×

รู้จัก ‘ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง’ หลังจิ้มคอมพิวเตอร์-เขียนหนังสือหนัก อาการที่ไม่ควรมองข้าม

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2022
  • LOADING...
ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง

ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง (Writer’s Cramp) คืออาการเกร็งที่กล้ามเนื้อมือและแขนเมื่อเขียนหนังสือ และเขียนได้ช้าลง อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

 

สาเหตุ: 

ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง (Writer’s Cramp) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Task-Specific Dystonia ซึ่งเป็นอาการเคลื่อนไหวผิดปกติในรูปแบบของการบิดเกร็งผิดรูปที่เกิดขึ้นเฉพาะบางท่าทาง เช่น เขียนหนังสือ พิมพ์ดีด เล่นดนตรี เล่นกีฬาบางชนิด และอาการเกร็งจะหายไปเมื่อเลิกทำท่าทางนั้นหรือเมื่ออยู่เฉยๆ โดยจะพบอาการเกร็งมือเวลาเขียนหนังสือได้บ่อยที่สุด

 

อาการ:

ผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้จะมีความรู้สึกแน่นหรือเกร็งนิ้วมือ มือ ข้อมือ หรือแม้กระทั่งอาจลามถึงแขนเวลาใช้มือข้างนั้นเขียนหนังสือ ส่งผลให้ลายมือเปลี่ยนไป เขียนหนังสือช้าลง จนกระทั่งไม่สามารถเขียนหนังสือได้ บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องหัดเขียนหนังสือด้วยมืออีกข้างแทน ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโดยตรง

 

การดูแลรักษา:

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยประมาณ 10-20% อาจมีอาการของโรครุนแรงมากขึ้น จนมีอาการมือเกร็งเวลาทำกิจกรรมอื่นนอกจากเขียนหนังสือ เช่น จับช้อนหรือส้อมเวลากินอาหาร ติดกระดุมเสื้อ หรืออาจมีอาการเกร็งลามไปที่มืออีกข้าง ทำให้เป็นภาวะมือเกร็งทั้งสองข้างได้

 

ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็งอาจเป็นอาการนำของการเกิดโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็งทั่วตัวที่เป็นกรรมพันธุ์ เป็นต้น 

 

สาเหตุของโรคเกิดจากสมองที่มีวงจรทำงานผิดปกติ โดยส่งผลให้เกิดการบิดเกร็งของร่างกายส่วนนั้นๆ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาผู้ป่วยโดยการรับประทานยา และการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการเกร็ง แต่ผลการรักษามักมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร และมีผลข้างเคียงของยาเมื่อใช้ในปริมาณสูง  

 

ในปัจจุบันการรักษาที่เป็นมาตรฐานคือ การฉีดยาโบทูลินัมในตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่เกร็งเวลาเขียนหนังสือ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากการฉีดยาโบทูลินัมคือ อาจมีกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงชั่วคราวได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังฉีด จากนั้นมือจะกลับมามีแรงตามปกติโดยที่ไม่มีอาการเกร็งได้นาน 2-3 เดือน ทำให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ 

 

ดังนั้นหากมีอาการภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising