ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2563 ให้ที่ประชุมได้รับทราบ สรุปเนื้อหาสาระที่น่าจับตาโดยย่อได้ดังนี้
จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า และยังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น
- กระทรวงการคลังรายงานว่า ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 2,391,570 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) ต่ำกว่าปีก่อน 6.80% สาเหตุสำคัญมาจากรายได้ภาษีที่ลดลง
- GDP มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) 3 ปีของสัดส่วนดังกล่าวลดลงจาก 16.51% ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2556 ลดเหลือ 15.30% ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563 และยังคงมีแรงกดดันต่อเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19
- การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
- การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลยังคงมีแรงกดดันจากผลประกอบการในปี 2563 ที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีงบประมาณ 2564 และการนำผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นไปหักค่าใช้จ่ายสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า (Loss Carry Forward)
- การจัดเก็บภาษียาสูบและรายได้นำส่งคลังของโรงงานยาสูบมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
- การจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้อยู่ในระดับต่ำ โดยสัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง
จับตาฐานะการคลังอาจตึงตัว หนี้สาธารณะเพิ่มต่อเนื่อง
- ปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ ทั้งสิ้น 822,533 ล้านบาท โดยระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 572,104 ล้านบาท สะท้อนถึงระดับกระแสเงินสดสำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ในปีงบประมาณ 2564 อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของการจัดเก็บรายได้รัฐบาลท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 อาจสร้างความตึงตัวด้านสภาพคล่องทางการคลัง
- สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 49.34% จากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงิน
ขณะที่ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ตาม MTFF (กรอบนโยบายการคลังระยะปานกลาง ซึ่งเป็นกรอบในการกําหนด ทิศทางการวางแผนนโยบายการคลังล่วงหน้า 3-5 ปี เพื่อให้การดําเนินงานด้านการคลัง และการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้) ปีงบประมาณ 2565-2568 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 58.72%
รัฐเบิกจ่ายใช้เงินก็ยังไม่เข้าเป้า
กระทรวงการคลังรายงานด้วยว่า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 92% ซึ่งลดลงจากปีก่อน โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 66.28%
ประยุทธ์สั่งศึกษาโครงสร้างเก็บภาษีใหม่
รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม. ระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ใช้งบประมาณอย่างระมัดระวังและอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าสถานะทางการเงินยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ และหากจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตอนนี้คงทำไม่ได้เพราะประชาชนยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาศึกษารายละเอียดถึงการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ แล้วนำมาเสนอ ครม. อีกครั้ง โดยที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: