วันนี้ (10 มกราคม) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ในประเด็นหลัก (ธีม) ‘ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส และความหวังอนาคตประเทศไทย’ โดยมีการจัดเวทีการพูดคุยในหัวข้อการส่งเสริมพัฒนาสุขภาวะทางจิต ‘การออกกำลังใจ…ใครก็ทำได้’ ซึ่งมี นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ จากสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต และ Miss Thailand World 2019 เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยกิจกรรมนี้มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สุขภาพจิตกับสุขภาพกายสำคัญต่อคนเราไม่ต่างกัน แต่สุขภาพจิตมักถูกมองข้ามและถูกเพิกเฉย เพราะอาจเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น คนมักจะนึกถึงสุขภาพจิตเมื่อสถานการณ์ไปถึงเส้นของปัญหาแล้ว ซึ่งแตกต่างจากสุขภาพกายที่มองเห็นและถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยทุกวันนี้เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพจิตก็ต้องบอกว่ามี แต่ถามว่าอยู่เฉพาะในคนกลุ่มไหน หรือกระจายไปทั่วถึงทุกคนในสังคมแล้วหรือไม่ จากการพูดคุยกับผู้ที่ทำงานด้านนี้ในระดับพื้นที่พบว่า คำว่าสุขภาพจิตยังเป็นคำที่ยังไม่กลืนเข้ากับสังคมไทย
3 ปัจจัยกระตุ้น Emotional Crisis
ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวว่า ปลายทางที่จะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดที่สุดของปัญหาสุขภาพจิตคือ การฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาจุฬาฯ เคยทำวิจัยด้วยการสัมภาษณ์คนที่อยู่ในภาวะวิกฤตทางอารมณ์ หรือ Emotional Crisis หรือคนที่อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้ พบว่ามีตัวกระตุ้นคือ
- เรื่องการเรียน ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การทำให้คนที่เขารักเสียใจ
- เรื่องเงินและสภาพเศรษฐกิจ
- เรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อน คนรัก หรือ Support System ที่แยกจากกัน
การเข้าถึงนักจิตวิทยา การให้คำปรึกษา และการพูดคุย ช่วยได้
ทั้งนี้ งานวิจัยทุกชิ้นยืนยันว่า Prevention หรือการป้องกัน นั้นช่วยได้ ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เข้าถึง อาทิ การเพิ่มบริการปฐมภูมิ เช่น แค่รู้สึกไม่ดีหรือรู้สึกอยากพูดคุยก็สามารถทำได้ หรือมุมมองต่อเรื่องการออกกำลังใจนั้นประเทศไทยดีพอแล้วหรือยัง ไม่ใช่ต้องรอให้รู้สึกไม่ไหวก่อนแล้วจึงจะเข้าถึงบริการต่างๆ ซึ่งปัจจุบันตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นมากๆ ตรงนี้จะสัมพันธ์ต่อปริมาณความต้องการ ความช่วยเหลือ และความเพียงพอของผู้ให้ความช่วยเหลือด้วย
“ทุกๆ การถอดบทเรียนและการศึกษายืนยันตรงกันว่า การเข้าถึงบริการ การเข้าถึงนักจิตวิทยา รวมทั้งการเข้าถึงการให้คำปรึกษาและพูดคุย ช่วยคนได้จริงๆ แต่ปัจจุบันก็ยังเข้าถึงเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นคำถามคือ เมื่อใดคนทุกคนหรือคนทุกกลุ่มในประเทศจะเข้าถึงได้” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว
ออกกำลังใจไม่ใช่เรื่องง่าย
ด้าน ชูไชย นิจไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสุขภาพจิต เราอาจแบ่งได้ว่าสุขภาพดีหรือไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะวิถีชีวิตในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียดและเกิดความเปราะบางในหลายมิติ ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้สุขภาพจิตเป็นไปในเชิงบวก เช่น อาจชวนกันออกกำลังใจเพื่อให้ใจแข็งแรง
ประเด็นคือคนชั้นกลางอาจเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตได้ง่าย แต่หากเป็นชุมชนคนบ้านๆ การพูดคุยหรือเชิญชวนให้ออกกำลังใจเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย การแปลความไม่ง่าย โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนจำนวนมากหรือคน 90% ของประเทศมีจิตใจที่แข็งแรงได้จริง
สำหรับสถานการณ์จากการทำงานในชุมชนพบว่า ข่าวสารหรือเหตุที่ปรากฏในปัจจุบันจำนวนมากเป็นผลพวงปลายทางจากการที่คนในชุมชนเผชิญกับความเปราะบางในชีวิต ทั้งจากปัญหาข้าวยากหมากแพง อาชีพ ต้นทุนการศึกษา และไปพัวพันกับปัญหายาเสพติด เป็นต้น โดยเฉพาะคนบ้านๆ เขามีปัญหาจากวิถีชีวิตและมีความเครียดสูง หาทางออกไม่ค่อยได้ ส่งผลกระทบตั้งแต่ในบ้าน เช่น การส่งต่อความเครียดถึงกัน และเมื่อก้าวเท้าออกจากบ้านก็เจอสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดอีก เหล่านี้ช่วยก่อรูปให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ฉะนั้นการทำงานในชุมชนต้องใช้ศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงให้คนในชุมชนเอาไปใช้ในชีวิตได้จริง
Gen Z เหนื่อยล้าทางอารมณ์มากที่สุด
ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของเรา อาจนิยามง่ายๆ ว่า เรามีความสุขกับชีวิตมากขนาดไหน เราพึงพอใจกับสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวันขนาดไหน เรามีอารมณ์ทางบวกหรือมีกำลังใจมากน้อยขนาดไหน ฯลฯ เป็นการอธิบายถึงอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อชีวิตของเราและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราในทุกๆ วัน และเมื่อพูดถึงสุขภาพจิตในสถานที่ทำงานก็จะนึกถึงเรื่องความเครียดในที่ทำงาน ซึ่งไม่ใช่แค่ความเครียดที่เราต้องเจอภายใน 1 วัน เช่น เดดไลน์ ผู้คนและลูกค้าที่อาจเข้ากับเราไม่ได้ แต่ต้องมองไปที่ภาพรวมว่าสิ่งเหล่านี้สะสมจนกลายเป็นความทุกข์ทรมานในการทำงานหรือไม่ ซึ่งนำไปสู่ภาวะหมดไฟ
ทั้งนี้ มีโอกาสได้เก็บข้อมูลจากพนักงานในประเทศไทยจำนวน 1,000 คน พบว่า พนักงานส่วนใหญ่จะรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์คือ ตื่นขึ้นมาก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว หรือเมื่อไปถึงที่ทำงานแม้ว่าจะยังไม่เริ่มทำงาน แต่ก็รู้สึกว่าทำงานมาทั้งวันแล้ว
ขณะที่เรื่องช่วงวัย หรือ Generation นั้นพบว่า Gen Z ซึ่งอาจเป็น First Jobber หรือการทำงานเป็นครั้งแรก มีความรู้สึกเหนื่อยล้าหรือภาวะหมดไฟที่สูงกว่าคน Generation อื่น โดยให้เหตุผล อาทิ ไม่เห็นถึงศักยภาพของตัวเอง และพบอีกว่า เพศหญิงและ LGBTQIA+ มีภาวะความเครียดและความเหนื่อยหน่ายทางอารมณ์ที่สูงกว่าเพศชาย
“นโยบายองค์กรที่มุ่งเน้นไปที่ตัวเลขหรือผลลัพธ์โดยไม่แคร์คนทำงานคือสิ่งที่พนักงานเครียดมาก และที่ตอบตรงกันมากที่สุดคือ ‘หัวหน้า หัวหน้า หัวหน้า’ คำถามคือ เราพัฒนาศักยภาพผู้นำของหัวหน้าเพียงพอแล้วหรือไม่ สิ่งที่จะทำให้คนทำงานไม่เครียดคือ การมีหัวหน้าที่เข้าใจและคอยถามความรู้สึกของเขา การให้ทักษะแก่หัวหน้าเพื่อดูแลคนในทีมได้เป็นสิ่งสำคัญ ตลอดจนการสร้างนโยบายยืดหยุ่นในการทำงาน และ The Right to Disconnect ที่ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยว่าจะไม่ต้องตอบอีเมลในช่วงเวลาค่ำและได้พักผ่อนจริงๆ ให้สามารถปิดสวิตช์การทำงานได้จริงๆ รวมถึงการเปิดช่องให้พนักงานเข้าถึงการได้รับบริการหรือการส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพใจ” ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าว
คนรุ่นใหม่ ‘ฝืนยิ้ม’ เพื่อรับมือกับความเครียด
ด้าน น้ำหวาน-กันตพร ขจรเสรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Mindventure กล่าวว่า ปัจจุบันพบเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจวัยรุ่นและเยาวชนเป็นจำนวนมาก กรมสุขภาพจิตได้ทำงานวิจัยแล้วพบว่า มีวัยรุ่นและเยาวชนไทย 1 ใน 3 หรือ 32% ที่มีความเสี่ยงต่อการซึมเศร้า นั่นหมายความว่า เพื่อนหรือบุตรหลานของเราที่เขาอาจดูเหมือนยิ้มและมีความสุข แต่เมื่อเขาอยู่คนเดียวในห้องกลับกำลังรู้สึกแย่อยู่ ที่สำคัญคือเขาอาจจะโดดเดี่ยวและไม่มีคนให้คุยด้วยเลย และถึงแม้ว่าเด็กและเยาวชนจะยังไม่เข้าสู่โลกของการทำงาน แต่ก็มีภาวะความเครียดไม่แพ้กัน
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลน้องๆ เยาวชนกว่า 900 คน พบว่า วิธีการรับมือกับความเครียดคือ เล่นเกม เล่นโทรศัพท์ และฝืนยิ้ม เพราะเขาเหล่านั้นไม่มีคนคุยด้วยและไม่มีเครื่องมือในการดูแลสุขภาพจิตตัวเอง
ส่วนปัญหาที่พบบ่อยในวัยนี้คือ การค้นหาตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัยแล้วความต้องการของตัวเองไม่ตรงกับความต้องการของผู้ปกครอง ตลอดจนการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นจนมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้คือ การหาเครื่องมือให้กับคนกลุ่มนี้รับมือกับความเครียดได้