‘คงกระพัน’ ซีอีโอ GC เผยกำลังการผลิตปี 2567 ยังเติบโต 10% ท่ามกลางภาวะโลก Recession ต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการบริหารต้นทุน เพิ่มนวัตกรรม เน้นลงทุนแบบ High Value และ Low Carbon และปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจในปี 2567 หาพาร์ตเนอร์ร่วมทุนในเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCUS) นำคาร์บอนมาทำเป็นเคมีภัณฑ์ใหม่ๆ พร้อมเผยเทรนด์การบริโภคสินค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไลฟ์สไตล์กลุ่มคนรุ่นใหม่มีส่วนช่วยให้สินค้าของ GC เติบโต
คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า ปี 2567 บริษัทวางแผนปรับพอร์ตการลงทุนทั้งรูปแบบการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) และจะเห็นการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เห็นการซื้อ-ขายของธุรกิจเดิมที่เคยถือหุ้นไว้ ซึ่งสอดคล้องกับงบการลงทุน 5 ปี ตามที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทได้อนุมัติไว้ที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นไปตามกลยุทธ์ 3 Steps Plus ได้แก่
- Step Change การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
- Step Out การแสวงหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่ หรือในต่างประเทศ
- Step Up การสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ โดยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593
ขณะเดียวกัน บริษัทคาดการณ์ว่าในปีหน้ากำลังการผลิตของทุกผลิตภัณฑ์ (Volume) จะเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีนี้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นสามารถเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต ซึ่งในส่วนนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่ม Margin
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รู้จัก ‘อิสราเอล’ ประเทศที่มีประชากรเพียง 9 ล้านคน แต่เต็มไปด้วยคนเก่งสตาร์ทอัพ จนกลายเป็นดินแดนแห่งขุมทรัพย์ Fintech อันดับต้นๆ ของโลก
- เปิดขุมทรัพย์ใหม่อุตสาหกรรมไทย ‘ซาอุดีอาระเบีย’ มีอะไรที่ไม่ใช่น้ำมัน ทำไมบิ๊กคอร์ปไทยจึงต้องปักหมุด
- EXCLUSIVE: เปิดมุมมองซีอีโอ ‘เอสซีจี WHA และ ปตท.’ ทำไมประเทศไทยต้องปลดล็อก ‘กรีน แลนด์ลิงก์ โลจิสติกส์รถไฟรางคู่ แหล่งก๊าซไทย-กัมพูชา และยานยนต์ EV’
สำหรับปัจจุบัน ยอดขายกลุ่มพลาสติกยังคงเติบโต รวมถึงกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้น ผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ และเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ยังคงช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้ดี
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังถือว่าทรงตัวท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจเคมีภัณฑ์ทั่วโลกที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะในปี 2567 ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession)
รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ยังมีการชะลอตัวจากภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา และภาวะสงคราม อาทิ สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่อาจจะขยายวงกว้างขึ้น
“ยอมรับว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเปลี่ยนไป GC จึงมองว่า เราควรมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งต้องทำตั้งแต่ตอนที่ยังแข็งแรง เมื่อกำลังคนลดลงจะต้องมีเครื่องมือนวัตกรรมเข้ามาเสริม”
Soft Landing อานิสงส์รายได้
แม้ว่าแนวโน้มธุรกิจจะเริ่มขยับเข้าสู่ขาขึ้น แต่ยอมรับว่ายังไม่เท่าปี 2564 ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด แต่เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
บริษัทจึงมีแผนบริหารจัดการต้นทุนด้วยการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา GC สามารถลดต้นทุนได้ถึง 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าปี 2566 นี้จะสามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพได้ 5,000-6,000 ล้านบาท และตั้งเป้า 5 ปีจะลดต้นทุนได้เพิ่ม 12,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมการส่งออกก็ยังมีอีกหลายประเทศที่จะเป็นโอกาสให้กับบริษัท เช่น กลุ่มประเทศแอฟริกาที่เป็นตลาดที่ดี รวมถึงอินเดีย และตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีความพยายามชะลอภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น (Soft Landing) ก็จะทำให้มีโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น
จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ไตรมาส 3/2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 126% จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ
ยึด 3 เสาหลักในการลงทุนอนาคต
- ปรับกระบวนการผลิต ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ปัจจุบันบริษัทได้ปรับปรุงการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน และเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด 146 โครงการ ช่วยลดการใช้พลังงานลงทั้งหมด 1,794,045 จิกะจูลต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 133,722 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
- บริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทผ่านนวัตกรรมและการลงทุน มุ่งสู่ธุรกิจ High Value and Low Carbon ด้วยการลงทุนใน Allnex ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 600-780 กิโลตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
- ลงทุนในเทคโนโลยี CCUS ผ่านแนวทางต่างๆ เช่น การสร้างพันธมิตรและการร่วมทุนทางธุรกิจ เพื่อนำคาร์บอนมาทำเป็นเคมีภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัย และด้าน Nature-Based Solutions ปลูกป่าเพื่อลดคาร์บอน ทั้งป่าบนบกและป่าชายเลน
คงกระพันกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH อีกว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มาจากสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้งานได้จริง กำลังเป็นเทรนด์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
ซึ่งหากดูจากโครงการ GC Upcycling Upstyling ถือว่าได้รับการตอบรับดีมาก เราได้พัฒนาจากปิโตรเคมีมาวิจัยนวัตกรรม แบรนด์แฟชั่นและดีไซเนอร์ไทยชั้นนำได้ออกแบบและสร้างสรรค์ เช่น นำพลาสติกใช้แล้วมาเพิ่มมูลค่าผ่านการออกแบบรักษ์โลกอย่างยั่งยืน Eco-Design หลายๆ โปรดักต์ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและการจำหน่ายให้กับธุรกิจ Upcycling ของ GC ในส่วนนี้บริษัทก็มองว่าเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ และคิดว่าตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ถือว่ามาแรง