×

เพราะ ‘งานในฝัน’ ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับชาว Gen Z อีกต่อไป อะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ และ ‘บอส’ ทุกคนควรทำความเข้าใจ

09.09.2022
  • LOADING...

โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร? คำถามนี้เคยเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่เด็กทุกคนบนโลกต้องเคยตอบกันบ้างอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต

 

“หนูอยากเป็นหมอ จะได้รักษาคนไข้”, “ผมอยากเป็นตำรวจ จะได้จับผู้ร้าย”, “หนูอยากเป็นนักร้อง เพราะแม่บอกว่าหนูร้องเพลงเก่ง” และ “ผมอยากเป็นคนขายหมูปิ้ง เพราะจะได้ไม่ไส้แห้งเหมือนผู้เขียน” คำตอบที่มาพร้อมกับเสียงเจื้อยแจ้วคือสิ่งที่เราคาดหวังได้

 


ช่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

จนเมื่อเติบใหญ่ขึ้นในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่วัยทำงาน คำถามถัดมาที่ทุกคนต้องเจอคือ ‘งานในฝันคืออะไร’ เมื่อวันเวลาช่วยสอนบทเรียนต่างๆ มากขึ้น บางคนก็พอจะรู้ว่าอยากจะทำหรือเป็นอะไร ซึ่งก็จะเป็นอาชีพที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น เป็นมาร์เก็ตติ้ง เป็นครีเอทีฟ หรือเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์

 

แต่รู้ไหมว่าเวลานี้คำถามแบบนี้อาจจะไม่มีความหมายสำหรับชาว Gen Z อีกแล้ว

 

เรื่องนี้ พอล ฮัดสัน ซีอีโอแห่ง Sanofi ที่ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์จากการได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในที่ทำงาน ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากประโยคคำถามง่ายๆ

 

“อาชีพในฝันของคุณคืออะไร?” คำตอบที่ได้รับคือ “ไม่มีความฝันในเรื่องงาน”

 

เมื่อได้รับฟังคำตอบ ทางด้านซีอีโอก็ได้แต่ยิ้ม พลางคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวันที่ตัวของเขาได้เริ่มต้นชีวิตการทำงาน เพราะ​ ณ จุดเริ่มต้นนั้นมีแต่คนพร่ำบอกว่า “หาบริษัทดีๆ อยู่ พยายามลองดู ถ้าโชคดีก็อาจจะได้ไปจนสุดทาง” ซึ่งฮัดสันไม่ได้ส่งต่อคำแนะนำแบบนี้ให้แก่ลูกๆ ที่มีอายุ 23, 21 และ 17 ปี ตามลำดับ

 

เพราะในเวลานี้จากการระบาดของโควิด สงครามในยูเครน เงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ และปัญหาทางการเมือง ได้ส่งผลอย่างมากมายมหาศาลต่อโลกของการทำงาน ปัญหาของคนที่เกิดมาเป็น Gen Z ที่ประสบในเรื่องแรงงานขาดแคลน การแบ่งชนชั้นทางสังคมที่รุนแรง และค่าครองชีพที่สูงจนแทบสู้ไม่ไหว สิ่งเหล่านี้ทำให้คน Gen Z ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดที่มีต่ออาชีพหน้าที่การงานไปอย่างสิ้นเชิง

 

แล้วอะไรคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้กำลังคิดถึง?

 

การสั่งสมประสบการณ์

การทำงานสำหรับคน Gen Z ไม่ใช่เรื่องของการทำตามความฝันหรือความลุ่มหลงส่วนตัวอีกแล้ว หากแต่เป็นการสั่งสมประสบการณ์ที่จะนำมาปรับใช้ในชีวิตของตัวเองเพื่อประโยชน์ในอนาคต

 

ฮัดสันเล่าว่าไม่นานมานี้ได้เคยคุยกับน้องใหม่ในบริษัท Sanofi ด้วยการเปิดประเด็นคำถามว่า “ทำไมถึงอยากมาร่วมงานกับพวกเรา?” ซึ่งคำตอบจากหญิงสาวที่จัดเป็นคนที่เก่งคนหนึ่งในวัย 30 ต้นที่เคยผ่านการทำงานใน Venture Capital มาก่อน ทำให้ประหลาดใจ

 

“ฉันอยากสะสมประสบการณ์และเวลาในบริษัทที่ให้การดูแลเรื่องสุขภาพ เพราะมันจะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับฉัน ฉันอาจจะตั้งบริษัทของฉันเองหลังจากนี้” เธออธิบายชัดเจนถึงเป้าหมาย โดยที่เธอเพิ่งจะมาร่วมงานในบริษัทได้ไม่กี่วัน

 

สิ่งนี้ทำให้ซีอีโอแห่ง Sanofi กลับมาทบทวนและคิดว่าบรรดาผู้บริหารและผู้นำธุรกิจควรต้องเข้าใจว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่เก่งๆ ในยุคนี้มองคือประสบการณ์ในการทำงานและฉากชีวิต เส้นทางอาชีพปกติที่เคยเป็นการเริ่มต้นทำงาน ไต่ลำดับขึ้นไป ได้รับการโปรโมต แล้วก็เกษียณเมื่อถึงเวลานั้นคืออดีตแล้ว ความคิดของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว

 

คนรุ่นใหม่ที่เก่งในระดับท็อปๆ เคยบอกว่า “ฉันจะนำประสบการณ์ของฉันมาช่วยตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน และจะพยายามช่วยให้บริษัทแห่งนี้ดีขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาฉันจะไป และคุณไม่ควรกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉันจะจากไปโดยที่ทำให้ที่แห่งนี้ดีขึ้นกว่าที่ฉันเคยพบ แต่ฉันก็จะไปในเวลาที่ฉันเก่งขึ้นด้วยเช่นกัน”

 

 

การปรับมายด์เซ็ตในการผลักดันไปสู่เป้าหมาย

ในฐานะคนที่ทำงานมายาวนานและมีประสบการณ์สูง สิ่งที่ทำให้ฮัดสันมีพลังในการลุยกับงานด้านการให้บริการด้านสุขภาพมายาวนานกว่า 30 ปี คือความคิดที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น ต่อให้พวกเขาต้องเจอวันแย่ๆ แค่ไหน ก็จะทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการบริการเหล่านี้

 

นี่คือ ‘กรอบความคิด’ ที่ใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเลยทีเดียว และลูกจ้างก็ต้องคิดไปในทางเดียวกับบริษัท พูดง่ายๆ คือต้องทุ่มเทให้สุดตัวสุดหัวใจในการทำงาน

 

เพียงแต่โควิดได้ทำให้ความคิดเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งกับตนเอง เพื่อนร่วมงาน หรือซีอีโอในองค์กรใหญ่ที่รู้จักกัน เพราะในเวลานี้ เมื่อได้ตระหนักว่าคน Gen Z เริ่มให้คุณค่ากับเรื่องของ Work-Life Balance ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องของชื่อเสียง สถานะ และพยายามเติมเต็มคุณค่าของตัวเอง

 

คน Gen Z, เหล่าชาวมิลเลนเนียล (เกิดหลังปี 2000) และคนรุ่นอื่นๆ ต่างเริ่มเรียกร้องมากขึ้นจากผู้ว่าจ้าง พวกเขาต้องการความโปร่งใส ความเคารพ ความเห็นอกเห็นใจ ความยั่งยืน และการสนับสนุนให้เติบโตและการพัฒนาตัวเอง

 

พวกเขายังคาดหวังการทำจริง ที่ไม่ใช่แค่การพูดจากเหล่าผู้นำ เพื่อจัดการเรื่องของความหลากหลายและการมีส่วนร่วมด้วย

 

ในตอนนี้เรากำลังได้เห็นยุคสมัยของแรงงานยุคโมเดิร์น ยุคที่เทคโนโลยีหลอมรวมเข้ากับจุดหมาย คนรุ่นนี้ถูกคนที่แก่กว่าหรือคนรุ่นอื่นบั่นทอนประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของพวกเขามาพอแล้ว โดนดูแคลนความสามารถของพวกเขา และขวางทางการเติบโตในการที่จะผลักดันในสิ่งที่สำคัญ เช่น เรื่องโลกร้อน เศรษฐกิจที่พังทลาย และความท้ายทายในเรื่องสาธารณสุขโลก

 

แทนที่จะเฝ้ารอเพื่อให้โลกเปลี่ยนแปลงตัวเอง คนรุ่นหนุ่มสาวกำลังตีจากโปรเจกต์การทำงานอันน่าหลงใหล และใช้เวลาไปกับนวัตกรรมสมัยใหม่ การค้นพบใหม่ๆ และกำลังเข้าสู่ยุคสมัยของการพัฒนาศักยภาพตนเอง (Self-actualization) และผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของคนทำงานกำลังมีแผนที่จะเริ่มธุรกิจของตนเองในอนาคต

 

 

และเพื่อไม่ให้ผู้บริหาร คนรุ่นก่อน และคน Gen Z ต้องห่างกันเกินไป นี่คือสิ่งที่พอจะแนะนำให้ได้สำหรับการทำงานร่วมกับผู้คนแห่งอนาคตเหล่านี้

 

  • เริ่มการสื่อสารก่อนและสื่อสารให้บ่อยขึ้น: การจะทำให้คน Gen Z เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจะต้องสร้างความรู้สึกของการเป็นชุมชน สร้างความเข้าใจ และการเชื่อมต่อเข้ากับทุกหน่วยงานภายในองค์กร พยายามสื่อสารเมื่อมีข่าวสำคัญ หรือในยามที่เกิดสถานการณ์ที่มีความคลุมเครือ และโปรดจำไว้ว่าจงมีความเห็นอกเห็นใจ พยายามช่วยหาค้นหาคำตอบและยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นในเวลาเดียวกัน

 

  • มอบหมายหน้าที่ที่มากกว่างาน: คนรุ่นนี้ชอบความท้าทายและรู้สึกว่าพวกเขาต้องการเรียนรู้ตลอดเวลา ผ่านการมีที่ปรึกษาที่ดี การทดลองเครื่องมือใหม่ๆ ในการทำงาน และได้เข้ารับการเทรนนิ่ง พยายามบอกพวกเขาว่าความล้มเหลวคือองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา และจำเป็นต่อการกำหนดกรอบการทำงานสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งต่อไป

 

  • ให้ระบบ Automation และ AI ช่วยดูแล: เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้ สามารถช่วยเหล่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้เติมเต็มทั้งในเชิงส่วนตัวและในเชิงของการทำงานร่วมกัน แทนที่จะต้องมอบหมายให้ใครสักคนต้องมานั่งปวดหลังกับการกรอกข้อมูลหรืองานจุกจิกลงใน Excel จะเป็นการดีกว่าถ้าใช้ AI เข้ามาช่วย เพื่อให้คนเหล่านี้ได้ใช้แรงที่มีในการไขรหัสจากข้อมูลที่มีและค้นหาโซลูชัน

 

  • สร้างวัฒนธรรมในการรับฟัง: ในการประชุมและในการตัดสินใจสำคัญของทีม จำเป็นอย่างยิ่งที่คนเหล่านี้จะต้องรู้สึกว่าเสียงพวกเขามีความหมาย และนำเสียงของพวกเขาใส่ลงไปในกลยุทธ์การทำงานและการกำหนดทิศทางการทำงานของทีม ให้พวกเขาได้อยู่ในหน่วยจรยุทธ์ที่เล็กจิ๋วแต่เจ็บจี๊ด การอยู่ในทีมขนาดเล็กจะทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม และสามารถแสดงความเห็นในสิ่งที่พวกเขาคิดได้

 

ฮัดสันยังเล่าอีกว่า ในพิธีประสาทปริญญาบัตรของลูกสาวที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน มาเรีย ชิเวอร์ ผู้สื่อข่าวผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ได้มอบบทเรียนที่มีค่าแก่ผู้ที่จบการศึกษาในปี 2022 ว่า “คนรุ่นคุณนั้นได้รับของขวัญเป็นตำราเก่าที่ถูกฉีกทิ้ง มันคือสนามที่เปิดกว้าง

 

“มีสิ่งมากมายที่เคยถูกเรียกว่าความปกตินั้นได้หายไปแล้ว ในโมงยามของความไม่แน่นอนที่คุณและโลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ มันคือโอกาสอันน่าเหลือเชื่อสำหรับพวกคุณทุกคน”

 

สำหรับฮัดสัน เขาคิดว่านี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นทั้งในบทของซีอีโอและในบทของพ่อ ผลการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยคือสิ่งที่คนรุ่นก่อนจะต้องยอมรับให้ได้ว่าคนทำงานที่มีความสามารถนั้นจะยิ่งใช้เวลาอยู่กับองค์กรสั้นลงเรื่อยๆ เพราะสำหรับพวกเขาอยากใช้เวลาอย่างมีคุณค่ามากที่สุด

 

การเปิดใจยอมรับ ลืมสิ่งที่เคยรู้เพื่อจะรู้ในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ใช้เวลาพิจารณาอีกครั้งว่าสถานที่ทำงานจริงๆ แล้วควรเป็นอย่างไร และอะไรที่จะทำให้ชีวิตของเรามีจุดมุ่งหมาย สิ่งเหล่านี้คือบทเรียนที่ชีวิตได้สอนกับฮัดสันในฐานะซีอีโอของคนรุ่นก่อน ที่อยากให้ซีอีโอ ผู้บริหาร และผู้ใหญ่ทุกคนบนโลกใบนี้ได้รู้ รัก และเข้าใจ

 

เพราะหากเข้าใจกันแล้ว บางทีคำว่า “เด็กรุ่นนี้มันก็แบบนี้” อาจจะเป็นคำที่ฟังดูน่ารักขึ้นมาเยอะเลยทีเดียว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising