×

กรมการแพทย์ เตือนชีวิตเร่งรีบ – กินอาหารไม่ถูกหลักอนามัย เสี่ยงเป็น ‘โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร’

28.11.2019
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (27 พฤศจิกายน) กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบไม่บ่อยในคนไทย แต่ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักอนามัย แม้ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่ก็พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารหมักดอง รวมทั้งอาการอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง

 

โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดทั่วโลก (Globocan 2018) สำหรับประเทศไทย จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand V.IX) พบว่าเพศชายป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากเป็นอันดับ 10 ของผู้ป่วยมะเร็งชายทั้งประเทศ ส่วนเพศหญิงแม้จะไม่ติด 10 อันดับแรก แต่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากเช่นกัน และมักพบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป 

 

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารหากมีอาการปวดท้องเรื้อรัง จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้

 

ทางด้านนายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า มะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการแสดงออกชัดเจน และอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ อาการท้องอืดจุกแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามอาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ หรืออาจมีเลือดปนในอุจจาระ น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น การวินิจฉัยโรคทำได้ด้วยการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร การตัดชิ้นเนื้อบนผิวกระเพาะเพื่อตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ อีกด้วย

 

“การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารเป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ทั้งนี้ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ ได้แก่ ขนาดของก้อนมะเร็ง ตำแหน่งและลักษณะของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนระยะและการกระจายของโรคมะเร็ง รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย” นายแพทย์วีรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X