แผนปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีกว่า 1.33 ล้านลูกบาศก์เมตร จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ของรัฐบาลญี่ปุ่น ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ที่แม้จะผ่านการบำบัดและได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั้งชาวญี่ปุ่นและประชาชนหลายประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น จีน เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ แสดงความกังวลและประท้วงคัดค้าน เนื่องจากไม่มั่นใจว่าน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจนสารกัมมันตรังสีเหลือน้อยนิดตามที่ญี่ปุ่นกล่าวอ้าง จะปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทางทะเล
โดยชาวประมงญี่ปุ่นไม่น้อยหวั่นวิตกว่าความพยายามฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงและสร้างความมั่นใจแก่สินค้าประมงที่มาจากแถบจังหวัดฟุกุชิมะ ภายหลังเผชิญภัยพิบัติสารกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อันเนื่องจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 อาจสูญเปล่าจากแผนปล่อยน้ำเสียดังกล่าว
ขณะที่จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ยังไม่เชื่อมั่นและเดินหน้าแบนสินค้าจากฟุกุชิมะและหลายจังหวัดของญี่ปุ่นต่อไป
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบททดสอบสำคัญ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องสร้างความชัดเจนด้านความปลอดภัย และให้คำตอบที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมถึงจำเป็นต้องปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงทะเล และไม่มีแผนหรือแนวทางอื่นแล้วหรือ ที่จะปลอดภัยและให้ความมั่นใจได้มากกว่านี้