ชุดตรวจรวดเร็ว (Rapid Test) มี 2 แบบ คือตรวจหาเชื้อ (Antigen) และตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) สำหรับการตรวจหาเชื้อจะต้องเก็บตัวอย่างด้วยวิธีแยงจมูกเหมือนการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ส่วนการตรวจหาแอนติบอดีจะต้องเจาะเลือดไปตรวจ
ชุดตรวจที่โรงพยาบาลนำมาใช้สำหรับการวินิจฉัยโรคโควิด คือการตรวจหาเชื้อแบบรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) เพราะ ‘การตรวจหาเชื้อ’ จะทำให้ตรวจพบในระยะที่มี ‘เชื้อปริมาณมากในร่างกาย’ ส่วนการตรวจหาแอนติบอดีจะตรวจพบในระยะที่เชื้อเริ่มมีปริมาณลดลงแล้ว
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ Rapid Antigen Test สำหรับการคัดกรองเบื้องต้น หากพบ ‘ผลบวก’ (แปลว่าพบเชื้อ) ควรได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง ซึ่งในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ แนะนำให้แยกโรคทันที เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
แต่สำหรับ ‘ผลลบ’ จะแปลผลได้ 2 แบบ คือไม่ติดเชื้อ หรือติดเชื้อแต่เชื้อยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะตรวจพบด้วยชุดตรวจรวดเร็ว หากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีประวัติเสี่ยงควรกักตัวเอง และตรวจซ้ำอีก 5-7 วัน หรือเมื่อมีอาการทางเดินหายใจ แต่ถ้ามีอาการตั้งแต่แรกควรตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR
ปัจจุบันในประเทศไทยมี Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ทั้งหมด 24 ผลิตภัณฑ์ แต่ในอนาคตน่าจะมีการขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยบุคคลทั่วไป (Home Use) อย่างในอังกฤษที่สามารถซื้อชุดตรวจรวดเร็วมาใช้เองที่บ้านได้
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง:
- ข้อเสนอการใช้ Rapid Antigen Test สำหรับสถานการณ์ที่มีการติดเชื้อในชุมชนวงกว้าง กระทรวงสาธารณสุข (8 กรกฎาคม 2564)
- Regular rapid lateral flow coronavirus (COVID-19) tests
- Antigen Rapid Test (ART) Self-Test Kits