การที่ประเด็นการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การดูแลสุขภาพใจ และการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่คนไทยตื่นตัวเป็นอย่างมาก ทำให้วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) สนใจ จนกลายเป็นที่มาของงานวิจัย ‘What If Marketing การตลาดสามมิติสู่การเปลี่ยนแปลง’
งานวิจัยพบว่า บุคคลที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การหันมาดูแลสุขภาพใจ และการใช้สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับความยั่งยืนนั้น ล้วนมาจากตนเองเป็นอันดับแรกในทุกมิติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ถูกที่ถูกเวลา-เข้าถึงผู้บริโภคที่มีความตั้งใจซื้อสูง-ความน่าเชื่อถือ 3 เคล็ดลับการตลาดที่จะช่วยพิชิตใจผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินในยุคปัจจุบัน
- สิ่งที่แบรนด์ต้องรู้! ‘อิปซอสส์’ เปิดผลวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค กังวลเงินเฟ้อ-กระทบรายได้หด เลือกจ่ายเฉพาะสินค้าจำเป็น
- EIC แนะเข้าใจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มให้ชัด ก่อนงัดโปรโมชันเด็ดดูดกำลังซื้อ
สำหรับการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จากผลวิจัยพบว่า ผู้บริโภคต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารให้ดีต่อสุขภาพ ด้วย 3 ปัจจัย คือ
1. ต้องการรักษาและคงสุขภาพระยะยาว
2. เสริมภาพลักษณ์
3. ป้องกันโรค
โดยประเภทอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พบว่า 5 อันดับแรกที่พูดถึงมากที่สุด คือ
1. อาหารออร์แกนิก
2. อาหารโลว์คาร์บ
3. อาหารโพรไบโอติกส์-พรีไบโอติกส์
4. อาหารแพลนต์เบส
5. อาหารคีโตวีแกน
ขณะที่คุณลักษณะของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ผลวิจัยพบว่า อาหารที่ปลอดสารพิษและยาฆ่าแมลงมาเป็นอันดับสูงสุด รองลงมาคือ อาหารโซเดียมต่ำ และอาหารไขมันต่ำ
อย่างไรก็ตาม พบอุปสรรคในการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพเช่นกัน คือ
1. ราคาสูงกว่าอาหารปกติ
2. หาซื้อยากกว่าอาหารปกติ
3. รสชาติอร่อยสู้อาหารทั่วไปไม่ได้
และจากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่าปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 17.09% ของค่าใช้จ่ายการกินอาหารทั้งหมด
และช่องทางในการเปิดรับข้อมูลด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พบว่า กลุ่ม Baby Boomer กลุ่ม Gen X และกลุ่ม Gen Y นิยมรับข้อมูลผ่านช่องทาง Facebook และเสิร์ชเอนจิน ขณะที่กลุ่ม Gen Z นิยมช่องทาง YouTube และ TikTok
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียด 3 อันดับแรก คือ
1. หน้าที่ความรับผิดชอบ
2. การเงิน
3. สุขภาพ
ซึ่งเมื่อเจาะข้อมูลเชิงลึกความเครียดของแต่ละเจเนอเรชัน พบว่า ‘กลุ่มคน Gen Y มีความเครียดมากที่สุด’ ส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน และต้องการบาลานซ์ความสุขกับความสำเร็จคู่กัน
รองมาคือกลุ่ม Gen Z เครียดเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการงาน การเรียน เน้นให้ความสำคัญต่อความสุขมากกว่าความสำเร็จ ตามด้วยกลุ่ม Gen X ที่เครียดจากหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นและเข้าใกล้วัยเกษียณ รวมถึงการวางแผนชีวิต และกลุ่ม Baby Boomer เครียดเรื่องปัญหาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บมากที่สุด ไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน
ซึ่งการเกิดความเครียดเหล่านี้ ส่งผลต่อการนอนหลับ อารมณ์ ความคิด และนำไปสู่การดูแลสุขภาพใจ แต่ทว่าพบอุปสรรคในการเข้ารับบริการดูแลสุขภาพใจ 3 อันดับแรกคือ
1. ค่าใช้จ่าย
2. ความสะดวกในการเข้าถึง
3. ไม่ทราบข้อมูลในการเข้าถึงบริการ
ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้เสนอแนะข้อคิดเห็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการให้บริการสุขภาพใจว่า ค่าใช้จ่ายควรต่ำกว่า 500 บาท
สำหรับช่องทางการเปิดรับข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพใจที่นิยม พบว่า กลุ่ม Baby Boomer กลุ่ม Gen X และกลุ่ม Gen Y รับข้อมูลผ่านช่องทาง Facebook และเสิร์ชเอนจิน ขณะที่กลุ่ม Gen Z นิยมช่องทาง YouTube, Facebook และ TikTok
สุดท้าย รักษาสิ่งแวดล้อม หรือศาสตร์แห่งความยั่งยืน จากข้อมูลวิจัยพบว่า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับความยั่งยืนใน 3 อันดับแรก คือ
1. ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 69.9%
2. อยากช่วยแก้ปัญหาระยะยาว 62.6%
3. อยากช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต 61.2%
กลุ่มเจเนอเรชันที่มีพฤติกรรมให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับความยั่งยืนอันดับหนึ่งคือ กลุ่ม Baby Boomer รองมาคือ Gen Z, Gen X และ Gen Y ซึ่งพฤติกรรมยั่งยืนที่ผู้บริโภคทำมากที่สุดคือ ปิดน้ำ ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ซื้อสินค้าใหม่เป็นสินค้ายั่งยืน และนำสิ่งของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ขณะเดียวกันพฤติกรรมยั่งยืนที่ทำน้อยที่สุดคือ ใช้รถสาธารณะ ใช้สินค้าที่เกี่ยวข้องคาร์บอนฟุตพรินต์ และใช้แก้วส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม พบอุปสรรคในการใช้สินค้าและบริการเพื่อความยั่งยืนเช่นกัน คือ
1. ราคา จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าราคาสินค้าเพิ่มเฉลี่ย 17% จากราคาปกติผู้บริโภคถึงจะยอมซื้อ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า บ้าน อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว
2. ประเภทและความทนทานของวัสดุที่ใช้ แม้ใช้วัสดุรักษ์โลกได้จริง แต่สินค้าบางอย่างไม่ทนทานต่อการใช้ เช่น หลอดกระดาษ
3. ความสะดวก ที่ผู้บริโภคสามารถทำพฤติกรรมต่างๆ ได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้ความพยายามมากจนเกินไป
สำหรับช่องทางการเปิดรับข้อมูลด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม พบว่าทุกเจเนอเรชันนิยมรับข้อมูลผ่านช่องทาง Facebook เป็นหลัก