×

รู้จัก ‘โอตะแห่งวงการโบราณคดี’ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไร

19.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นักโบราณคดีสมัครเล่นได้สร้างเพจและกลุ่มในเฟซบุ๊ก มีงานสำรวจที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้น บางแหล่งแม้แต่นักโบราณคดีก็อาจจะไม่รู้จัก 
  • คนกลุ่มนี้จะมีส่วนอย่างมากต่อกระบวนการ Decentralizing หรือลดอำนาจของศูนย์กลาง ซึ่งจะทำให้ความรู้ไม่เกิดการกระจุกตัวภายใต้ระบบรัฐราชการ และอาจนำไปสู่การหลีกหนีจากองค์ความรู้ด้านโบราณคดีชุดเดิมได้ในอนาคต 

เดิมทีหน้าที่และอำนาจในการสำรวจด้านโบราณคดีมักตกอยู่ในมือของนักโบราณคดีอาชีพ หมายถึงนักโบราณคดีที่ทำงานให้รัฐและผ่านการเรียนทางด้านนี้มาโดยตรง แต่ในรอบไม่กี่ปีมานี้ผมพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ชื่นชอบและทุ่มเทกับการสำรวจแหล่งโบราณคดีอย่างจริงจัง ชนิดที่เรียกได้ว่าพวกเขาคือ ‘โอตะ’ ในงานโบราณคดี คนเหล่านี้ล้วนไม่ได้ผ่านการเรียนด้านโบราณคดีมาโดยตรง ซึ่งสามารถนิยามได้ว่าเป็น ‘นักโบราณคดีสมัครเล่น’ (Amateur Archaeologist)

พวกเขาได้สร้างเพจและกลุ่มในเฟซบุ๊กกันมากมาย มีงานสำรวจที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้น บางแหล่งแม้แต่นักโบราณคดีก็อาจจะไม่รู้จัก คนพวกนี้เท่าที่ผมรู้จัก บางคนสำรวจมาแล้วไม่น้อยกว่า 500 แห่ง อาจเยอะกว่านักโบราณคดีอาชีพเสียอีก ซึ่งผมเห็นว่าคนกลุ่มนี้มีความน่าสนใจมาก นับตั้งแต่คำถามพื้นฐานที่สุดคืออะไรเป็นแรงบันดาลให้พวกเขาทุ่มเทให้กับการสำรวจมากมายถึงเพียงนี้ และคำถามในระดับใหญ่ขึ้นคือปรากฏการณ์นักโบราณคดีสมัครเล่นนี้กำลังบอกอะไรกับเรา ผมขอยกเรื่องราวของบุคคลที่ผมนิยามว่าเป็น ‘นักโบราณคดีสมัครเล่น’ ขึ้นมาสัก 4 คน ซึ่งเกณฑ์การเลือกก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากผมรู้จักเป็นการส่วนตัว และรู้สึกชื่นชมกับวิธีการทำงานของพวกเขา 

 

นักโบราณคดีสมัครเล่นแห่งลุ่มน้ำลพบุรีผู้มีแม่เป็นแรงบันดาลใจ 

คนเรามักมีบุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เราเป็นอะไรสักอย่างเสมอ นนท์-วรานนท์ มั่งคั่ง อายุ 37 ปี เป็นผู้รันเพจ ‘ตามรอยวัดเก่า ลุ่มน้ำลพบุรี’ เพจที่มีคนติดตาม 15,588 คน นนท์ไม่ได้เรียนทางด้านโบราณคดีมาเลย โดยเรียนจบ ปวส. แผนกก่อสร้างที่วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ทุกวันนี้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่คอนโทรลที่บริษัทแห่งหนึ่งในเขตสิงห์บุรี เมื่อเลิกงานหรือมีเวลาว่างก็จะไปสำรวจวัดร้าง โบราณสถาน และวัดปัจจุบันที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำลพบุรี โดยเฉพาะในเขตท่าวุ้ง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เรียกได้ว่าสำรวจจนพรุนหมดแล้ว

 

นนท์-วรานนท์ มั่งคั่ง ระหว่างสำรวจวัดกุฏิ ที่ตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง

 

ผมติดตามเพจของเขามานาน แต่ไม่เคยเจอตัวเป็นๆ จนกระทั่งต้องไปสำรวจวัดที่มีพระแบบอู่ทองในเขตลพบุรี ด้วยการช่วยเหลือจาก ว่าที่ร้อยตรี ปภาณ วงศ์รัตนาวิน อาจารย์แห่งวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ลพบุรี ทำให้ได้เจอกันที่วัดทองแท่งนิสยาราม จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาอย่างจริงจัง

 

นนท์เล่าว่าผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสนใจต่อการสำรวจแหล่งโบราณคดีคือแม่ แม่ของนนท์ทำงานเป็น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ทำให้ตั้งแต่เด็กเขาต้องติดตามไปยังที่ต่างๆ ซึ่งแม่ของเขาชอบไปเที่ยวตามวัดเก่าในเขตลพบุรีอยู่เสมอ ความรู้สึกชอบไปยังวัดเก่าจึงค่อยๆ ซึมซับในตัวเขาทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสได้อ่านหนังสือของ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) นักประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งสำนักพิมพ์เมืองโบราณผู้ล่วงลับไปแล้ว เรื่อง ห้าเดือนกลางซากอิฐซากปูนที่อยุธยา จึงทำให้เขารู้สึกหลงใหลในการสำรวจวัดร้างวัดเก่า และใช้เป็นแบบอย่างของการสำรวจแหล่งโบราณคดี

 

เท่าที่ติดตามเพจของเขามา ความรู้ที่นนท์เผยแพร่จะประกอบด้วยเนื้อหา 5 ส่วนหลักๆ คือภาพถ่ายของโบราณสถานนั้นๆ คำบรรยายเกี่ยวกับสิ่งที่เขาพบเห็น เช่น แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีซากเจดีย์กี่องค์ สภาพแวดล้อมเบื้องต้น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือคำบอกเล่าเกี่ยวกับโบราณสถานนั้น และคำสันนิษฐานเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง 

 

วัดทุกแห่ง โบราณสถานทุกแห่ง นอกจากถูกจัดเก็บไว้ในหัวของนนท์แล้ว เขายังได้จัดเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ในคอมพิวเตอร์อย่างเป็นระบบ และพร้อมจะเอื้อเฟื้อข้อมูลความรู้ให้กับผู้สนใจ ซึ่งนับเป็นเรื่องดี เพราะทำให้เรารู้จักแหล่งโบราณคดีเพิ่มมากขึ้น และไม่สามารถหาได้ทั่วไปทั้งจากข้อมูลในเว็บไซต์หรือในภาครัฐ ซึ่งยังมีปัญหามากกับการจัดการฐานข้อมูล  

 

นักสำรวจปราสาทหินแห่งอีสานผู้เผชิญปัญหาชาตินิยม

นักโบราณคดีสมัครเล่นผู้ที่สำรวจปราสาทหินมากที่สุดในอีสานเห็นจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ป๊อป-ภิรสิน ชินตู้ ครูหนุ่มแห่งโรงเรียนบ้านเดื่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เขาจบครุศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งทุกวันนี้นอกจากวิชาสังคมแล้วยังต้องสอนวิชาอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นสถานการณ์โดยทั่วไปของครูในต่างจังหวัด 

 

ป๊อป-ภิรสิน ชินตู้ ระหว่างการสำรวจโบราณสถานในอีสาน

 

เมื่อผมถามถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ป๊อปสำรวจปราสาทหินและแหล่งที่อยู่อาศัยโบราณของวัฒนธรรมเขมรในอีสานเกือบพันแห่งนั้น ป๊อปได้เล่าเท้าความว่าโดยพื้นเพแล้วเขาเป็นคนมหาสารคาม มีอยู่วันหนึ่งต้องนั่งรถประจำทางไปหาผู้ปกครองที่สมุทรปราการ จึงผ่านกู่บ้านแดง ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้บูรณะ จึงเกิดความสงสัยว่าปราสาทหินกู่บ้านแดงนั้นมีความเป็นมาอย่างไร จึงเกิดแรงบันดาลใจที่ต้องการศึกษาโบราณสถาน พอโตมาสักหน่อยก็เป็นเหตุให้ต้องย้ายไปเรียนที่ชัยภูมิ ซึ่งเป็นบ้านของพ่อ ก็ได้พบกับปรางค์กู่ (ปราสาทแบบเขมรสมัยบายน) จึงเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมปราสาทหินแบบนี้จึงพบได้หลายที่ในอีสาน 

 

เมื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ราชภัฏนครราชสีมา ป๊อปได้มีโอกาสเรียนกับ ผศ.พิทักษ์ชัย จัตุชัย จึงทำให้มีความเข้าใจต่อความรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีในอีสานมากขึ้น และได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือว่าด้วยปราสาทเขมรในประเทศไทย (ป๊อปจำชื่อหนังสือไม่ได้) จึงได้เริ่มออกสำรวจปราสาทหินและแหล่งโบราณคดีตั้งแต่เรียนอยู่ปี 2 (ราวปี 2556-2557) แรกๆ ก็โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แล้วเริ่มรู้สึกว่ามันเยอะมาก ทำให้คิดว่าควรต้องเก็บให้เป็นระบบแยกเป็นการเฉพาะ จึงได้ตั้งเพจชื่อว่า ‘เที่ยวโบราณวัตถุโบราณสถานในประเทศไทย’ ผ่านไปได้ไม่เท่าไรก็เริ่มค้นพบตัวเองว่าหลงใหลในปราสาทหิน จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงชื่อเพจเป็น ‘ปราสาทหินถิ่นแดนไทย’ ซึ่งใช้มาจนถึงทุกวันนี้ และนอกจากป๊อปที่เป็นแอดมินเพจแล้ว ภายหลังยังมีเพื่อนของเขาอีกคนที่ช่วยเป็นแอดมินเพจคือ ตี๋-กิตติพงษ์ ก่อกำลัง

 

ตี๋-กิตติพงษ์ ก่อกำลัง หนึ่งในแอดมินเพจปราสาทหินถิ่นแดนไทย

 

จำนวนของปราสาทหินที่ป๊อปสำรวจนี้ไม่แน่ใจว่ามีมากเท่าไร เพียงแค่ในเขตนครราชสีมานั้นก็เกิน 70 แห่งเข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นการสำรวจในช่วงระหว่างที่เขาเรียนอยู่ที่นครราชสีมาหลายปี ระหว่างนั้นได้สำรวจยังจังหวัดข้างเคียงและในบ้านเกิดของเขา ประกอบด้วยมหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ ส่วนในเขตอีสานเหนือนั้นก็มีสำรวจบ้างประปราย และตั้งใจจะสำรวจให้มากขึ้นเร็วๆ นี้ 

 

แหล่งที่เขาสำรวจนั้นมีทั้งที่เคยมีการสำรวจกันไว้บ้างแล้ว และที่ค้นพบใหม่ก็อีกมาก ด้วยเหตุที่เพจของเขาเป็นที่รู้จักกันในหมู่ของคนที่สนใจด้านนี้ ทำให้บางครั้งคนในท้องถิ่นก็ส่งข้อมูลแหล่งต่างๆ มาให้ ซึ่งบางแห่งนั้นไม่มีในระบบฐานข้อมูลที่เผยแพร่ของกรมศิลปากร

 

เพจของป๊อปจะเป็นแรงกระตุ้นให้กับคนในท้องถิ่นต่างๆ หันกลับมาสนใจแหล่งโบราณคดีและปราสาทหินในพื้นที่บ้านของตนเองมากขึ้น ดังที่เขาเล่าให้ฟังในกรณีของปราสาทหินที่กู่บ้านงิ้ว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่เดิมทีมีคนเอาขยะไปทิ้งเพราะมองไม่เห็นคุณค่า เมื่อทราบข้อมูลจากเพจปราสาทหินถิ่นแดนไทยก็ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่านั่นคือปราสาทหินที่มีความสำคัญ จึงเกิดการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้สะอาดสะอ้านขึ้น 

 

แม้เพจของป๊อปจะเน้นการเผยแพร่ความรู้ด้านปราสาทหินด้วยความคิดที่ต้องการให้คนหันมาอนุรักษ์และเห็นคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรม แต่ปัญหาสำคัญที่ผมมักจะเห็นเสมอในเพจปราสาทหินถิ่นแดนไทยซึ่งป๊อปต้องเผชิญอยู่เสมอก็คือคอมเมนต์และคำพูดที่สะท้อนปัญหาชาตินิยมของคนไทย มีคนตีความไปว่าเจ้าของเพจนั้นคลั่งไคล้วัฒนธรรมเขมร มีใจเข้าข้างกัมพูชา หรือถ้าเขียนว่าเป็นปราสาทเขมรก็จะมีคนเข้ามาแย้งว่าเป็นปราสาทขอม เพราะเขมรไม่เท่ากับขอม บางครั้งก็ต้องเจอปัญหาที่คนเขมรมาเคลมปราสาทหินในไทยว่าเป็นของคนในกัมพูชาบ้างก็มี วิธีแก้ปัญหาของเขาก็คือการพยายามตอบอย่างสุภาพว่าเพจตั้งใจแค่เผยแพร่ความรู้สู่สายตาคนทั่วไปเพื่อให้เกิดความคิดเรื่องการอนุรักษ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาตินิยมแต่อย่างใด หรือบ้างก็ไม่ตอบเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาไป 

 

เมื่อถามถึงจำนวนแหล่งที่ป๊อปสำรวจแล้ว ซึ่งเขาบอกว่าน่าจะสำรวจเกิน 1,000 แหล่ง มีทั้งปราสาทหินและโบราณสถานในกลุ่มวัฒนธรรมลาว-ไทย ทำให้นึกถึงทุนรอนที่ใช้สำรวจ ผมจึงถามเขาว่าเอาทุนมาจากไหน ป๊อปตอบเพียงว่าการสำรวจตั้งแต่ปี 2556 นั้นใช้ทุนส่วนตัวล้วนๆ เท่าที่รู้ป๊อปไม่ได้เป็นคนร่ำรวย ยิ่งเป็นครูด้วยแล้ว คงไม่ต้องพูดถึงเงินเดือนกัน ทุกวันนี้ทำด้วยใจรัก เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ใจ มีบ้างที่มีคนที่ติดตามเพจหลังไมค์มาว่าอยากให้เงินเพื่อเป็นทุนสำรวจ เพราะในเมื่อเขาสำรวจเองไม่ได้ แต่ก็อยากเห็นปราสาทหิน จึงยินดีที่จะให้เงิน 

 

ความฝันของป๊อปในตอนนี้คืออยากจะเดินทางไปสำรวจปราสาทหินในกัมพูชาสักครั้งเพื่อให้เข้าใจปราสาทหินอย่างแท้จริง ผมจึงถามป๊อปว่าหากมีใครจะบริจาคเงินให้เพื่อไปสำรวจทั้งในไทยและกัมพูชาจะยินดีรับไหม ป๊อปตอบว่ายินดีรับ เพราะหากมีทุนมากขึ้นก็จะสำรวจได้มากขึ้น ซึ่งเขามองว่าเป็นหนทางหนึ่งของการอนุรักษ์โบราณสถานให้เป็นประโยชน์ต่อคนในชาติ

 

อดเป็นนักโบราณคดีเพราะครูแนะแนว 

บางครั้งคนเราต้องเก็บความฝันไว้และทำมันเมื่อโอกาสมาถึง อ๊อด-ปัญชลิต โชติกเสถียร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยามไทโย ฟาร์ม จำกัด ผู้เป็นแอดมินหลักของเพจกลุ่ม ‘ชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ’ ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มเกือบ 6,000 คน ได้เล่าว่านับตั้งแต่เด็กชอบประวัติศาสตร์โบราณคดีมาก สังเกตได้จากในช่วงเป็นนักเรียนที่มักได้คะแนนท็อปในวิชาสังคมศึกษาอยู่เสมอ โดยในวัยเด็กนั้นเรียนที่สุพรรณบุรี 

 

อ๊อด-ปัญชลิต โชติกเสถียร (ขวา) ระหว่างสอบถามข้อมูลจากพระที่วัดใหม่สุวรรณภูมิ

 

แต่พอมัธยมได้มาเรียนที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในสายวิทย์ เมื่อต้องเอ็นทรานซ์ อ๊อดเลือกคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอันดับที่ 1 แต่อาจารย์แนะแนวขอดูใบสมัคร เมื่อเห็นอ๊อดเลือกคณะโบราณคดีจึงลบ แล้วแนะนำให้เลือกคณะยอดนิยมในเวลานั้นคือวิศวกรรมศาสตร์ จึงทำให้ไปติดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียนไปได้สักปีแล้วรู้สึกว่าเป็นอิสระเกินไปควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงสอบใหม่และได้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน โดยเรียนทางด้าน Electronic Data Processing หรือก็คือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในสมัยนี้ แต่ในระหว่างที่เรียนนั้นก็ตามอ่านและสนใจหนังสือและบทความต่างๆ ที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณและศิลปวัฒนธรรมของมติชนมาตลอด เรียกได้ว่าอาจจะอ่านมากกว่าสิ่งที่เรียนอยู่

 

พอเรียนจบ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หันมาเปิดร้านหนังสือเองชื่อว่า @Books ในช่วงนั้นเองที่สั่งหนังสือด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีมามากมาย ทำให้ได้อ่านหนังสือด้านนี้ทุกๆ เล่ม แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจ โดยเฉพาะการเกิดร้านหนังสือ เช่น B2S ทำให้ไม่สามารถสู้กับร้านพวกนี้ได้ จึงปิดร้านหนังสือของตนเองไปในที่สุด 

 

ก่อนที่เขาจะจัดตั้งชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณนั้น ได้เคยเข้าร่วมกับกลุ่มหนึ่งที่โพสต์เรื่องราวต่างๆ ในเฟซบุ๊ก อ๊อดมักเข้าไปคอมเมนต์และให้ความเห็นต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็ขัดกับความเชื่อของคนสุพรรณ บ่อยครั้งมักจะถูกบูลลี่หรือต่อว่า จึงทำให้คิดว่าตัวเองควรจะต้องตั้งเพจขึ้นมาเอง ประกอบกับว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งได้ฟังบรรยายเกี่ยวกับวัดราชบูรณะ ด้วยความสงสัยของตนเองจึงได้ไปสอบถามจากอาจารย์ท่านหนึ่ง และมีคำพูดสวนกลับมาที่กระแทกใจเขาคือ “คนสุพรรณรู้เรื่องอยุธยามากกว่าบ้านตัวเอง” จุดนี้เองที่ทำให้คิดต่อว่าควรทำอะไรสักอย่างที่จะต้องรู้เรื่องเมืองสุพรรณในมุมมองและหลักฐานของสุพรรณเอง แต่อ๊อดพูดชัดว่าการรู้เรื่องสุพรรณนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีลักษณะเป็นท้องถิ่นนิยม เพราะเขาเคยเผชิญกับปัญหานี้มาจากเพจที่เคยเข้าร่วม ดังนั้นเพจชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณนั้นจะเป็นการพูดคุยกันด้วยหลักฐานและเป็นการปรับทัศนะด้วยความรู้ใหม่ ดังนั้นเพจของชมรมนี้จึงมีหลักการว่า หนึ่ง ไม่ยึดติดกับความเชื่อหรือความรู้เดิมๆ เพราะประวัติศาสตร์ล้วนแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีการค้นพบหลักฐานใหม่เสมอๆ สอง ไม่นำความเชื่อส่วนตัวทั้งในด้านการเมืองการศาสนามาเป็นกรอบจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็นต่างของผู้อื่น และยังมีกฎข้ออื่นๆ อีกด้วย 

 

เพจนี้ก่อตั้งมาได้ 3 ปี จากเดิมแค่เพียงเป็นพื้นที่ของการสนทนาและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านโบราณคดีของเมืองสุพรรณ ก็ค่อยๆ ขยับมาสู่พื้นที่ออฟไลน์มากขึ้น เช่น การจัดทัศนศึกษา การออกไปสำรวจแหล่งโบราณคดีร่วมกัน การจัดเสวนาทั้งที่เป็นแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการช่วยเหลือชุมชนและวัดต่างๆ ที่ต้องการทำนิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์ของตนเอง ทั้งหมดนี้ในความคิดของผมถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่คนท้องถิ่นลุกขึ้นมาขยับขับเคลื่อนและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเอง โดยไม่ต้องให้หน่วยงานราชการมาเป็นตัวนำ  

 

สถาปัตย์คือภาษาสากล กับเพจ ‘คิดอย่าง’ 

จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของนักโบราณคดีคือการคืนสภาพหรือวิเคราะห์สภาพดั้งเดิมของโบราณสถานให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งภาษาของนักโบราณคดีจะเรียกว่า ‘Reconstruction’ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเทคนิค ทำให้นักโบราณคดีไม่ค่อยได้ทำอะไรให้เป็นภาพที่มองเห็นและเข้าใจได้ง่าย 

 

‘คิดอย่าง’ เป็นเพจที่มีจุดเด่นอยู่ที่การสันนิษฐานรูปแบบดั้งเดิมของโบราณสถาน หรือการอธิบายพัฒนาการของโบราณสถานออกมาเป็นภาพที่เข้าใจได้ง่ายผ่านวิธีการเขียนแบบ เพราะถือว่าเป็นภาษาสากลที่เข้าใจได้ง่าย คือแค่เพียงมองภาพก็สามารถเข้าใจได้

 

ติ๊ก-สุรเชษฐ์ แก้วสกุล อายุ 28 ปี แต่ความสามารถเกินอายุไปมาก ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ ซึ่งมีความสนใจทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรม เล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจต่อการศึกษาสถาปัตยกรรมไทยหรือสถาปัตยกรรมโบราณว่าเกิดขึ้นจากในช่วงปิดเทอมอาเซียนราว 6 เดือน อยากหาอะไรทำ จึงขอไปฝึกงานกับ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้มีโอกาสลงภาคสนามและทำโปรเจกต์ด้วยการรังวัดและศึกษาสถาปัตยกรรมในเขตลุ่มทะเลสาบสงขลา ทำให้ได้รับประสบการณ์ต่างๆ และมองสถาปัตยกรรมเป็นมากกว่าอาคารหรือโครงสร้างเพียงอย่างเดียว เพราะสถาปัตยกรรมสามารถบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนและประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย

 

ติ๊ก-สุรเชษฐ์ แก้วสกุล กำลังศึกษาโครงสร้างสถาปัตยกรรมของหลังคามัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ โดยอาศัยการวาดผ่านแท็บเล็ต เครื่องมือคู่ใจ

 

หลังจากฝึกงานจึงได้ทดลองศึกษาพระบรมธาตุไชยา ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของสุราษฎร์ธานี บ้านเกิดของตนเอง เพราะมีคนศึกษากันน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลยในแง่ของสถาปัตยกรรม อีกทั้งกรมศิลปากรก็ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องพัฒนาการให้คนภายนอกทราบมากนัก เขาใช้เวลากับวัดแห่งนี้เป็นเวลาร่วม 2 สัปดาห์ด้วยการวัดขนาดและวาดภาพสันนิษฐานในคอมพิวเตอร์ เมื่อเผยแพร่ออกไปก็ปรากฏว่าได้รับงบประมาณจากหน่วยงานรัฐมาก้อนหนึ่งเพื่อจัดทำเป็นหนังสือ จึงทำให้มีกำลังใจในการทำงานด้านนี้มากยิ่งขึ้น

 

ไม่นานนักจึงได้เกิดการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และพัฒนาเป็นเพจชื่อ ‘คิดอย่าง’ ซึ่งนอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและ Reconstruct สถาปัตยกรรมโบราณ และอยากนำเสนองานสถาปัตยกรรมที่ไม่แห้งแล้ง หากแต่ประกอบด้วยการให้ความสนใจต่อประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีฐานคิดด้วยว่าทุกวันนี้มีงานวิชาการออนไลน์กันมาก แต่ไม่มีการอ้างอิง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการให้เครดิตและเคารพต่อสิทธิทางปัญญาของคนอื่น เพจคิดอย่างจึงเน้นการลงข้อมูล การให้เครดิต และการอ้างอิงอย่างครบถ้วน อีกทั้งทางเพจซึ่งความจริงแล้วมีแอดมินหลายคนยังใช้เป็นพื้นที่ทดลองปล่อยของอีกด้วย 

 

โลกแห่งการอนุรักษ์กำลังเปลี่ยนไป

ปรากฏการณ์ของนักโบราณคดีสมัครเล่นที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าตัดประเด็นเรื่องการโหยหาอดีต (Nostalgia) ออกไปแล้ว กลุ่มบุคคลเหล่านี้คือการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของวงการด้านโบราณคดี เพราะจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมด้านการอนุรักษ์และกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นกลับมาเห็นคุณค่าของโบราณวัตถุ โบราณสถาน และประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น รวมถึงรองรับกับการเกิดขึ้นของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในอนาคตได้อีกด้วย 

 

มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสไปสำรวจกับชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ มีผู้สูงอายุบางคนบอกกับผู้เขียนว่าชมรมนี้ช่วยทำให้พวกเขาหันกลับมาสนใจท้องถิ่นมากขึ้น และมีส่วนต่อการสร้างความเข้มแข็งด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับชุมชน คนในอำเภอต่างๆ ท้องที่ต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และสลายความรู้สึกท้องถิ่นนิยมไปพร้อมกันด้วย เพราะไม่ยึดถือว่าข้อมูลของตนเองถูกต้องเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ที่สำคัญคือเรื่องราวในอดีตของสุพรรณบุรีได้ถูกอธิบายผ่านความรู้ภายในท้องถิ่น ไม่ใช่ผ่านแว่นของอยุธยาหรือกรุงเทพฯ เท่านั้น (ถ้าพูดกันในเชิงแนวคิดก็คือความสนใจต่อโบราณคดีของคนในท้องถิ่นนี้จะทำให้เกิดลักษณะของ ‘โบราณคดีอิสระ’ (Autonomous Archaeology / History) หมายถึงทำให้ท้องถิ่นมีตัวตน ไม่ใช่อยู่ภายใต้ร่มเงาของส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ อีกต่อไป)

 

ถ้ามองในแง่ของงานวิชาการด้านโบราณคดีแล้ว กลุ่มนักโบราณคดีสมัครเล่นเหล่านี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะมันคงเป็นไปไม่ได้ที่นักโบราณคดีรัฐจะมีเวลามากพอจะสำรวจแหล่งโบราณคดีได้ทั้งหมด และเลยลงไปถึงงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย นักโบราณคดีสมัครเล่นเหล่านี้มักพบแหล่งโบราณคดีใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ 

 

อย่างไรก็ดี มีเรื่องหนึ่งที่ต้องพึงระวังอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งอยากสื่อสารไปยังนักโบราณคดีสมัครเล่น เรื่องแรกคือไม่ควรเปิดเผยตำแหน่งที่ตั้ง (Location) ของแหล่งโบราณคดีที่แน่นอน เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีตามไปลักลอบขุดหาวัตถุ เรื่องที่สองคือไม่ควรขุดค้นโดยพลการหรือเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุที่พบ ขอให้ทำแค่เพียงถ่ายรูป และแจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรเพื่อมาดำเนินการเก็บข้อมูลต่อไป 

 

น่าสนใจว่าทิศทางของเพจหรือคนกลุ่มนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป หวังว่าสักวันหนึ่งในประเทศไทยจะมีกองทุนด้านโบราณคดีที่ส่งเสริมให้คนพวกนี้ได้ทำงานดังที่ใจรัก ไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิจัยในเชิงลึกแบบนักวิชาการอาชีพ แต่เป็นไปเพื่อการเก็บข้อมูลเบื้องต้น รวมถึงส่งเสริมเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ และให้คนในประเทศตระหนักถึงคุณค่าของโบราณวัตถุโบราณสถานมากขึ้น โดยเพจหรือคนกลุ่มนี้ทำหน้าที่ช่วยเผยแพร่ความรู้เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นชุดความรู้ในระบบการศึกษาหรือการท่องเที่ยว ที่สำคัญที่ผมมองคือนกลุ่มนี้จะมีส่วนอย่างมากต่อกระบวนการ Decentralizing หรือลดอำนาจของศูนย์กลาง ซึ่งจะทำให้ความรู้ไม่เกิดการกระจุกตัวภายใต้ระบบรัฐราชการ และอาจนำไปสู่การหลีกหนีจากองค์ความรู้ด้านโบราณคดีชุดเดิมได้ในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X