CPN เผย เทรนด์การดื่มกาแฟเปลี่ยน จากอดีตเป็นวัยทำงาน แต่วันนี้ Gen Z ผันตัวมาเป็นคอกาแฟมากขึ้น และพร้อมควักเงินจ่ายหากได้รับประสบการณ์ที่ดี ผลักดันให้ตลาดกาแฟโตไม่หยุด โดยเฉพาะกลุ่มกาแฟพิเศษที่ราคาต่อเสิร์ฟสูงถึง 1,500 บาท
ขวัญแก้ว สิริจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานการส่งเสริมธุรกิจ ฝ่ายการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z หันมาดื่มกาแฟมากขึ้น จากเดิมที่เป็นแค่กลุ่มวัยทำงาน ทำให้มองเห็นโอกาสและการเติบโต จึงต่อยอดความสำเร็จของเทศกาลกาแฟที่ใหญ่ที่สุดใจกลางเมือง ผ่านการร่วมมือกับสมาคมกาแฟพิเศษไทยจัดงาน Thailand Coffee Hub ขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3
สิ่งที่น่าสนใจภายในงานเป็นศูนย์รวมของกาแฟจากทุกแหล่งปลูกทั่วไทย มีแบรนด์กาแฟ 300 ราย รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ใน Coffee Ecosystem ที่ตั้งใจมาสื่อสารประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคอกาแฟ และจะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยงานโรดโชว์ดังกล่าวจัดในพื้นที่เซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัล รวมถึงตามหัวเมืองหลักในต่างจังหวัด คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และยังช่วยเพิ่มทราฟฟิกภายในศูนย์การค้าได้ด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โดยเฉพาะเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีผู้ร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน โดยแบ่งเป็น นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40-50% และในเซ็นทรัลสาขาอื่นมีผู้ร่วมงานแต่ละครั้งราว 30,000-50,000 คน
ตลอด 3 ปีที่จัดงานมา ได้สร้างเม็ดเงินให้กับอุตสาหกรรมกาแฟไทยไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท และช่วยต่อยอดธุรกิจให้ผู้ประกอบการกาแฟ เช่น Yellow Stuff สามารถขยายฐานลูกค้าไปได้ทั่วประเทศ
จากการจัดงานเราได้เห็นอินไซต์การดื่มกาแฟของผู้บริโภคในแต่ละหัวเมืองว่ามีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ภาคใต้จะนิยมดื่มกาแฟชนิดคั่วเข้ม โดยเฉพาะเมนูอเมริกาโนที่นิยมมากขึ้น อาจเป็นเพราะมีปัจจัยของสุขภาพเข้ามาเป็นทางเลือก ที่สำคัญการตัดสินใจจ่ายก็ไม่เหมือนกัน แต่ในภาพรวมพบว่าทุกคนสนใจเรื่องการดื่มกาแฟ และมีการซื้ออุปกรณ์มาทำดื่มเองที่บ้านเพิ่มขึ้นด้วย
ด้าน ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2564-2566 มูลค่าตลาดกาแฟรวมอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 8.55% ต่อปี หนึ่งในเซ็กเมนต์ที่เริ่มโตขึ้นคือกลุ่มกาแฟพิเศษ ซึ่งมีมูลค่า 2 พันล้านบาทของตลาดกาแฟพรีเมียมที่มีมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับกาแฟพิเศษไทยเติบโตต่อเนื่องทุกปีไม่ต่ำกว่า 25% ทั้งในแง่จำนวนร้านและบาริสต้า โดยบริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก Euromonitor International รายงานมูลค่าตลาดกาแฟไทย พบว่า กาแฟเป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากการบริโภคกาแฟที่เพิ่มขึ้นทุกปี จาก 30,000 ตันเป็น 90,000 ตันต่อปีภายในระยะเวลา 10 ปี เฉลี่ยวันละ 1.5 แก้ว
นับว่าอุตสาหกรรมกาแฟในไทยยังเติบโตได้อีกมาก แต่การที่จะแข่งขันในระดับโลกได้นั้นเราต้องแข่งขันด้านคุณภาพ ด้วยการผลิตเมล็ดกาแฟพิเศษ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าของกาแฟให้สมเหตุสมผลกับราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย
ดังนั้นสมาคมกาแฟพิเศษไทยจึงส่งเสริมเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำและจัดประกวดกาแฟพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรไทยหันมาทำกาแฟในเชิงคุณภาพมากขึ้น ถือว่าเป็นทางรอดของเกษตรกรที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด เพราะถ้าเราไม่ฉีกตัวเองก็จะลำบากแน่นอน
จริงๆ แล้วนิยามของกาแฟพิเศษคือ การนำเมล็ดกาแฟที่ยังไม่คั่วมาประกวดให้ได้คะแนนสูงเกิน 80 ขึ้นไปจากมาตรฐานเต็ม 100 คะแนน มันคือการประเมินคุณภาพของกาแฟ และจะเป็นกาแฟพิเศษได้จะต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับได้ ทั้งที่มาของกาแฟ ปลูกที่ไหน และชื่อของเกษตรกรที่ปลูก
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมกาแฟพิเศษไทยถึงมีราคาสูง ยกตัวอย่างเช่น ราคาเครื่องดื่มกาแฟที่ทำจากกาแฟพิเศษ จากแหล่งปลูกในประเทศปานามา เสิร์ฟละ 1,500 บาท แต่ด้วยคุณภาพที่ดี แม้ราคาจะสูงแค่ไหน ผู้บริโภคที่ชอบดื่มก็ยินดีจ่ายเช่นกัน