×

ระวังฝันสลาย! Gen Z แห่เรียน ‘การตลาด’ แต่วัยทำงานจริงโหดหิน หางานยากแถมเงินเดือนต่ำ

13.03.2024
  • LOADING...

งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า เกือบ 60% ของนักศึกษาจบใหม่ด้านการตลาด ต้องไปทำงานระดับมัธยมศึกษาในช่วง 5 ปีแรกหลังจบการศึกษา ความฝันที่จะได้สร้างแบรนด์ ทำโฆษณาสุดครีเอตต้องพับเก็บ เพราะโลกธุรกิจวันนี้ต้องการบัณฑิตจากสาขาธุรกิจ บัญชี และการเงินเท่านั้น

 

รายงานจาก Bloomberg เผยว่า การที่ Gen Z เติบโตมาพร้อมกับการสร้างภาพลักษณ์และผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดีย พวกเขาจึงหลงใหลในภาพลักษณ์ที่ดูดีของงานการตลาด จนแห่กันไปเรียนเป็นหมื่นๆ คน ตามข้อมูลจาก Handshake แพลตฟอร์มเครือข่ายอาชีพ โดยพบว่าใบสมัครงานด้านการตลาดนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา

 

แต่ความล้นตลาดนี้ เมื่อผสมเข้ากับการแข่งขันจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยิ่งทำให้การหางานยากกว่าเดิม เพราะเข้ามาทำงานด้านการตลาดได้หลายอย่าง ทั้งการออกแบบและสร้างสรรค์คอนเทนต์ ทำให้หลายตำแหน่งงานที่มองหาคนจบด้านการตลาดเริ่มลดน้อยลง

 

ฟากนายจ้างมองหาสายอื่นมากกว่า โดยธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการคนที่จบการบริหาร บัญชี และการเงิน มากกว่าการตลาด แถมตำแหน่งระดับล่างยังต้องการคนมีประสบการณ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ของเด็กจบใหม่

 

งานวิจัยจาก The Burning Glass Institute และ Strada Education Foundation ระบุว่า นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำไมผู้จบการตลาดเกือบ 6 ใน 10 ต้องไปทำงานที่ควรเป็นงานของคนจบแค่ระดับมัธยมศึกษา

 

Olivia Simone บัณฑิตวัย 22 ปี ผู้จบการตลาดจาก Michigan State University ถึงขั้นสมัครงานตั้งแต่ก่อนจบด้วยซ้ำ แต่ก็พบเพียงตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์อย่างน้อย 2 ปี สุดท้ายเธอต้องทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ ขณะที่ Natalie Zhong ต้องทำงานที่ Starbucks ควบคู่กับการฝึกงานด้านการตลาด แต่ก็มองไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจน

 

ขณะที่เด็กจบใหม่อย่าง Katie Karl ก็ไม่คิดว่าจบมาจะต้องมาทำงานอสังหาริมทรัพย์ แทนที่จะได้งานเอเจนซีแบบที่เคยฝันไว้ ปัญหานี้เกิดจากมหาวิทยาลัยที่อาจไม่ได้สอนสิ่งที่ตลาดต้องการจริงๆ

 

ยุคนี้แม้จะจบการตลาดมา หลายตำแหน่งงานก็ต้องการ ‘ทักษะทางเทคนิค’ เพิ่มเติม เพราะโลกการตลาดนั้นเน้นตัวเลขและข้อมูลมากขึ้น ยิ่งดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมาแรง งานออกแบบภาพหรือจัดทำกราฟิกต่างๆ ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับแรกอีกต่อไป

 

ดังนั้นตัวเลือกของหนุ่มสาว Gen Z หลังจากนี้จึงเริ่มจากหาประสบการณ์เพิ่ม ไปเรียนต่อระดับปริญญาโท หรือบางคนอาจต้องตัดใจย้ายสายงานกันเลยทีเดียว

 

ทั้งหมดนี้อาจเป็นปัญหาใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษายังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน คณาจารย์อาจไม่ได้เน้นสอน ‘ทักษะเฉพาะ’ ที่ภาคธุรกิจต้องการ สุดท้ายบัณฑิตจึงจบออกมาได้แค่ปริญญา แต่ขาดความสามารถที่ตรงกับสายงาน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising