ภายหลังการเปิดเผยเอกสารการสรุปการประชุมกรรมการวิชาการ 3 คณะ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เกี่ยวกับการหารือแนวทางจัดการวัคซีน Pfizer ล็อตแรก
ต่อมาสื่อมวลชนได้รับเอกสารดังกล่าวและเผยแพร่วานนี้ (4 กรกฎาคม) โดยหนึ่งในความเห็นในที่ประชุมระบุไว้ว่า การจัดสรรวัคซีน Pfizer ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เท่ากับยอมรับว่าวัคซีนของ Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน และการประชุมนั้นไม่ได้มีการกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์อยู่ในกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีน Pfizer
กระแส #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ จึงถูกดันขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
ล่าสุด แม้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงถึงบันทึกการประชุมว่าเป็นเพียงแค่ความเห็นไม่ใช่ข้อสรุป อีกทั้งเอกสารภายในนี้ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นเรื่องทางวิชาการ แต่ความร้อนระอุที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ก็ไม่ได้ถูกดับลง
THE STANDARD ได้รวบรวมปรากฏการณ์ #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ ไว้ดังนี้
หลุดเอกสารการประชุม บุคลากรทางการแพทย์ไม่ถูกจัดสรรให้ได้รับวัคซีน Pfizer เป็นกลุ่มแรก
- 30 มิถุนายน 2564 มีการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ที่กรมควบคุมโรค โดยมีวาระในการพิจาณาแนวทางการบริหารวัคซีน Pfizer ในประเทศไทย ที่จะเข้ามาในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ปี 2564 จำนวน 1.5 ล้านโดส
- ที่ประชุมลงความเห็นให้แนวทางการบริหารจัดการวัคซีน Pfizer แบ่งออกเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่
- กลุ่มบุคคลอายุ 12-18 ปี
- กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์
- บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
- ความเห็นของที่ประชุมที่ถูกลงบันทึกการประชุมไว้ในเวลาต่อมา พบว่า มีทั้งสนับสนุนและคัดค้านการฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นเข็มที่ 3 โดยมีหนึ่งในความคิดเห็นระบุไว้ว่า “ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า) แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”
- โดยมติของที่ประชุมเห็นชอบให้ฉีดวัคซีน Pfizer ที่ได้รับมาล็อตแรกแก่กลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มเสี่ยงก่อนเป็นอันดับแรก
#ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ ก้าวขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์
- 4 กรกฎาคม 2564 ได้มีสำนักข่าวบางแห่งนำเอกสารบันทึกการประชุมเฉพาะกิจดังกล่าวเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเนื้อหาภายในบันทึกได้สร้างความไม่พึงพอใจอย่างมากแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์บางส่วน
- 5 กรกฎาคม 2564 กระแส #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ ก้าวขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียร่วมกันเรียกร้องให้ฉีดวัคซีน Pfizer เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในการจัดการเรื่องวัคซีน
- รวมถึงมีการล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์การเภสัชกรรมนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA เช่น Pfizer และ Moderna อย่างเร่งด่วน ซึ่งในปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนร่วมลงชื่อแล้วกว่าหนึ่งแสนราย โดยภาคีบุคลากรสาธารณสุขและกลุ่มหมอไม่ทน สำหรับนำไปยื่นเข้าสู่สภา
“ในสงครามครั้งนี้ เราจะสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์อีกไม่ได้แล้ว ขอให้ผู้เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาเพิ่มเกราะอย่างดีให้กับนักรบเสื้อขาว”
- ต่อมาในวันเดียวกัน พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า สำหรับเป็น ‘เกราะป้องกันที่ดีที่สุด’ ของทหารอาสาสู้ศึกโควิด ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดและมีโอกาสได้รับเชื้อจากผู้ป่วยตลอดเวลา
- พล.อ.ต. นพ.อิทธพร ระบุอีกว่าต้องการเพิ่มวัคซีนคุณภาพสูงในกลุ่ม mRNA ที่จะป้องกันบุคลากรทางการแพทย์จากเชื้อกลายพันธุ์ที่จะระบาดในระยะต่อไป เพราะหากไม่มีกำลังจากพวกเขา ชีวิตของประชาชนจะต้องตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างหนัก
- ด้าน นพ.อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภาและอดีตนายกแพทยสภา ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกัน โดยเรียนไปถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้ความเห็นว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นผู้ที่มีความสำคัญสูงมากในขณะนี้และกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงสูงสุด หากคนสำคัญในภาวะวิกฤตติดเชื้อจะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น
บันทึกการประชุมเป็นแค่ความเห็น ไม่ใช่ข้อสรุป
- อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกความเห็นเกี่ยวกับเอกสารบันทึกการประชุมที่ถูกเผยแพร่ออกมาว่าเป็นเอกสารภายในที่ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องทางวิชาการและไม่มีผลอะไรหากยังไม่นำมาปฏิบัติ
- ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาชี้แจงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ไม่จริง เพราะผู้เขียนสรุปไม่ได้เป็นฝ่ายเลขาของคณะกรรมการการประชุม สังเกตได้จากเนื้อหาที่ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนของคณะฝ่ายเลขา เหมือนเอาสไลด์การประชุมไปปะติดเท่านั้นและไม่ควรเผยแพร่ต่อ รวมถึงได้กล่าวอีกว่า ในเวลาการประชุมกรรมการวิชาการที่มีคนหลากหลาย ความเห็นก็มีหลากหลายเช่นกัน และกรณีการบริหารจัดการฉีดวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสนั้นยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น
อ้างอิง: