×

รู้จักโอมิครอนสายพันธุ์ XBB.1.5 รุนแรงแค่ไหน จะระบาดทั่วโลกหรือไม่

04.01.2023
  • LOADING...

ตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าติดตามการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นลูกหลานของโอมิครอนอีกทีอย่าง XBB.1.5 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดรวดเร็วมากจนน่าวิตกในสหรัฐอเมริกา 

 

รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า การแพร่ระบาดของ XBB.1.5 นั้นเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ โดยในช่วง 4 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา การระบาดของ XBB.1.5 ในกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นจากราว 4% สู่ระดับ 41% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ขณะที่ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศนั้น ยอดผู้ติดเชื้อใหม่จาก XBB.1.5 มีสัดส่วนสูงถึง 75% เลยทีเดียว จนนักวิทยาศาสตร์ต้องหันมาจับตาไวรัสชนิดดังกล่าว เพราะตลอดในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โลกของเราไม่เคยเจอโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดในอัตราที่รวดเร็วเช่นนี้

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า XBB.1.5 จะนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ไปทั่วโลกหรือไม่ THE STANDARD จึงขอรวบรวมข้อมูลของ XBB.1.5 เท่าที่เรารู้ในขณะนี้ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจ และรับมือกับมันอย่างเหมาะสม

 

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีชื่อว่าอะไร

 

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เรียกโอมิครอนลูกผสมชนิดนี้ว่า XBB.1.5 โดยข้อมูลจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ต้นตระกูลของมันคือโอมิครอน BA.2 โดยเป็นสายพันธุ์ลูกผสม (Recombinant) ระหว่างโอมิครอน 2 สายพันธุ์ คือ BJ.1 และ BM.1.1.1 ไวรัสชนิดนี้มีอัตราการแพร่ระบาดรวดเร็วมาก และเป็นสายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดสายพันธุ์หนึ่งในปัจจุบัน

 

ระบาดเร็วแค่ไหน

 

รายงานระบุว่า รัฐนิวยอร์กและรัฐคอนเนตทิคัตของสหรัฐฯ พบการระบาดของโอมิครอนลูกผสมนี้เป็นครั้งแรกของโลกในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022 และในช่วงสิ้นเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน ตัวเลขของผู้ป่วยใหม่ในสหรัฐฯ ที่ติดเชื้อดังกล่าวก็พุ่งขึ้นกว่า 2 เท่าในระยะเวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ จนในที่สุด ปัจจุบันสหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อใหม่จากสายพันธุ์ XBB.1.5 คิดเป็นสัดส่วนราว 41% จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วประเทศ ขณะที่ยอดการรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐนิวยอร์กได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า XBB.1.5 จะทำให้เกิดคลื่นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ในขณะที่มันกระจายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ บางคนประเมินว่า XBB.1.5 สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่า BQ.1.1 มากกว่า 2 เท่าตัว

 

เหตุใดจึงแพร่ระบาดรวดเร็วนัก

 

สาเหตุที่ทำให้ XBB.1.5 แพร่ระบาดรวดเร็วนั้น เนื่องจากมันมีวิวัฒนาการกลายพันธุ์จาก XBB.1 ในส่วนของโปรตีนหนาม 1 ตำแหน่งที่มีชื่อว่า ‘F486P’ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้แอนติบอดีจากวัคซีนหรือการติดเชื้อเดิมนั้นมีประสิทธิภาพในการดักจับเชื้อไวรัสได้ต่ำลง หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ XBB.1.5 หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ของปุ่มหนาม F486P ยังช่วยให้ไวรัสชนิดนี้สามารถยึดกับเซลล์ของร่างกายมนุษย์ได้แน่นมาก ทำให้ไวรัสแพร่เข้าสู่เซลล์ได้ดี แต่ข่าวดีคือการตรวจแบบ ATK และ PCR ยังใช้ตรวจ XBB.1.5 ได้ดีไม่แตกต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่น

 

อันตรายมากกว่าเดิมไหม

 

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า XBB.1.5 สามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าโควิดทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนี้ อีกทั้งยังสามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดีได้เก่งกว่าสายพันธุ์อื่นๆ จึงอาจเป็นอันตรายมากกว่าในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อที่อาจพุ่งสูง และเนื่องจากไวรัสแพร่เชื้อสู่ผู้คนได้มาก ก็ยิ่งมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพที่อันตราย หรือนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเมื่อเดือนตุลาคมว่า ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า XBB.1.5 จะก่อให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรงกว่าโอมิครอน XBB อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ต้องระวังเพราะตระกูล XBB มีความเสี่ยงก่อให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่น

 

พบในไทยหรือยัง

 

ข้อมูลจากศูนย์จีโนมฯ ณ วันที่ 3 มกราคมระบุว่า หากเช็กจากฐานข้อมูลโควิดโลกหรือจีเสส (GISAID) ยังไม่พบโอมิครอน XBB.1.5 ระบาดในประเทศไทย 

 

จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่หรือไม่

 

ประเด็นดังกล่าวยังตอบได้ไม่แน่ชัด แต่ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลและต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะหากย้อนกลับไปดูที่สถานการณ์ในสหรัฐฯ นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า XBB.1.5 มีส่วนทำให้ยอดการเข้าแอดมิตในโรงพยาบาลที่รัฐนิวยอร์กเพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาวซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะรวมตัวกันอยู่ในสถานที่ปิด 

 

ด้าน ราวิ กัปตา ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ แสดงความคิดเห็นว่า ส่วนตัวเขาคิดว่าคนยังไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไป เพราะสำหรับการติดเชื้อโควิดนั้น ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดคือ ‘ความรุนแรงของโรค’ แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า XBB.1.5 จะก่อให้เกิดอาการรุนแรงหนักกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่ถึงเช่นนั้น เขาก็แนะนำให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ตามระยะเวลาที่เหมาะสม และติดตามการอัปเดตคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอยู่เสมอ

 

นักวิทย์แนะนำอย่างไร

 

แซม วิลสัน ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ กล่าวว่า วัคซีนยังคงเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคขั้นรุนแรง นอกจากนี้ มาตรการป้องกันโควิดอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีก็สามารถช่วยป้องกันโรคได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดการสัมผัส การสวมหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิดและมีคนหนาแน่น และกักตัวเมื่อพบว่าตนเองป่วย ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันตัวเองจากโรคภัยแล้ว ยังช่วยลดแรงกดดันต่อภาคสาธารณสุขของประเทศด้วย

 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine ระบุว่า แม้ XBB จะสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่น แต่การศึกษาพบว่า คนที่ฉีดวัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent Vaccine) สามารถป้องกันโรคได้ดีกว่าคนที่ไม่ฉีด ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์จีโนมฯ ที่ระบุว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น mRNA รุ่นที่ 2 (สองสายพันธุ์ หรือ Bivalent Booster) จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อ XBB ได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นแรก (สายพันธุ์เดียว หรือ Monovalent Booster) จำนวน 2 เข็ม 

 

ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด (ชนิดเม็ด) รวมถึงยาเรมเดซิเวียร์ (ชนิดฉีด) ยังใช้ต้านโควิดทุกสายพันธุ์ได้ดี แม้จะมีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามแหลมก็ตาม และปัจจุบันยังไม่พบเชื้อดื้อยา 

 

แฟ้มภาพ: Pete Hansen Via Shutterstock

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X