วิกฤตผู้ลี้ภัยมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา รายงานล่าสุดของ UNHCR ระบุว่า ในปี 2022 จำนวนผู้ถูกบังคับให้จำต้องจากถิ่นที่อยู่อาศัยหรือแผ่นดินบ้านเกิดของตนเองสูงถึง 108.4 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 19 ล้านคน จากตัวเลขเมื่อปี 2021
พลเมืองโลกเหล่านี้ถูกผลักไสจากแรงขับของสงคราม ความขัดแย้ง การประหัตประหาร การใช้ความรุนแรง หรือแม้แต่พิษจากวิกฤตเศรษฐกิจและความยากจน
โดยจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกราว 52% ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมากมาจาก 3 ประเทศที่เผชิญวิกฤตการณ์นี้อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น ‘ซีเรีย’ ที่มีสงครามกลางเมืองรุมเร้ามานานกว่า 12 ปี, ‘ยูเครน’ ที่กำลังเผชิญหน้ากับการรุกรานของเพื่อนบ้านอย่างรัสเซีย และวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนใน ‘อัฟกานิสถาน’ ภายหลังจากการกลับขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาลตาลีบันตั้งแต่ปี 2021
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในย่านอาเซียนของไทยอย่างเมียนมาก็มีผู้อพยพลี้ภัยหนีจากการประหัตประหารของกองทัพเมียนมาที่ก่อรัฐประหารเมื่อช่วงต้นปี 2021 ส่งผลให้ตัวเลขผู้ถูกบังคับให้อพยพลี้ภัยจากเมียนมาสูงกว่า 1.25 ล้านคนแล้ว
นับเป็นความท้าทายด้านการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตของบรรดารัฐชาติในประชาคมโลกว่า จะร่วมมือกันบรรเทาและแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ให้ทุเลาลงได้อย่างไร