พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับการบ้าน ‘เศรษฐา’ 3 ข้อเร่งด่วน พักหนี้ SMEs ยืนยันส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งมาตรการทางภาษีและการขยายจุดให้บริการชาร์จแบตเตอรี่สำหรับประชาชน รวมถึงสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมผลักดันภาคอุตสาหกรรมขึ้นมาเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่ทันทีใน 3 เดือนแรก ผ่านยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย
วันที่ 14 กันยายน พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังพบผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงอุตสาหกรรมว่า หลังการอภิปรายรัฐสภา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ฝากการบ้านถึงกระทรวงอุตสาหกรรมว่า แม้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ออกมาจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรง แต่นายกรัฐมนตรีก็ได้มอบหมายให้ดูแลเรื่องการพักหนี้ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ตลอดจนการเสริมศักยภาพและการสนับสนุน SMEs รายใหม่ รวมถึงได้มีการสอบถามเรื่องมาตรการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งก็อยู่ระหว่างสรุปร่วมกับคณะทำงานและกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาออกมาตรการยานยนต์ไฟฟ้า (แพ็กเกจ EV3.5) ให้ได้ภายในเร็วๆ นี้ ก่อนจะสิ้นสุดมาตรการสิ้นปี
“มีบางค่ายรถยนต์ไฟฟ้า EV เข้ามาพบ และได้หารือถึงแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว ซึ่งก็อยู่ระหว่างหารือเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในบางข้อบ้างตามความเหมาะสม” พิมพ์ภัทรากล่าว
นอกจากนี้ยังมีประเด็นยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ที่ได้มีการประกาศรายชื่อคณะกรรมการออกมานั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็พร้อมจะสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอแนวทางที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ส่องดีกรี 9 รัฐมนตรี ‘กระทรวงเศรษฐกิจ’ รัฐบาลเศรษฐา 1 ใครเป็นใคร มีฝีมือด้านใดกันบ้าง
- เปิดวิสัยทัศน์ ‘9 พรรคการเมืองไทย’ ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ควรแก้อะไร ไปต่อทางไหนดี?
- เปิดภาพฝันอุตสาหกรรมใหม่ของไทย หากก้าวไกลประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงสานต่อนโยบายเดิม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐาน การปรับวิถีการดำเนินงานเพื่อให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย One Stop Service รวมทั้งเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry)
เร่งเครื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 เดือนแรก
พิมพ์ภัทราย้ำว่า การเข้ารับตำแหน่งครั้งนี้พร้อมเป็นผู้นำขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลักในการยกระดับเศรษฐกิจทั้งในระยะเริ่มต้นและเร่งด่วน 3 เดือนแรกที่จะทำได้ทันที เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ให้เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่ ผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย
- อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
- อุตสาหกรรมชีวภาพ
- อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
- อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
- อุตสาหกรรมฮาลาล
นอกจากนี้ยังมุ่งขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษขยายไปสู่ 4 ภาคของประเทศ และสานต่อมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งมาตรการทางภาษีและการขยายจุดให้บริการชาร์จแบตเตอรี่สำหรับประชาชน
ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ขณะนี้การลงทุนคึกคัก มีหลายชาติอยากจะเข้ามาลงทุนในไทย จึงต้องขอความช่วยเหลือผ่านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมความพร้อม สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว
เปิดโปรไฟล์ ‘พิมพ์ภัทรา’
สำหรับประวัติของ พิมพ์ภัทรา เป็นบุตรสาวของ มาโนชญ์ วิชัยกุล อดีต สส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย เข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. นครศรีธรรมราช ในนามพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นเป็น สส. 3 สมัยของพรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ตัดสินใจย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ
การศึกษา
- จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
- ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผลงานเด่น
- เป็นแกนหลักในการประสานงานระหว่างท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานราชการระดับจังหวัด กรม และกระทรวง จนนำไปสู่การจัดสร้างโครงการประตูระบายน้ำ
- รับความเดือดร้อนจากประชาชน เข้าร่วมกับท้องที่ ท้องถิ่น และดำเนินการโดยเป็นแกนหลักในการผลักดัน จัดหางบประมาณ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองท่าเชี่ยว อำเภอสิชล
- เป็นผู้นำวิธีคิด ‘วาระเมืองสิชล’ สร้างวิธีคิดการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ด้วยการนำเอาความร่วมมือจากท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มาสังเคราะห์ปัญหาร่วมกัน นำไปสู่การจัดระเบียบตามสภาพปัญหา ความเร่งด่วน และนำไปสู่การจัดระเบียบการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว หรือที่รู้จักในชื่อ ‘วาระเมืองสิชล’