เศรษฐกิจโลก อาจได้รับความเสียหายราว 2.61 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 3% ของ GDP โลก หากนานาประเทศร่วมกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับจีน ในกรณีที่จีนรุกโจมตีไต้หวันหรือทำให้ไต้หวันตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน
กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนและกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับผลกระทบของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของฝั่งตะวันตกที่อาจเกิดขึ้นกับจีน ในกรณีที่จีนบุกรุกไต้หวันหรือก่อเหตุให้ไต้หวันตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งรายงานด้านผลกระทบนี้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐสภาจีนเกิดความกังวลใจ
รายงานนี้จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับจีนบ้าง หากสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ร่วมกันกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อจีน เพื่อลดอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับที่ประเทศพันธมิตรชาติตะวันตกได้ร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซียจากการก่อเหตุเข้ารุกรานยูเครน
“หากสหรัฐฯ และพันธมิตร เคลื่อนไหวไปสู่การคว่ำบาตร เศรษฐกิจจีนจะกลับไปสู่เป้าหมายเดิมที่วางแผนไว้ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบปิด” รายงานระบุ
ทั้งนี้ สิ่งที่สมาชิกรัฐสภาจีนกังวลมากที่สุดคือความเสี่ยง (ด้านสูง) ที่จีนจะเผชิญกับวิกฤตด้านอาหาร ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนระดับชาติของจีน
เนื่องจากว่าหากการส่งออกและนำเข้าของจีนหยุดชะงัก เพราะถูกคว่ำบาตรจากประเทศพันธมิตรชาติตะวันตก รายได้ของจีนจากต่างประเทศจะหายไป และการนำเข้าสินค้าสำคัญจะชะงักงัน
โดยสินค้านำเข้าสำคัญของจีนคือถั่วเหลือง ซึ่งหากเกิดการคว่ำบาตรทางการค้าและเศรษฐกิจจริง ก็จะส่งผลกระทบต่อจุดอ่อนของประเทศจีนโดยตรง เพราะปัจจุบันจีนต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ สูงถึง 30% แม้จีนจะขึ้นชื่อว่าเป็นมหาอำนาจทางการเกษตรในสายตาคนทั้งโลก แต่ความจริงคือจีนสามารถผลิตถั่วเหลืองได้น้อยกว่า 20%
ทั้งนี้ สำหรับจีนแล้วถั่วเหลืองไม่เพียงแต่ใช้ในการผลิตน้ำมันเพื่อการบริโภค ซึ่งจำเป็นสำหรับการปรุงอาหารเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นอาหารในการเลี้ยงหมูอีกด้วย โดยประเทศจีนมีอัตราการบริโภคเนื้อหมูคิดเป็น 60% ของตลาดเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค
หากวัตถุดิบหลักอย่างถั่วเหลืองถูกกีดกันการนำเข้า ประชากรชาวจีน 1.4 พันล้านคนจะเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนอาหารทันที
สืบเนื่องจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมทุกอย่างในประเทศ ตั้งแต่การเมืองภายในประเทศไปจนถึงการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ ทำให้จีนกำลังลังเลว่าจะเร่งรวมไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ เพื่อเชิดชูเป็นความสำเร็จทางการเมืองหรือไม่
ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ เองก็ไม่จำเป็นต้องดำรงความมั่นคงในนโยบายของตนที่มีต่อจีน โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ส.ว. โรเบิร์ต เมเนนเดซ พรรคเดโมเครต ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภา และ ส.ว. ลินด์ซีย์ เกรแฮม จากพรรครีพับลิกัน ได้ร่วมเสนอร่างกฎหมายเพื่อคว่ำบาตรจีนในกรณีเข้ารุกรานไต้หวันหรือทำให้ไต้หวันตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน
เมเนนเดซระบุในถ้อยแถลงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปถึงจีนว่า ห้ามก่อเหตุผิดพลาดกับไต้หวันในแบบเดียวกับที่รัสเซียกระทำต่อยูเครน
ร่างกฎหมายดังกล่าวรวมถึงการแนะนำมาตรการต่างๆ อาทิ การกีดกันจีนออกจากเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเป็นเพราะสหรัฐฯ เองก็ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากหากต้องคว่ำบาตรจีนจริงๆ
ทั้งนี้ Nikkei ใช้ฐานข้อมูลการค้ามูลค่าเพิ่ม (TiVA) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development) ประเมินจำนวนความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น หากการค้าระหว่างจีนและประเทศสำคัญๆ หยุดชะงัก
โดยจากข้อมูลดังกล่าวประเมินได้ว่า มูลค่าของเศรษฐกิจโลกจะหายไปราว 2.61 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 3% ของ GDP โลก ทั้งนี้ ประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่ารัสเซียถึง 10 เท่า ขณะเดียวกันจีนยังมีมูลค่าการค้ารวมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
จากการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลในปี 2018 หากการส่งออกของจีนไปยังญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป กลายเป็นเรื่องต้องห้าม จะมีแรงกดดันให้เศรษฐกิจจีนลดลงมูลค่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่า 7.6% ของ GDP จีนจะหายไป
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าสหรัฐฯ และยุโรป หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP
และหากการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังจีนถูกระงับ ขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวลง 1,900 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.7% ของ GDP ในมิติเดียวกัน GDP ของยุโรปจะลดลง 2.1% ในขณะที่สหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ 1.3%
นอกจากนี้หากการค้าระหว่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป ที่มีต่อจีนหยุดชะงัก มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจราว 1.91 ล้านล้านดอลลาร์จะหายไปทันที ซึ่งเท่ากับ 2.2% ของ GDP โลก
ส่วนในกรณีที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับ 38 ประเทศสมาชิก OECD ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะมีขนาดใหญ่กว่านี้มาก
ทั้งนี้ จากวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น กดดันให้การค้าโลกหดตัว 8% โดยคิดเป็น 2% ของ GDP โลก แม้ว่าจะไม่สามารถเปรียบเทียบความสูญเสียกันได้โดยตรง แต่หากจีนรุกรานไต้หวัน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาอย่างร้ายแรงขึ้นก็เป็นได้
โดยรายงานสรุปไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศ บริษัทเอกชน หรือตัวบุคคลทั่วไป ล้วนเชื่อมโยงกับประเทศจีนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือยุค Great China ที่แท้จริง
ดังนั้นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีนจึงเป็นดาบสองคม ยามเกิดอันตรายขึ้น ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องดึงดาบมาป้องกันตัว แต่หากทำไม่สำเร็จ ทั้งโลกก็จะต้องเผชิญกับวิกฤตอีกนับไม่ถ้วน
อ้างอิง: