×

‘Upcycling the Oceans, Thailand’ โครงการแปลงร่างขยะในทะเลเพิ่มมูลค่าสู่สินค้าแฟชั่น นำร่องสอดคล้องตาม ‘มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน’ สำเร็จเป็นโครงการแรกของไทย [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
15.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ด้วยความตระหนักดีถึงปัญหาประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) จึงตั้งพันธกิจในการมีส่วนช่วยสังคมโลกแก้ไขปัญหา ทำให้เกิด ‘สมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม’ อันเป็นความหมายของความยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของ GC ทั้งนี้ทางองค์กรยังมองอีกว่าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy นั้นเป็นกลจักรสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน ด้วยเชื่อมั่นในหลักการดังกล่าว GC จึงนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ถ่ายทอดเป็นแนวคิด ‘GC Circular Living หรือการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ’ เกิดเป็นโครงการ ‘Upcycling the Oceans, Thailand’ (UTO) ที่ GC ดำเนินงานมาร่วม 3 ปี นับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จสอดคล้องตามมาตรฐาน ‘BS 8001:2017’ หรือมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก โดยปฏิบัติตามเกณฑ์การประเมิน 6 หัวข้อ ได้แก่ System Thinking, Innovation, Stewardship, Collaboration, Value Optimization และ Transparency 

นับเป็นความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมอีกหนึ่งก้าวที่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ของประเทศไทย ซึ่งยึดถือการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) ด้วยการขับเคลื่อนหลักการ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) และแนวคิด ‘GC Circular Living’ จนสามารถผลักดันโครงการ ‘Upcycling the Oceans, Thailand’ (UTO) ให้ประสบความสำเร็จ และนับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่ได้รับการประเมิน ‘BS 8001:2017’ อันถือเป็น ‘โครงการแรกในประเทศไทยที่ดำเนินงานสอดคล้องตามมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโลก’ โครงการดังกล่าวจะมีที่มาที่ไปอันน่าสนใจ สามารถสร้างคุณูปการให้กับสังคมและโลกของเราได้อย่างน่าทึ่งขนาดไหน THE STANDARD จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโครงการนี้กัน 

 

‘Upcycling the Oceans, Thailand’ 

โครงการแรกของประเทศไทยที่สอดคล้องตามมาตรฐาน BS 8001:2017

 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals) คือสิ่งที่ GC ใส่ใจ 

ด้วยปัญหาประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังที่ทุกคนทราบดีว่าการที่อุตสาหกรรมและการบริโภคขยายตัวขึ้น ก่อให้เกิดปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเป็นเงาตามตัวจนส่งผลต่อวิกฤตสภาพอากาศ (Climate Change) ดังที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยของเราต่างเริ่มสัมผัสได้ GC ในฐานะผู้ประกอบการด้านเคมีภัณฑ์ของประเทศไทย ตระหนักดีถึงสถานการณ์และวิกฤตปัญหาดังกล่าว จึงลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมโลกแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิด ‘สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม’ (Economy, Society และ Environment = 2E1S) ทั้งนี้ GC ยังมองอีกว่าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy นั้นเป็นกลจักรสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการดังกล่าว GC จึงดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ‘GC Circular Living’  ซึ่งประกอบไปด้วย  

 

Smart Operating การนำเทคโนโลยีแบบใหม่มาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต ใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ โดย GC มีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อย Greenhouse Gas (GHG) จากกระบวนการผลิตลง 20% ภายในปี 2030 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลด GHG ของประเทศไทยตามพันธสัญญาความตกลงปารีส รวมถึงตั้งเป้าลดการปล่อย GHG ต่อหน่วยการผลิตลง 52% ภายในปี 2050 เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เป้าหมายที่ 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13 – Climate Action)

 

Responsible Caring วิธีการจัดการในการคิดค้น พัฒนา และออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด การนำขยะพลาสติกกลับมา Recycle และ Upcycling เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

Loop Connecting ขยายความร่วมมือร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง พร้อมเชื่อมต่อธุรกิจดำเนินงานให้ครบวงจร เพื่อขยายให้เกิดความสำเร็จในวงกว้าง 

 

GC ยังมุ่งหวังให้ไทยเปลี่ยนจากประเทศที่ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างปัญหาขยะมาเป็น ‘ผู้แก้ปัญหาขยะและเป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน’ แทน โดยจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะด้านขยะ น้ำ และอากาศของประเทศ มุ่งเน้นให้มีการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GC ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า 

 

 

“ผมมองว่าอันที่จริงแล้วกรณีปัญหาขยะพลาสติกนั้น ‘พลาสติกเองไม่ใช่ปัญหา’ แต่อยู่ที่การจัดการ ดังนั้นการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร พร้อมสร้างความร่วมมือแบบ Super Collaboration ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทางจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างก็สามารถนำแนวคิด Circular Economy มาปรับใช้ได้ทั้งหมด เพียงแต่ต้องเข้าใจถึงแก่นของหลักการ”

 

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ GC

 

 

‘Upcycling the Oceans, Thailand’ ช่วยสิ่งแวดล้อมอย่างไร

 

ภารกิจเก็บขยะในทะเลแล้วนำมา Upcycling

 

ที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของ GC มีผลสำเร็จที่ชัดเจน และจับต้องได้มากมาย เช่น โครงการจีวรรีไซเคิลที่ร่วมกับวัดจากแดง ซึ่งเริ่มจากจุดเล็กๆ และขยายผลต่อยอดจากวัดจากแดงสู่ถนนในโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน จนถึงระดับประเทศด้วยโครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ โครงการความร่วมมือกับกรมอุทยานฯ ในการสนับสนุนให้ใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Bioplastics) และการจัดการขยะแบบครบวงจร รวมไปถึงขยายผลไปสู่ภาคการศึกษาและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในโครงการ Waste This Way ที่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ที่ผ่านมา

แต่ที่น่าพูดถึงอย่างมากในตอนนี้ก็คือโครงการ UTO ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของ 3 องค์กร อันได้แก่ GC, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากประเทศสเปน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาโครงการนี้ได้พุ่งเป้าจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย ซึ่งสถานที่แรกที่เริ่มดำเนินโครงการคือเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง โดยการจัดเก็บขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงนำขยะพลาสติกประเภท PET มาแปรรูป หรือ Upcycling ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าในรูปแบบที่สร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ นำไปสู่การลดขยะในทะเลและอนุรักษ์ท้องทะเลไทย ปลุกกระแสภาคสังคมให้ประชาชนหันมารักษ์ทะเล สร้างการรับรู้และเข้าใจต่อปัญหาขยะพลาสติกและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ ชุมชน นักท่องเที่ยว นักดำน้ำ ซึ่งในประเด็นนี้ ดร.คงกระพัน ได้อธิบายให้ความกระจ่างว่า

 

“สิ่งสำคัญคือการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ (Business Model) ในการเปลี่ยนขยะทะเลและชายฝั่งเป็นทรัพยากรเพื่อผลิตเป็นสินค้าซึ่งมีมูลค่าเพิ่มที่หลากหลาย ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้แข็งแรงเพื่อขับเคลื่อนกันอย่างบูรณาการ ทั้ง ‘ต้นทาง’ ซึ่งก็คือการเก็บขยะจากทะเล แหล่งน้ำ ชุมชน สร้างให้เกิดแรงจูงใจในการคัดแยกขยะตามคุณภาพ ในขณะที่ ‘กลางทาง’ นั้น ขยะที่มีคุณภาพดีก็สามารถขายต่อหรือส่งต่อไปใช้ประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งตรงนี้ GC จะเชื่อมโยงพาร์ตเนอร์ให้มาถึง ‘ปลายทาง’ ที่เมื่อขยะเข้าสู่ระบบก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นทั้งเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือสินค้า Upcycling เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

 

เป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ดำเนินงานสอดคล้องตามมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโลก

 

ชาวบ้าน ชุมชน ภาคเอกชน และภาครัฐต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญ

 

ทั้งนี้โครงการ UTO ยังเป็นที่น่ากล่าวถึงในฐานะที่เป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่ดำเนินโครงการสอดคล้องตามมาตรฐาน ‘BS 8001:2017’ อันเป็นมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก ซึ่งเป็นแนวทางการประยุกต์ใช้หลักเกณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด การที่โครงการ UTO นับเป็นโครงการแรกของประเทศที่สอดคล้องกับมาตรฐาน BS 8001:2017 ที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 6 หัวข้อ อันได้แก่ System Thinking, Innovation, Stewardship, Collaboration, Value Optimization และ Transparency รวมถึงได้รับความเห็นชอบจากผู้ตรวจสอบ (Third Party Verifier) ว่าสอดคล้องตามมาตรฐานดังกล่าว ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้าน Circular Economy และชี้วัดได้ว่า GC ดำเนินโครงการตามมาตรฐานสากลอย่างวัดผลและจับต้องได้ ซึ่ง ดร.คงกระพัน ได้อธิบายถึงภาพรวมและผลที่ได้รับจากโครงการ UTO ให้เราฟังดังนี้  

 

 

“GC ดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand’อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วม 3 ปี (นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017 จนถึงปัจจุบัน) โดยเราได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้าน ชุมชน ภาคเอกชน พันธมิตร และภาครัฐ ที่ทุกฝ่ายต่างเล็งเห็นความสำคัญ และได้รับกระแสตอบรับจากคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

 

“ทั้งนี้ โครงการ UTO สามารถเก็บขยะพลาสติกประเภท PET ได้ปริมาณ 40 ตัน และสามารถช่วยลดแก๊สเรือนกระจกได้ถึง 115.27 ton CO2e รวมถึงสามารถสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน จากการขายผลิตภัณฑ์ Upcycled Products ได้มากกว่า 22 ล้านบาท ทั้งยังสร้างรายได้ในส่วนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น การซื้อขยะจากชุมชน และร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่อีกด้วย”

 

ผลิตภัณฑ์ Upcycled Products 

จำหน่ายได้ถึงกว่า 22 ล้านบาท

 

นับเป็นผลสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจที่ GC สามารถดำเนินโครงการ UTO ซึ่งได้ปลุกกระแสภาคสังคมให้หันมารักษ์ทะเล สร้างการรับรู้ เข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการประชาสัมพันธ์และการสร้างความมีส่วนร่วม รวมถึงพัฒนาโมเดลทางธุรกิจในการเปลี่ยนขยะทะเลและชายฝั่งเป็นทรัพยากรอีกครั้ง เพื่อผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มที่หลากหลาย ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้แข็งแรงและขับเคลื่อนกันอย่างบูรณาการ จนสามารถนำร่องผลักดันโครงการให้ก้าวสู่การดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก (BS 8001:2007) สำเร็จเป็นโครงการแรกของประเทศไทย! 

 

ทว่าประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GC ยังไม่ได้หยุดความท้าทายเอาไว้เพียงเท่านั้น เขายังกล่าวอีกว่าการเป็น ‘Leader’ นับเป็นสิ่งที่ยากแล้ว การที่จะยังคงตำแหน่งในการเป็นองค์กรผู้นำด้านความยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่องและดีกว่าเดิม รวมทั้งการขยายผลสู่สังคมวงกว้างนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมากกว่า 

 

“เพื่อการนั้น GC ยังจะต้องสามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลกได้ด้วย ซึ่งประกอบด้วย Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ดัชนีหลักทรัพย์ของบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ผ่านการประเมินความยั่งยืนตามตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม, Carbon Disclosure Project (CDP) ดัชนีที่สะท้อนความใส่ใจและการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ, UN Global Compact กรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ รวมถึงการหาโอกาสใหม่ๆ และการเชื่อมโยงกันระหว่าง GC กับพาร์ตเนอร์ในปัจจุบันและพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ ในธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GC สรุปความท้าทายที่น่าติดตามทิ้งท้ายให้เราฟัง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI

โครงการต่อยอดความร่วมมือของ GC ที่กำลังจะเกิดขึ้น

  • เพื่อขยายผลสู่สังคมวงกว้างในอนาคต GC จะมีโครงการ ‘เครื่องดักจับขยะในคลองสาธารณะ’ เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะในน้ำที่มีประสิทธิภาพ ใช้ได้จริง เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงไม่ให้ขยะลงสู่แม่น้ำสายหลักและทะเล อีกทั้งนำขยะที่เก็บได้ไปจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ โครงการต้นแบบดังกล่าวจะดำเนินการที่คลองขุดเจ้าเมือง ใกล้ๆ คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการเป็นที่แรก โดยมีแผนที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับโครงการต่างๆ ของบริษัทฯ อีกด้วย 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising