อิสราเอลและปาเลสไตน์ สองชาติที่มีปมความขัดแย้งกันรุนแรงมานาน ท่ามกลางภาวะสงครามที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในวันนี้ ขณะเดียวกันทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อิสราเอลกลับสามารถพัฒนาประเทศจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ‘นวัตกรรมระดับโลก’ นอกจากจะสร้างบริษัทสตาร์ทอัพชั้นนำ และเป็นที่ตั้ง R&D ให้กับบริษัทข้ามชาติอย่าง Microsoft, Apple และ Google แล้ว ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันแห้งแล้ง ไร้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ก็ยังสามารถเปลี่ยนทะเลทรายและสร้างระบบน้ำหยด จนประสบความสำเร็จ เป็นโมเดลให้หลายประเทศนำไปพัฒนาการเกษตร รวมถึงประเทศไทยด้วย
ข้อมูลจาก Innovation in Israel ระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอิสราเอลสามารถพัฒนาด้านนวัตกรรม จนมีจำนวนบริษัทสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มากกว่า 2,000 แห่ง มีศูนย์ R&D ถึง 350 แห่ง
หนึ่งในนั้นอิสราเอลยังรองรับศูนย์ R&D ให้กับบริษัทระดับโลกอย่าง Microsoft, Apple และ Google อีกด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจอิสราเอลให้เป็นประเทศที่แห่งนวัตกรรมจนประสบความสำเร็จ และเขาย้ำมาโดยตลอดว่าจะไม่หยุดพัฒนา
โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าบริษัทระดับโลกอย่าง Intel เองก็ประสบความสำเร็จด้วยการพึ่งพานวัตกรรมจากอิสราเอล จาก 40 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน Intel บุกเบิกบริษัทด้วยการสร้างศูนย์ R&D ในต่างประเทศแห่งแรกในอิสราเอล กระทั่งในวันนี้ Intel เปิดห้องปฏิบัติการ IoT ในอิสราเอล ให้เป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพตามมาอีกมากมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดขุมทรัพย์ใหม่อุตสาหกรรมไทย ‘ซาอุดีอาระเบีย’ มีอะไรที่ไม่ใช่น้ำมัน ทำไมบิ๊กคอร์ปไทยจึงต้องปักหมุด
- กรณีศึกษา ‘Intel’ ย้ายฐานผลิตไปอิสราเอล สะเทือนถึงอุตสาหกรรมไทยแค่ไหน
- ภูมิธรรมสั่งทูตพาณิชย์อิสราเอลเกาะติดผลกระทบการค้าใกล้ชิด พร้อมช่วยเหลือนักธุรกิจไทย
แม้แต่ เอริก ชมิดต์ ผู้บริหาร Google ยังเคยเอ่ยปากชมอิสราเอลว่าเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญที่สุดของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ด้วยเศรษฐกิจของอิสราเอลที่มีความยืดหยุ่นและน่าทึ่ง ถึงแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ประเทศนี้ก็ยังมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยอัตราการเติบโตของ GDP นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก
อิสราเอลให้ความสำคัญกับ R&D
หากมองในแง่วิชาการ เนื่องจากอิสราเอลให้ความสำคัญกับการเปิดทางนักลงทุนให้ค้นคว้าวิจัย โดยวางสัดส่วนมูลค่าการลงทุนด้าน R&D ต่อ GDP ไว้มากถึง 4.3% ส่งผลให้อิสราเอลก้าวขึ้นมาสู่ผู้นำอันดับ 4 ของโลกด้านบุคลากรการวิจัยในที่สุด
“ที่สำคัญน่าสนใจว่าอิสราเอลมีจำนวนผู้จบการศึกษาปริญญาเอกสูงที่สุดในโลกอีกด้วย ดังนั้นด้วยบุคลากรและระบบนิเวศที่พร้อม จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอิสราเอลเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศนำไปต่อยอดวิจัยและพัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่ล้ำสมัย การเกษตร บริหารจัดการน้ำ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Fintech
‘Silicon Wadi’ โอเอซิสอิสราเอล
นอกจากนี้อิสราเอลยังมี Silicon Wadi ที่เต็มไปด้วยบริษัทด้านเทคโนโลยี โดยพื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมืองหลวงกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งจะคล้ายคลึงกับ Silicon Valley สหรัฐอเมริกา ดังนั้นย่านนี้จึงเปรียบเสมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเป็นโอเอซิสเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งที่มีผู้คนราว 4 แสนคนเท่านั้น
ปัจจุบันมีบริษัทด้านเทคโนโลยีจำนวนมากหลั่งไหลมายังพื้นที่นี้ รวมถึงมีบริษัทด้านเทคโนโลยีจากประเทศอิสราเอลเองเกิดขึ้นจำนวนมากเช่นกัน อย่างบริษัท Mirabilis ผู้สร้างโปรแกรมแชตในตำนานอย่าง ICQ ก็ถือกำเนิดขึ้นที่นี่ ส่งผลให้วันนี้อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีของอิสราเอลเติบโตขึ้น รวมถึงด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่นับว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน
จากอิสราเอลถึงไทย
สำหรับอิสราเอลในปัจจุบันมีประชากร 9 ล้านคน มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เครื่องจักร, อุปกรณ์ซอฟต์แวร์, เพชรเจียระไน, ผลิตภัณฑ์เกษตร และเสื้อผ้า ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญมีทั้งวัตถุดิบอาวุธยุทโธปกรณ์, เชื้อเพลิง, เพชร, เมล็ดข้าว และสินค้าอุปโภคบริโภค
โดยมีประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ จีน ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร
ขณะที่ไทยมีสินค้าที่ส่งไปยังอิสราเอลมากที่สุดคือ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ
นอกจากนี้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็มีโครงการการทูตนวัตกรรม Thailand-Israel R&D Cooperation Program ภายใต้ความร่วมมือกับ Israel Innovation Authority (IIA) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับบริษัทในประเทศอิสราเอล
รวมไปถึงด้านการเกษตร อย่างเช่น ในปี 2566 กระทรวงแรงงานมีโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรรัฐอิสราเอลจำนวน 6,500 คน ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) เงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชเกล หรือประมาณ 50,000 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) ซึ่งเป็นโครงการที่มีความร่วมมือกันมานานหลายปี
อ้างอิง: