สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ ทวีความตึงเครียดต่อเนื่อง หลังปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม
โดยนอกจากประชาชนในอิสราเอลที่เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,400 คนจากการบุกโจมตีภาคพื้นดินของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นที่อาศัยหลักของฮามาสและชาวปาเลสไตน์ ก็เผชิญการตอบโต้อย่างรุนแรงจากกองทัพอิสราเอลที่ระดมโจมตีทางอากาศต่อเนื่องไม่เว้นวัน จนทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วกว่า 2,600 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2023) และบาดเจ็บอีกหลายพันคน
ขณะที่ตัวเลขความสูญเสียในฉนวนกาซา ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจาก เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ชี้ว่า นี่ยังเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น และการโจมตีระลอกที่ 2 นั้นจะรุนแรงมากกว่าเดิม โดยมีทั้งการโจมตีทางอากาศ ควบคู่ไปกับการโจมตีทางทะเล และปฏิบัติการบุกภาคพื้นดิน
ทั้งนี้ อิสราเอลเตือนชาวปาเลสไตน์กว่า 1.1 ล้านคนที่อาศัยในพื้นที่ตอนเหนือของฉนวนกาซา รวมถึงเมืองกาซา (Gaza City) ให้เร่งหนีลงไปทางใต้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณก่อนที่กองทัพอิสราเอลจะปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มฮามาสอย่างเต็มกำลัง ท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก ซึ่งหวั่นวิตกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมแล้ว ยังอาจเป็นการโจมตีแบบ ‘เหมารวม’ ที่กลายเป็นการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก
และนี่คือรายละเอียดทั้งหมดของฉนวนกาซา ผืนแผ่นดินหลักของชาวปาเลสไตน์ ขนาด 365 ตารางกิโลเมตร ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก โดยหลายคนเรียกที่นี่ว่า ‘คุกกลางแจ้ง’ ขนาดยักษ์
กาซาคืออะไร?
- ฉนวนกาซา มีความยาว 41 กิโลเมตร (25 ไมล์) กว้างตั้งแต่ 6-12 กิโลเมตร (3.7-7.5 ไมล์) พื้นที่รวมขนาด 365 ตารางกิโลเมตร (140 ตารางไมล์) เล็กกว่าจังหวัดที่เล็กที่สุดของไทยอย่าง ‘สมุทรสงคราม’ ที่มีขนาด 416.7 ตารางกิโลเมตร
- ดินแดนฝั่งตะวันตกของฉนวนกาซา ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนทางทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับอิสราเอล และทางทิศใต้ติดกับอียิปต์
- ฉนวนกาซา เป็น 1 ใน 2 ดินแดนของชาวปาเลสไตน์ อีกแห่งคือเวสต์แบงก์ (West Bank) ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า แต่อิสราเอลยึดครองอยู่ โดยมีพรมแดนติดกับประเทศจอร์แดน
ใครอาศัยอยู่ที่นั่น?
- ประชากรชาวปาเลสไตน์กว่า 2 ล้านคนอาศัยอัดแน่นกันอยู่ในดินแดนขนาด 365 ตารางกิโลเมตรนี้ ในระดับ 5,700-9,000 คนต่อตารางกิโลเมตร
- องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรส่วนใหญ่ในฉนวนกาซา มีอายุน้อย โดยกว่า 50% ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ตามรายงานของ CIA World Factbook พบว่า ประชาชนในฉนวนกาซา เกือบทั้งหมดราว 98-99% นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนที่เหลือนั้นส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์
- ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ (United Nations Relief and Works Agency: UNRWA) ซึ่งช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ เปิดเผยว่า ประชาชนในกาซามากกว่า 1 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัย โดยมีค่ายผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ถึง 8 แห่ง
สภาพความเป็นอยู่เป็นอย่างไร?
- สภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ในกาซาเรียกได้ว่า ‘ย่ำแย่’ ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส
- Human Rights Watch เรียกดินแดนนี้ว่า ‘เรือนจำกลางแจ้ง’ เนื่องจากชาวกาซาเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างจำกัด
- อัตราว่างงานของประชากรในดินแดนแห่งนี้อยู่ในกลุ่มสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เกือบครึ่งหนึ่งว่างงาน และข้อมูลจาก UN พบว่า กว่า 80% ใช้ชีวิตใต้เส้นแบ่งความยากจน โดย UNRWA ชี้ว่า “ช่วงทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในฉนวนกาซาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง”
- ทั้งนี้ แม้ว่าข้อมูลตัวเลขต่างๆ จะย่ำแย่ แต่ ‘ความหวัง’ ของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซายังมีเหลืออยู่ โดยมีมหาวิทยาลัย 8 แห่ง และวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายแห่ง มีอุตสาหกรรมการผลิตขนาดเล็ก แต่แรงงานทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง มีผู้ประกอบการในหลากหลายสาขา และมีเกษตรกรที่รู้จักใช้นวัตกรรมและรู้จักการปรับตัว
- อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในกาซาเลวร้ายลงอย่างมากนับตั้งแต่ที่อิสราเอลประกาศการ ‘ปิดล้อมอย่างสมบูรณ์’ เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาส โดยระงับการจัดส่งสิ่งจำเป็นอย่างเสบียงอาหาร เชื้อเพลิง และน้ำ
- ชีวิตในกาซายิ่งอันตรายมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับชาวปาเลสไตน์กว่า 1.1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา หลังอิสราเอลประกาศให้พวกเขาอพยพไปทางใต้ ทำให้หน่วยงานบรรเทาทุกข์ต้องประกาศเตือนถึง ‘ภัยพิบัติครั้งใหญ่’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการบุกของกองทัพอิสราเอล
- โดยโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (UN World Food Programme) เตือนเมื่อวันอาทิตย์ว่า สิ่งบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้คนในฉนวนกาซากำลังจะหมดลง ซึ่งเที่ยวบินจัดส่งสิ่งบรรเทาทุกข์จากนานาชาติได้เดินทางถึงคาบสมุทรไซนายของอียิปต์แล้ว ในบริเวณใกล้กับจุดผ่านแดนราฟาห์ ติดกับชายแดนทางใต้ของฉนวนกาซา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถจัดส่งสิ่งบรรเทาทุกข์เหล่านี้เข้าไปในกาซาได้
- ขณะเดียวกัน ยอดผู้เสียชีวิตในกาซายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดของอิสราเอลตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าในช่วงสงคราม 6 สัปดาห์ระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในปี 2014
ประวัติศาสตร์ของฉนวนกาซา
- ฉนวนกาซามีผู้คนอาศัยอยู่มานับพันปี มีหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น ฐานทัพของอียิปต์ และเมืองหลวงของชาวฟิลิสตีนส์ หรือกลุ่มชนโบราณ ที่ในอดีตเคยยึดครองที่ราบชายฝั่ง ซึ่งปัจจุบันคืออิสราเอลและฉนวนกาซา และกลายมาเป็นชาวปาเลสไตน์ในภายหลัง
- ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ฉนวนกาซาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันมาเกือบตลอด จนกระทั่งอังกฤษเข้าควบคุมพื้นที่ฉนวนกาซาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
- การแย่งชิงดินแดนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ลามมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อชาวยิวที่หนีการข่มเหงเดินทางจากยุโรปเพื่อค้นหาพื้นที่สำหรับลี้ภัย หลังจากเผชิญความน่าสะพรึงกลัวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากนาซี
- ตัวเลขของชาวยิวที่ลี้ภัยไปยังดินแดนแห่งนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 1930 กระทั่งชาวปาเลสไตน์ซึ่งอยู่ในพื้นที่มาก่อนต้องการเอกราชและลุกฮือขึ้นต่อต้านชาวยิว จนเกิดความขัดแย้งและก่อความรุนแรงระหว่าง 2 ฝ่าย ทำให้สหราชอาณาจักรตัดสินใจนำปัญหานี้ให้ UN จัดการ
- โดยในปี 1947 UN ได้จัดทำแผนแบ่งดินแดนกาซาของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับชาวยิว และอีกส่วนหนึ่งสำหรับชาวปาเลสไตน์
- ขณะที่ เดวิด เบน-กูเรียน ผู้ก่อตั้งประเทศอิสราเอล ได้ประกาศสถาปนารัฐอิสราเอลในปี 1948 ทำให้ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 7 แสนคนต้องหลบหนีหรือถูกขับไล่ออกจากดินแดนที่อาศัย
- หลังจากที่อิสราเอลประกาศเอกราช อียิปต์ก็เปิดฉากโจมตีอิสราเอลผ่านฉนวนกาซา แต่อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะ
- หลังจากนั้นฉนวนกาซายังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของอียิปต์ และมีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์หลั่งไหลจากอิสราเอลเข้าไปอาศัย แต่ไม่สามารถอพยพไปยังอียิปต์ได้ และไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปยังบ้านเดิมในอิสราเอล ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์หลายคนต้องอาศัยอยู่อย่างยากลำบาก
- ต่อมาในปี 1967 ก็เกิดสงครามระหว่างอิสราเอล กับอียิปต์ จอร์แดน และซีเรีย ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในชื่อสงคราม 6 วัน โดยอิสราเอลยึดฉนวนกาซาไว้เกือบ 40 ปี จนกระทั่งถอนทหารและผู้ตั้งถิ่นฐานออกไปในปี 2005
- และนับตั้งแต่นั้นมา ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซา ก็ปะทุขึ้นบ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้นับว่ารุนแรงมากที่สุด จากการที่ฮามาสเลือกเปิดฉากโจมตีด้วยการบุกภาคพื้นดินแทนการยิงจรวดข้ามชายแดนเพียงอย่างเดียว
ตอนนี้ใครควบคุมกาซา?
- ในปี 2006 กลุ่มฮามาสได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นในฉนวนกาซา
- ฮามาส ซึ่งเป็นองค์กรอิสลามที่มีทั้งปีกฝ่ายการเมือง (Political Wing) และปีกฝ่ายทหาร (Military Wing) ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 โดยถือกำเนิดจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามนิกายสุหนี่ ที่ก่อตั้งขึ้นในอียิปต์ช่วงปลายทศวรรษ 1920
- กลุ่มฮามาสถือว่าอิสราเอลนั้นเป็นรัฐที่ผิดกฎหมาย และมองว่าตนเองมีอำนาจครอบครองฉนวนกาซา
- ขณะที่แนวคิดของฮามาสต่างจากกลุ่มการเมืองปาเลสไตน์อื่นๆ เช่น ทางการปาเลสไตน์ โดยฮามาสปฏิเสธที่จะสร้างสัมพันธ์หรือหาทางยุติข้อขัดแย้งอย่างสันติกับอิสราเอล
- ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฮามาสมักอ้างความรับผิดชอบต่อการโจมตีอิสราเอลหลายต่อหลายครั้ง และถูกอิสราเอล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปกำหนดให้เป็นองค์กรก่อการร้าย
- กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า งบประมาณของกลุ่มฮามาสส่วนใหญ่มาจากเงินทุนสนับสนุนของอิหร่าน โดยรายงานปี 2021 พบว่า อิหร่านจัดสรรเงินราว 100 ล้านดอลลาร์ต่อปีแก่กลุ่มฮามาส ขณะที่ฮามาสยังได้รับอาวุธและการฝึกอบรมจากอิหร่าน นอกจากนี้ยังได้รับเงินทุนจากการระดมทุนในประเทศอาหรับต่างๆ ด้วย
อิสราเอลเริ่มปิดล้อมกาซาเมื่อไร?
- แม้ว่าอิสราเอลจะถอนทหารออกจากกาซาไปในปี 2005 แต่นับตั้งแต่ปี 2007 อิสราเอลยังคงทำการควบคุมกาซาอย่างเข้มงวด ผ่านการปิดล้อมทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล ซึ่งมีการจำกัดพื้นที่ไว้สำหรับทำประมงเพียงไม่เกิน 15 ไมล์ทะเล หรือ 28 กิโลเมตร จากชายฝั่งทางใต้ และ 6 ไมล์ทะเล หรือ 11 กิโลเมตร จากชายฝั่งทางเหนือ
- เป็นเวลาเกือบ 17 ปีที่ฉนวนกาซาถูกตัดขาดจากส่วนอื่นๆ ของโลกเกือบทั้งหมด โดยมีข้อจำกัดที่เข้มงวดในการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คน
- การปิดล้อมกาซาของอิสราเอลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสหประชาชาติ ซึ่งระบุในรายงานปี 2022 ว่า ข้อจำกัดต่างๆ นั้นมี ‘ผลกระทบอย่างมาก’ ต่อสภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และบ่อนทำลายเศรษฐกิจของฉนวนกาซา ส่งผลให้มีการว่างงานสูง เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ
- อิสราเอลกล่าวว่า การปิดล้อมกาซามีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องพลเมืองของตนจากกลุ่มฮามาส
- บิลัล ซาบ ผู้อำนวยการโครงการกลาโหมและความมั่นคงของสถาบันตะวันออกกลาง ชี้ว่า “อิสราเอลกังวลว่าหากไม่มีการปิดล้อมกาซา กลุ่มฮามาสจะมีแนวทางที่ง่ายกว่าในการลักลอบขนอาวุธและติดอาวุธให้ตัวเอง”
- ขณะที่เขาเผยว่า “การปิดล้อมของอิสราเอลก็ไม่ได้ผลมากนัก” เนื่องจากใต้ดินของฉนวนกาซามีโครงสร้างพื้นฐานของอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่กลุ่มฮามาสได้สร้างขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำกลุ่มฮามาสอ้างว่า อุโมงค์ในกาซานั้นมีความยาวมากถึง 500 กิโลเมตร
ภาพ: Omar Zaghloul / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: