×

‘จอร์จ โซรอส’ ขยับพอร์ตลงทุนหุ้นรถ EV จุดพลุธีมเมกะเทรนด์ ‘พลังงานสะอาด’

03.04.2022
  • LOADING...
หุ้นรถ EV จอร์จ โซรอส

ฮือฮาอีกแล้ว เมื่อพ่อมดทางการเงิน ‘จอร์จ โซรอส’ ด้วยวัยกว่า 91 ปี ได้ขยับพอร์ตลงทุนเข้าซื้อหุ้น Rivian Automotive ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.5 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 30% ของพอร์ตที่มีมูลค่ารวม 6,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้พอร์ตลงทุนของ Soros Fund Management ที่เขาก่อตั้งและบริหารเอง มีน้ำหนักถือหุ้น Rivian สัดส่วนมากที่สุดทันที

 

โดยก่อนหน้าที่เขาจะรุกถือหุ้นรถ EV นั้น ได้เน้นลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีเป็นหลัก มีทั้งการถือหุ้นในกองทุน ‘Invesco QQQ Trust Series 1’ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด Nasdaq และยังมี Amezon.com Inc. และ Alphabet Inc. ต่อมาเขาได้ตัดขายทำกำไรลดน้ำหนักการถือหุ้นเทคโนโลยีในพอร์ตลงไป

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

ถือเป็นช่วงจังหวะที่เปลี่ยนผ่านสู่การลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับรถ EV ซึ่งหุ้นดังอีกตัวที่ จอร์จ โซรอส เข้าลงทุนก่อน Rivian นั่นคือเข้าลงทุนใน Tesla Motor ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกันที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องจนเกือบจะล้มละลาย ราคาหุ้น Tesla ร่วงจนน่าใจหาย แต่ในที่สุดก็ได้ จอร์จ โซรอส เข้ามาชุบชีวิต ด้วยการซื้อหุ้นกู้ Tesla Motor มูลค่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดเข้ามาเพิ่มน้ำหนักลงทุนรถ EV ของค่ายรถ Rivian

 

ตลาดรถ EV เติบโตก้าวกระโดด แรงส่งธีมพลังงานสะอาด

 

การรุกคืบธุรกิจรถ EV ของ จอร์จ โซรอส ทำให้ค่ายรถ Rivian ถูกจับตามองอย่างมาก เนื่องจากเป็นค่ายรถที่เน้นผลิตรถกระบะไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งส่งมอบได้กว่า 2.8 ล้านคัน เห็นแนวโน้มรายได้จะเข้ามามากขนาดไหน และถ้ามองตลาดผู้ใช้รถกระบะทั่วโลกที่มีความต้องการอยากเปลี่ยนมาใช้รถกระบะไฟฟ้าแทนรถกระบะที่ใช้น้ำมันดีเซล หลังจากที่ปัจจุบันเทรนด์ราคาน้ำมันกลับมาทะยานขึ้น ยิ่งเป็นตัวเร่งให้คนใช้รถน้ำมันที่กำลังอยากเปลี่ยนรถหันมาเปลี่ยนเป็นซื้อรถ EV แทน ซึ่งจะเห็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า

 

ประกอบกับแต่ละประเทศต่างเร่งแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการสนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะการใช้รถ EV และออกนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถ EV ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของการเติบโตยอดขายรถ EV และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่กำลังเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น

 

การเคลื่อนไหวปรับพอร์ตของ จอร์จ โซรอส ที่เพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นรถ EV ยิ่งตอกย้ำถึงเวลาของการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวกับ ‘พลังงานสะอาด’ หรือ Clean Energy แล้ว

 

พลังงานไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ปัจจุบันรัฐบาลประเทศต่างๆ ยังคงเดินหน้าออกมาตรการสิทธิประโยชน์ต่างๆ มาสนับสนุน โดยเฉพาะกระตุ้นให้ประชาชนใช้รถ EV

 

นำโดยประเทศสหรัฐฯ ที่กำหนดว่าภายในปี 2573 ยอดขายยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV ในประเทศ ต้องมีสัดส่วน 50% ของยอดขายทั้งหมด และภายในปี 2578 ยานพาหนะของภาครัฐทั้งหมดจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้า (ยกเว้นยานยนต์ทางการทหารและยานอวกาศ)

 

เช่นเดียวกัน สหภาพยุโรป หรือ EU ก็กำหนดห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ) ภายในปี 2573 และกำหนดให้รถยนต์ใหม่ที่ขายใน EU ต้องเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV ทั้งหมด 100% ภายในปี 2578

 

เข้าสู่โหมดใช้พลังงานสะอาดไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี

 

เรื่องของพลังงานสะอาดไม่ได้มีแค่เรื่องรถ EV เท่านั้น แต่ยังมีพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกอีกมากมายเกิดขึ้น ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมา เมกะเทรนด์ ‘พลังงานสะอาด’ เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลกอยู่แล้ว เนื่องจากประเทศต่างๆ ตระหนักดีว่าสภาวะโลกร้อนรุนแรงกำลังหนักขึ้นทุกๆ ปี อันเกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เป็นผลกระทบจากการใช้พลังงานฟอสซิล นำโดยน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพของคนทั้งโลกมาเป็นเวลาร้อยๆ ปี ส่งผลให้โลกมีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นทุกปี ในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนเป็นมลพิษสิ่งแวดล้อม ความร้อนสูงลอยขึ้นชั้นอากาศก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และกระทบต่ออุณหภูมิโลกที่เรียกว่าก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและฤดูกาลที่ผิดปกติ นำมาสู่การเกิดภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ในทุกวันนี้

 

ปัจจุบันมี 3 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดของโลก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ข้อมูลปี 2563 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันประมาณ 18,000 ล้านตัน หรือคิดเป็น 51.7% ของทั้งโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศประกาศแผนชัดเจนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว

 

หลังจากที่มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: COP26) เมื่อปลายปีที่แล้ว นานาประเทศได้ข้อสรุปร่วมกันคือ ประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิหรือก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาหนักในทุกวันนี้

 

กุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการเปลี่ยนมาใช้ ‘พลังงานสะอาด’ หรือ ‘พลังงานทดแทน’ ลดการเกิดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและอากาศ ในหลายๆ ประเทศได้มีการตอบรับและพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดมาโดยตลอด

 

โรดแมปสู่การใช้พลังงานสะอาด

 

มาดูโรดแมปของแต่ละประเทศกัน นำโดยมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามกลับไปในข้อตกลง Paris Agreement หลังจากถอนตัวออกไปภายใต้ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ในปี 2564 โดยมีแผนในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนดังนี้ ใช้พลังงานสะอาด 100% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ การคมนาคม และพลังงานให้สามารถที่จะรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ รวมทั้งให้การสนับสนุนประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

 

ประเทศจีนที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและยังอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และส่งออกสินค้าพลังงานสะอาดมากที่สุดในโลกอีกด้วย จีนมีการจัดสรรงบประมาณกว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุนด้านพลังงานสะอาดตั้งแต่ปี 2560-2563 และวางแผนจะใช้พลังงานสะอาดในสัดส่วน 35% ของการใช้ไฟฟ้าภายในปี 2573 สามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดระยะยาว ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี

 

กลุ่ม EU มีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2566 นำร่อง 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอะลูมิเนียม โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าในอุตสาหกรรมนี้ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย และจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนเป็นการทั่วไปทุกอุตสาหกรรมในปี 2569 และมาตรการห้ามจำหน่ายสินค้าบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastics: SUPs) ซึ่งเริ่มแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564

 

อินเดีย ประเทศที่มีอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนใหญ่เป็นอันดับ 4 ของทั้งโลก และมีแผนการที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายจะบรรลุกำลังการผลิตพลังงานสะอาด 175 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2565 และจะขยายเป็น 500 GW ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นแผนการเพิ่มกำลังผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดโลก มีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น 286% ในช่วงกว่า 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถผลิตได้มากกว่า 150 GW คิดเป็น 39% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ ประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น เยอรมนี เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยทั่วโลกเห็นพ้องกันว่าพลังงานสะอาดสามารถทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นพลังงานที่ได้จากธรรมชาติและสามารถผลิตใช้ได้อย่างไม่มีจำกัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นพลังงานแห่งอนาคตโดยแท้จริง

 

อุตสาหกรรมอื่นๆ เริ่มผลิตสินค้าที่ใช้พลังงานสะอาดแทนที่พลังงานในรูปแบบเดิม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) แผงโซลาร์เซลล์ที่มีราคาลดลงจนเข้าถึงได้ และหลายโรงงานใช้พลังงานลมหรือน้ำมาแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิม ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่ดีมาก

 

ถึงเวลาลงทุนพลังงานสะอาด รับผลตอบแทนโตยั่งยืน

 

นักลงทุนเริ่มมองเห็นโอกาสการเติบโตในเมกะเทรนด์พลังงานสะอาดที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผมจึงอยากพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับกองทุน iShares Global Clean Energy ETF (ICLN) ซึ่งเป็น Passive ETF ที่มีการลงทุนตามดัชนีอ้างอิง S&P Global Clean Energy Index ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดทั่วโลก ได้แก่ เชื้อเพลิงเอทานอล พลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพ พลังงานลม แผงโซลาร์เซลล์ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ เซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell

 

ล่าสุด (27 มีนาคม) ICLN มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ประมาณ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วง 3 เดือน ติดลบ 0.88% และผลตอบแทน 1 ปี ติดลบ 7.32% โดยหุ้นที่ลงทุนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ Enphase Energy Inc., Vestas Wind System A/S, Consolidated Edison Inc., SolarEdge Technologies Inc. และ Orsted A/S

 

หรือหากสนใจในธีมลิเทียมและแบตเตอรี่ (Lithium & Battery) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในโลกยุคเทคโนโลยี คงต้องลองศึกษากองทุน Global X Lithium & Battery Tech ETF (LIT) ดัชนีอ้างอิง Solactive Global Lithium Index เน้นลงทุนในบริษัท 20-40 แห่งที่เกี่ยวข้องกับการขุดและสำรวจลิเทียม หรือผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมทั่วโลกให้กับรถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ Energy Storage

 

กองทุน Global X Lithium & Battery Tech ETF มีขนาด AUM 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลตอบแทนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ติดลบ 10.38% และ 1 ปี บวก 29.75% ส่วนหุ้น 5 อันดับแรกที่ลงทุนมากที่สุด ได้แก่ Albemarle Corporation, Tesla Inc., TDK Corporation, Sociedad Quimica y Minera de Chile S.A. และ Contemporary Amperex Technology Co., Limited (ข้อมูล ณ 27 มีนาคม 2565)

 

จะเห็นได้ว่าธุรกิจพลังงานสะอาดเป็นเมกะเทรนด์ที่มีแนวโน้มใหญ่มากๆ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น มองยังไงๆ ก็เห็นแต่โอกาสเติบโตยาวๆ ไม่ต่ำกว่า 10-20 ปีข้างหน้าด้วย และที่สำคัญ ทิศทางการใช้พลังงานฟอสซิลที่มากกว่าศตวรรษที่ผ่านมามีแต่จะลดเหลือน้อยลงทุกที และยิ่งขาดแคลนจะยิ่งส่งผลให้ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบต่อราคาน้ำมันแพงหูฉี่ ยิ่งตอกย้ำภาพความไม่มั่นคงด้านพลังงานในอนาคตข้างหน้า

 

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเห็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดเร็วขึ้น แต่ละประเทศต่างปรับทัพจัดแผนรับมือเพื่อก้าวเข้าสู่โลกพลังงานสะอาด ถือเป็นพลังงานแห่งอนาคต หากใครเข้าลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีเร็วยิ่งขึ้น ดั่งเช่น จอร์จ โซรอส ที่ปรับพอร์ตเข้าลงทุนในธุรกิจรถ EV เพราะเห็นตลาดรถ EV และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตรถ EV โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมที่เป็นหัวใจของรถ EV ย่อมมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาวเป็นลูกโซ่ตามกัน

 

ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising