×

ดัชนีโลกว่าด้วยช่องว่างระหว่างเพศ ปี 2022 โดย WEF ไทยอยู่ตรงไหนในประชาคมโลก

15.07.2022
  • LOADING...
Global Gender Gap Report 2022

จากรายงานดัชนีโลกว่าด้วยช่องว่างระหว่างเพศ ปี 2022 โดย World Economic Forum: WEF ฉบับล่าสุด ที่สำรวจและจัดอันดับเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างเพศ 146 ประเทศทั่วโลก ในมิติของ 4 เสาหลักอย่างการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและโอกาสทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล รวมถึงการได้รับแรงกระตุ้นให้มีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจากรายงานปีนี้ ดัชนีโลกว่าด้วยช่องว่างระหว่างเพศมีช่องว่างลดลง 68.1% โดยคาดการณ์ว่า อาจต้องใช้ระยะเวลาอีก 132 ปี ช่องว่างดังกล่าวจะหายไป และได้รับการแทนที่ด้วยความเท่าเทียมกันระหว่างเพศอย่างแท้จริง 

 

สำหรับระดับการประเมินและจัดอันดับนั้น ดัชนีจะอยู่ระหว่าง 0-1 โดยประเทศใดที่มีค่าดัชนีเข้าใกล้ 1 มากที่สุด หมายความว่าประเทศนั้นเข้าใกล้ความเท่าเทียมกันทางเพศมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยในปีนี้ ‘ไอซ์แลนด์’ เป็นประเทศที่มีดัชนีในภาพรวมมากที่สุด (0.908) นับเป็นประเทศที่มีคะแนนความเท่าเทียมระหว่างเพศสูงที่สุดจากการจัดอันดับในปีนี้ อีกทั้งในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองก็ถือว่าทำผลงานได้ดี ไอซ์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้หญิงก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา 

 

ตามมาด้วยฟินแลนด์ (0.860), นอร์เวย์ (0.845), นิวซีแลนด์ (0.841) และสวีเดน (0.822) รั้งอันดับที่ 2-5 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ขณะที่ประเทศในแอฟริกาอย่างรวันดา ก็ได้รับการจัดอันดับให้อยู่อันดับที่ 6 ในปีนี้ (0.811) ซึ่งเป็นประเทศที่ติด Top 10 เป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2014 มีดัชนีที่โดดเด่นในมิติของการเข้าถึงการศึกษา รวมถึงบริการสาธารณสุข อีกทั้งในมิติของการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและโอกาสทางเศรษฐกิจถือว่าทำผลงานได้ดี โดยรวันดาเป็น 1 ใน 3 ประเทศแถบแอฟริกา (ร่วมกับเซียร์ราลีโอนและบุรุนดี) ที่แรงงานที่ขึ้นทะเบียนมีความเท่าเทียมทางเพศมากยิ่งขึ้น ได้รับสิทธิและสวัสดิการโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ 

 

ขยับกลับมาที่ย่านอาเซียน ฟิลิปปินส์รั้งอันดับที่ 19 (0.783) ในรายงานครั้งนี้ รั้งอันดับ 1 ของอาเซียน ตามมาด้วยสิงคโปร์ (0.734), สปป.ลาว (0.733), ติมอร์-เลสเต (0.730) และไทยที่รั้งอันดับที่ 79 จาก 146 ประเทศทั่วโลก มีดัชอยู่ที่ 0.709 ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ -0.001 มีผลงานในมิติของการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอยู่อันดับที่ 15 (0.795) ส่วนมิติของการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอยู่อันดับที่ 37 (0.978) ขณะที่มิติของการเข้ารับการศึกษาอยู่อันดับที่ 92 (0.979) และมิติของการให้อำนาจ มีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมทางการเมือง รั้งอันดับที่ 130 (0.084) 

 

ส่วนอัฟกานิสถานรั้งอันดับสุดท้ายในการจัดอันดับครั้งนี้ (อันดับที่ 146) มีดัชนีโลกว่าด้วยช่องว่างระหว่างเพศอยู่ที่ 0.435 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ช่องว่างระหว่างเพศจะยิ่งกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่กลุ่มตาลีบันกลับเข้ามากุมอำนาจนำในการบริหารประเทศอีกครั้ง นำไปสู่การจำกัดสิทธิและพื้นที่ต่อเด็กหญิงและผู้หญิงในสังคมอัฟกันอีกครั้ง หลังสหรัฐอเมริกาตัดสินใจถอนทหารและเปิดโอกาสให้กลุ่มตาลีบันโค่นล้มรัฐบาลลงได้ในที่สุด

 

เผยแพร่: วันที่ 15 กรกฎาคม 2022

 

Gender Gap Report 2022

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising