สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านจริยธรรมไปทั่ววงการวิทยาศาสตร์โลก หลังนายเหอ เจี้ยนกุ้ย ศาสตราจารย์ด้านพันธุกรรม ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำงานในห้องแล็บแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ได้ระบุว่า ตนเพิ่งได้ช่วยให้เด็กทารกฝาแฝดที่ผ่านการตัดแต่งยีนถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก
โดยฝาแฝดดังกล่าวเป็นเด็กผู้หญิงชื่อว่า ลูลู่และนาน่า ซึ่งทั้งคู่จะมียีนที่อาจจะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสการติดเชื้อ HIV ได้ในอนาคต นายเหออ้างว่า เขาได้ทำลายยีน CCR5 ขณะที่เด็กทารกยังเป็นอยู่ในระยะเอ็มบริโอ ซึ่งจะช่วยต้านทานเชื้อไวรัส HIV หากมีเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย
การตัดแต่งยีนดังกล่าวถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากรด้วยวิธีการดังกล่าวถูกสั่งแบนในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหราชอาณาจักร โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เป็นกังวลว่าการตัดแต่งยีนอาจไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเอ็มบริโอเท่านั้น อาจมีการส่งต่อพันธุกรรมบางอย่างที่ผิดปกติไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมทั่วโลกยังมองว่า การกระทำดังกล่าวผิดหลักศีลธรรมจริยธรรมที่นักวิทยาศาสตร์ที่ดีพึงมี ทางด้านนายแพทย์ดัสโก ไอลิค ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์จาก King’s College London อธิบายว่า ในปัจจุบันการรับมือกับเชื้อ HIV มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก เราสามารถควบคุมภาวะติดเชื้อได้โดยการใช้ยา ซึ่งแทบจะไม่มีอันตรายในกรณีที่พ่อแม่ที่ติดเชื้อตั้งครรภ์และกังวลกับการติดเชื้อในเด็ก
นายเหอระบุว่า งานของเขาเป็นการช่วยเหลือเด็กให้พ้นจากการทุกข์ทรมานจากโรคร้าย ไม่ได้รับจ้างตัดแต่งตาสีฟ้าหรือเพิ่มระดับไอคิวให้กับเด็กตามความต้องการของผู้เป็นพ่อและแม่บางประเภท
“ผมทราบดีว่างานของผมจะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมตามมา แต่ผมยังเชื่อว่ามีหลายครอบครัวที่ต้องการเทคโนโลยีนี้ในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งผมจะน้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพื่อพวกเขาเอง”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: