ที่มีจำนวนลดลง รวมทั้งกระทบต่อการทำปศุสัตว์ โดยคาดว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะครอบคลุมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ไปจนถึงแถบแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา

 

สองหนทางในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญจากนี้คือ การที่ประเทศที่มีส่วนในการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด เช่น จีน สหรัฐฯ อินเดีย และรัสเซีย จะต้องเพิ่มความพยายามอย่างจริงจังในเร็ววันนี้ เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งตอนนี้เหลือเพียง 2 หนทาง คือ

 

  1. จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส โดยจำเป็นต้องลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero หรือยุติการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2050
  2. จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้ 2 องศาเซลเซียส จำเป็นต้องลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 25% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050

 

ซึ่งทั้งสองเป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยความร่วมมือและความพยายามของทุกประเทศทั่วโลก 

 

ขณะที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ชี้ว่า การเปลี่ยนไปลงทุนด้านพลังงานสะอาดของทั่วโลก ยังสามารถทำให้โลกเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ได้ แม้ว่าหนทางจะค่อนข้างลำบาก เนื่องจากในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ รัฐบาลของทุกประเทศต่างทุ่มเทงบประมาณไปใช้เพื่อการรับมือการระบาดของโควิด และมีงบประมาณเพียง 2% หรือประมาณ 3.8 แสนล้านดอลลาร์ที่ถูกใช้เพื่อสนับสนุนโครงการด้านพลังงานสะอาด ซึ่งคิดเป็นเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของงบประมาณที่ IEA มองว่าจำเป็นในการมุ่งสู่ Net Zeo ในปี 2050

 

“หนทางนั้นคับแคบ แต่ยังสามารถประสบผลสำเร็จได้ หากเราลงมือทำในตอนนี้” ฟาทีห์ บิรอล กรรมการบริหารของ IEA กล่าว

 

ภาพ: Photo by David McNew / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising