หลังจากที่มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่ตั้งตระหง่านอยู่แถวท่าเตียน เพิ่งจะปรับโฉมนิทรรศการถาวรของตัวเองไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในชื่อ ‘ถอดรหัสไทย’ ที่นำเสนอเรื่องราวแบบ ‘very thai’ ได้อย่างน่าสนใจในทุกๆ บริบท และล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มิวเซียมสยามก็ได้ฤกษ์เปิดตัวนิทรรศการหมุนเวียนเรื่องใหม่ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศขึ้นมาในชื่อ ‘ชายหญิงสิ่งสมมุติ’ (Gender Illumination) เพื่อให้สังคมไทยรับรู้ถึงการมีอยู่ของ ‘เพศอื่น’ นอกจากชาย และหญิง รวมถึง ‘เพศวิถีแบบอื่น’ ที่ไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงเพียงอย่างเดียว
ถึงแม้เราอาจเข้าใจว่าประเทศไทยของเรานั้นจะเปิดกว้างในเรื่องเพศก็ตามที แต่ก็ไม่ใช่ว่าความรู้และความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นจะถูกต้องไปเสียหมด ดังนั้นสิ่งที่นิทรรศการนี้ต้องการจะมุ่งเน้นก็เพื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศอื่นๆ ว่าจากอดีตถึงปัจจุบัน ประเทศไทยของเราก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ในเรื่องการเปิดกว้างเรื่องเพศ
นิทรรศการนี้ต้อนรับคุณด้วย ‘เขาวงกตแห่งเพศ’ (Gender Maze) เขาวงกตที่ปดปิดทางเข้าด้วยเชือกสีชมพูสด ขึงเป็นลักษณะรูปร่างมนุษย์นอนคว่ำ โดยจะมีทางเข้าให้คุณเลือกถึง 4 ช่อง ซึ่งแต่ละช่องก็จะพาคุณเข้าไปพบกับเรื่องราวที่แตกต่างกันเป็นการเริ่มต้นทำความเข้าใจกับภาพรวมของนิทรรศการนี้ โดยภายในเขาวงกตแห่งเพศนี้จะประกอบไปด้วยกระดานสีขาวตั้งเป็นทางบังคับให้เดินตาม และกระดานเหล่านั้นจะมีข้อความซึ่งหยิบจับมาจากถ้อยคำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอันเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น วิปริตผิดเพศ ช้างเท้าหลัง สุภาพบุรุษ สาวแตก ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อลองให้ผู้ชมได้ทลายกำแพงความคิดเกี่ยวกับ ‘คำ’ เหล่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศที่ซึมซับอยู่ในสังคมอย่างเข้มข้นมาช้านาน ทั้งเรื่องผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย ผู้ชายต้องเป็นสุภาพบุรุษ หรือการยึดติดกับเรื่องรุกรับของเกย์ เรื่องความสาวไม่สาวของเกย์
สิ่งที่เราปลาบปลื้มที่สุดสำหรับนิทรรศการส่วนในอาคารคือการจัดแสดงเรื่องราวในโซน ‘บันทึก-เพศ-สยาม’ กับการนำเสนอประวัติศาสตร์ของความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยที่น้อยคนนักจะรู้ตั้งแต่ในสมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงเรื่องราวของความหลากหลายทางเพศในยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทั้ง Gay Pride ครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อปี 2542 หรือเหตุการณ์ ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ การปะทะกันระหว่างประชาชนทั่วไปและกลุ่มความหลากหลายทางเพศที่ออกมาจัดกิจกรรมเกย์พาเหรดที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2552 อันล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกจดจำเป็นเหตุการณ์สำคัญในบ้านเรา หรือหากคุณคุ้นเคยกับคำว่า ‘อัดถั่วดำ’ อันหมายถึงพฤติกรรมทางเพศของเกย์ ที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมันกลายเป็นคำที่ใช้เหยียดเพศ ที่มาของคำคำนี้คืออะไร คุณต้องลองมาค้นพบด้วยตัวเอง
ก่อนที่นิทรรศการจะค่อยๆ พาคุณเข้าสู่เรื่องเพศในยุคร่วมสมัยอย่างการนำเสนอเรื่องราวของ ‘สื่อ’ ที่นำเสนอความหลากหลายทางเพศกันมาตั้งแต่ในยุค 80’s ถ้าคุณเคยคุ้นชื่อนิตยสารอย่าง Neon, มิถุนา, Midway หรือ Attitude ที่นี่ก็มีเล่มฉบับจริงให้ได้สัมผัสกันด้วย
ไฮไลต์สำคัญของนิทรรศการนี้อยู่ที่โซน ‘ฉากชีวิต’ บริเวณโถงกลางขนาดใหญ่หลากสีสัน ที่นี่คุณจะได้สัมผัสกับวัตถุที่มีคุณค่าต่อจิตใจของคนหลากหลายเพศกว่า 100 ชิ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังทั้งสวยงามและขมขื่น เพื่อเข้าใจตัวตนของความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้น อาทิ อุปกรณ์ป้องกัดมดลูกตีบตันของผู้ผ่าตัดแปลงเพศ หนังสือราชการที่ว่าด้วยการยื่นขอเข้ารับการสอบในมหาวิทยาลัยด้วยชุดของผู้ชายโดยคนข้ามเพศ ชุดคาบาเรต์ในความทรงจำ
หรือเรื่องเรียกน้ำตาให้เรารู้สึกขนลุกบางๆ อย่างการเขียนจดหมายเปิดตัวกับครอบครัว ซึ่งคุณอาจจะใช้เวลามากเสียหน่อยในห้องนี้ เพราะวัตถุแต่ละชิ้นต่างเรียกร้องความสนใจให้เราเข้าไปชื่นชมเรื่องราวของมันอย่างมาก ทั้งนี้วัตถุเหล่านี้ล้วนได้มาจากบุคคลในแวดวงต่างๆ ตั้งแต่ พอลลีน งามพริ้ง, เคท ครั้งพิบูลย์, ชัชชญา ฉัตรชุมสาย, การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์, รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น, คำ ผกา, ท๊อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หรือโอ๊ต มณเฑียร ฯลฯ
และห้องสุดท้าย คุณจะพบกับโซน ‘ตบแต่งตัวตน’ ที่แปลงสภาพนิทรรศการให้เป็นเสมือนหลังม่านนางโชว์ ที่จะมีเครื่องแต่งกายและวิกให้คุณได้ลองสวมบทบาทเป็นคนอื่นหรือเพศอื่นๆ เพื่อเข้าใจบทบาทของพวกเขา รวมไปถึงงานภาพที่สวยงามมากๆ ของ สุรชัย แสงสุวรรณ ช่างภาพแนวหน้าของเมืองไทยที่นำภาพแฟชั่นเซต ‘Draw Your Dream’ ที่ว่าด้วยเรื่องการร่วมสนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกันมาติดตั้งไว้ เพื่อทิ้งเชื้อความคิดไว้ให้คุณได้ทบทวนว่า ถึงแม้ตัวคุณจะเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือเพศไหนๆ แต่ถึงเวลาสมควรแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่องพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และให้โอกาสเพศอื่นๆ ได้ใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาต้องการ
เราแนะให้คุณเข้าไปสัมผัสเรื่องราวในอีกแง่มุมหนึ่งที่พร้อมจะให้คุณได้เรียนรู้และเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศที่ไม่ใช่แค่เรื่องของชายกับหญิงอีกต่อไปในนิทรรศการ ‘ชายหญิงสิ่งสมมุติ’
จัดแสดงภายในอาคารอเนกประสงค์ มิวเซียมสยาม เปิดให้ชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00-18.00 น. ตั้งแต่วันนี้-30 กันยายน 2561 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
Photo: อรัณย์ หนองพล และ Courtesy of Museum Siam
- สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทร. 0 2225 2777, www.museumsiam.org
- สามารถเดินทางโดย BTS สถานีสะพานตากสิน ต่อเรือด่วนเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าราชินีหรือท่าเตียน หรือรถขนส่งสาธารณะสาย 3, 6, 9, 12, 47, 53, 82, 524
- แผนที่: