นักดาราศาสตร์ยืนยันค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ มีขนาดใกล้เคียงกับโลก และอาจมีชั้นบรรยากาศ ในระบบดาวที่ห่างไป 40 ปีแสงจากระบบสุริยะ
ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS เช่นเดียวกับกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน ทำให้นักดาราศาสตร์จาก 2 คณะวิจัยตรวจพบดาว Gliese 12 b ดาวเคราะห์หินขนาดใกล้เคียงโลก ใช้เวลาประมาณ 12.8 วันโคจรรอบดาวแคระแดง Gliese 12 ดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 1 ใน 4 ของดวงอาทิตย์
มาซายูกิ คุซุฮาระ หัวหน้าคณะวิจัย ระบุว่า “เราได้ค้นพบดาวเคราะห์อุณหภูมิเหมาะสม ขนาดคล้ายโลก ที่หาเจอด้วยวิธีการ Transit ดวงที่ใกล้โลกที่สุดในปัจจุบัน” โดยวิธีการ Transit เป็นหนึ่งในเทคนิคที่นักดาราศาสตร์ใช้ตรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ผ่านการดูแสงของดาวฤกษ์ที่หรี่ลงไป เมื่อมีดาวเคราะห์โคจรเคลื่อนผ่านหน้า
การตรวจพบดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลกในระยะห่างที่ไม่ไกลเกินไป ทำให้นักดาราศาสตร์สนใจศึกษาองค์ประกอบของบรรยากาศบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ทำให้ Gliese 12 b อาจได้รับการสำรวจเพิ่มเติมจากอุปกรณ์ Spectroscopy บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ในอนาคต
ไมเคิล แมคเอลเวน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์หนึ่งในทีมวิจัย อธิบายเหตุผลการศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ว่า “เพื่อทำความเข้าใจถึงความหลากหลายและวิวัฒนาการของชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์เหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันเรามีตัวอย่างดาวเคราะห์หินที่มีอุณหภูมิเหมาะสม และยังอยู่ใกล้โลกเพียงไม่กี่ดวงเท่านั้น”
หนึ่งในโมเดลแบบจำลองของดาว Gliese 12 b หากไม่มีบรรยากาศที่หนาแน่น พบว่าอาจมีอุณหภูมิบนพื้นผิวประมาณ 42 องศาเซลเซียส และการศึกษาองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้ อาจให้ข้อมูลที่สำคัญถึงวิวัฒนาการบรรยากาศของโลกและดาวศุกร์ที่ชีวิตสามารถดำรงอยู่บนดาวดวงหนึ่งได้ ในขณะที่อีกดวงนั้นร้อนเสียจนหลอมตะกั่วได้
งานวิจัยจากการค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงใน The Astrophysical Journal Letters และ Monthly Notices of the Royal Astronomical Society เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ภาพ: NASA / JPL-Caltech / R. Hurt (Caltech-IPAC)
อ้างอิง: