คนเราถ้าเริ่มต้นด้วยเจตนาดีแล้ว เวลาพูดอะไรออกไป ทั้งสีหน้า แววตา คำพูด มันจะบอกเองว่าเราเจตนาดี ไม่ได้มาเตือนเพื่อทำให้เขาอายหรือมาเพื่อเหยียบย่ำเขา แต่ของแบบนี้มันต้องมีวิธีการพูดกันหน่อย เจตนาดีแค่ไหน แต่ใช้คำพูดผิดก็จบข่าวได้
Q: มีเพื่อนที่ทำงานอยู่คนหนึ่งเวลามาทำงานหน้าลอยมากค่ะ อยากบอกเธอมากว่าเธอใช้รองพื้นผิดเบอร์ หน้ากับคอคนละสีกันเลย แต่จะบอกเพื่อนอย่างไรดีคะไม่ให้เพื่อนเสียเซลฟ์ ใจหนึ่งก็กลัวเพื่อนอาย อีกใจก็กลัวเพื่อนจะโกรธเรา
A: ถ้าเป็นคนที่เราไม่ชอบ คนนิสัยไม่ดี คนที่ชอบว่าเรา เราก็อาจจะปล่อยให้นางหน้าลอยต่อไป ถือเป็นความบันเทิงยามมาออฟฟิศ ฮ่าๆ แต่เอาล่ะ นี่คือเพื่อน ดูแล้วคุณคงหวังดีกับเพื่อนจริงๆ ไม่อยากให้เพื่อนขายหน้า ดีแล้วครับที่ตัดสินใจจะบอกเพื่อน รักเพื่อนอย่าปล่อยให้เพื่อนใช้รองพื้นผิดเบอร์
ผมเชื่อว่าคนที่เห็นเรากำลังจะจมน้ำตรงหน้าแล้วรีบมาช่วยเราในขณะที่เขาสามารถปล่อยให้เราจมน้ำก็ได้แต่เขาไม่ทำ ผมคิดว่าคนแบบนี้เราต้องจำไว้ใส่ในใจเลยว่าเขาคือคนที่ดีกับเรา เพราะฉะนั้น การบอกเพื่อนว่ารองพื้นเธอผิดเบอร์ก็ถือเป็นการทำความดีอันยิ่งใหญ่เหมือนกันครับ ควรภูมิใจ ถึงทำแล้วไม่ได้ขึ้นเงินเดือนแต่เราได้ช่วยเพื่อน
ตอนนี้เจตนาของคุณดีอยู่แล้ว ผมคิดว่าที่เหลือคือจะบอกเพื่อนอย่างไรมากกว่า คนเราถ้าเริ่มต้นด้วยเจตนาดีแล้ว เวลาพูดอะไรออกไป ทั้งสีหน้า แววตา คำพูด มันจะบอกเองว่าเราเจตนาดี ไม่ได้มาเตือนเพื่อทำให้เขาอายหรือมาเพื่อเหยียบย่ำเขา แต่ของแบบนี้มันต้องมีวิธีการพูดกันหน่อย เจตนาดีแค่ไหน แต่ใช้คำพูดผิดก็จบข่าวได้
ก่อนอื่นเราต้องประเมินตัวผู้ฟังก่อนว่าเขาเป็นคนอย่างไร เขาเปิดใจกว้างพอจะรับฟังคนอื่นได้หรือเปล่า เพราะคำแนะนำที่ดีแต่คนฟังใจแคบก็อาจถูกตีความผิดได้ อีกอย่างที่ต้องระวัง แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นอีกมุมและชวนคิดกันสนุกๆ ว่า สมมติว่านี่คือสไตล์การแต่งหน้าของเขาจริงๆ ขึ้นมาล่ะ คือบางคนก็มีความสุขกับสไตล์ของเขาเองอยู่แล้ว และเขาเดินออกมาจากบ้านด้วยความมั่นใจในสไตล์ของเขา แต่เราเกิดไปทักเขา เดี๋ยวจะกลายเป็นทำลายความมั่นใจของเขาได้ ลองนึกว่าก่อนหน้านี้ใครจะมากรีดขอบตาหนาๆ แบบเอมี ไวน์เฮาส์ (Amy Winehouse) กัน แต่พอเธอทำแล้วมันดันเป็นสไตล์ขึ้นมา หรือการแต่งตัวแบบ Vivienne Westwood ซึ่งประหลาดมากแต่นั่นก็เป็นอีกสไตล์ เพื่อนของคุณอาจจะกำลังทำการทดลองทางแฟชั่นอยู่ก็ได้ว่าแต่งหน้าแบบไหนเข้ากับเธอ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ดูให้แน่ก่อนว่าเธอมีปัญหาในการแต่งหน้าจริงๆ หรือนี่เป็นสไตล์ของเธอ อันนี้ผมคิดว่าคุณในฐานะที่รู้จักเพื่อนน่าจะประเมินได้ว่าเธอเป็นอย่างไร เพราะแฟชั่นที่เราแต่งก็เป็น Statement ที่เราบอกกับโลกว่าเราเป็นคนอย่างไร
แต่ถ้าดูทรงแล้วคิดว่านี่น่าจะเป็นการแต่งหน้าที่ไม่เข้ากับเธอจริงๆ เป็นความผิดพลาดไม่ใช่ Statement ทางแฟชั่นอะไรใดๆ ทั้งนั้น การแนะนำเพื่อนก็เป็นสิ่งที่ดีครับ ความเปรี้ยวกับความป้าอยู่ห่างกันแค่นิดเดียว เราต้องช่วยให้เพื่อน ‘เปรี้ยว’ ไม่ใช่ให้เพื่อน ‘ป้า’ เรื่องนี้ผมได้ลองปรึกษากับคุณครูออน-ญาณิมา ศรีมังคละ ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ ครูออนให้หลักการที่ชื่อ ‘หลักการแซนด์วิช’ มาครับ เอาไปใช้ได้กับทุกครั้งที่ต้องคอมเมนต์ใคร
นั่นคือเริ่มต้นด้วยคำชมก่อน บอกในสิ่งที่ดีเกี่ยวกับตัวเขาก่อน ตามด้วยสิ่งที่เราอยากบอกให้เขาปรับปรุงเพื่อทำให้เขาดีขึ้น และปิดท้ายด้วยการให้กำลังใจ เช่น “เราชอบการปัดอายแชโดว์ของเธอมากเลย เป๊ะจริงอะไรจริง แล้วถ้าเปลี่ยนรองพื้นอีกนิดนะ รับรองจะปังมากกว่านี้อีกเธอ!”
ข้อสังเกตคือ เราควรใช้คำว่า “แล้วถ้า” มากกว่า “แต่ว่า” เพราะฟังแล้วอย่างแรกเป็นบวก แต่อย่างหลังเป็นการบอกว่าเขากำลังทำอะไรผิดอยู่ คนฟังจะเสียกำลังใจได้ แล้วลองเปรียบเทียบดูกับประโยคนี้นะครับ “ฉันเห็นเธอแต่งหน้าแล้วเป็นห่วงเธอมากเลย เพราะเธอดูหน้าลอยมาก เลยต้องมาบอกเธอ” แม้ว่านี่คือความจริงที่อยู่ในใจเรา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราควรพูด เผลอๆ คนฟังฟังแล้วอาจจะต่อต้าน หรือรู้สึกลบกับตัวเองหรือลบกับเราอีก เพียงแค่เราปรับคำพูดนิดเดียว เราก็สามารถทำให้คนฟังรู้สึกบวกแล้ว
เวลาในการคอมเมนต์เป็นสิ่งสำคัญมาก เวลาชมใครให้ชมให้คนอื่นรู้ ชมต่อหน้าคนอื่น แต่ถ้าอยากแนะนำให้ใครปรับปรุงเรื่องอะไร ให้คุยกันแค่สองคน ที่สำคัญที่สุดคืออวัจนภาษาทั้งหมด สีหน้า แววตา น้ำเสียง ทุกอย่างต้องเป็นไปในทางบวกให้หมด อย่าไปในทางลบ หรือต่อให้เราเป็นห่วงเพื่อนแค่ไหนว่าถ้าปล่อยให้แต่งหน้าแบบนี้ต่อไปจะต้องอับอายขายหน้าแน่ๆ เราก็ต้องไม่แสดงออกว่าสิ่งที่เพื่อนทำอยู่เป็นเรื่องน่าขายหน้า หรือทำให้เขารู้สึกว่า เราอายที่เห็นเขาเป็นแบบนี้ เราไม่ได้กำลังจะทำให้ใครรู้สึกอับอายขายหน้า แต่กำลังเป็นกำลังใจให้เขาอยู่
คำว่า “เธอสวยนะ” แต่พูดด้วยจริตแบบแอฟ ทักษอร กับ “เธอสวยนะ” จริตแบบนางร้าย คนฟังก็ได้ ‘สาร’ ที่ต่างกัน อีกเรื่องที่ครูออนแนะนำคือ จำเป็นไหมว่าต้องสนิทถึงจะบอกได้ เรื่องนี้อยู่ที่วิธีการบอกอย่างไรมากกว่า จะสนิทหรือไม่สนิทก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ว่าสนิทก็เป็นข้อดีขึ้นมาหน่อย เพราะเราพอจะรู้ใจคนฟังว่าจะพูดอย่างไรเขาจึงจะฟัง หรือรู้ว่าสถานการณ์แบบไหนแปลว่าเขาพร้อมจะรับฟังเรื่องนี้ มันคือการสื่อสารเรื่องความเจตนาดีของเราครับ เช่น สมมติเราเป็นผู้หญิง เห็นเพื่อนผู้ชายลืมรูดซิป แทนที่เราจะกรีดร้องว่า โรคจิต! คนผีทะเล! แบบละคร เราอาจจะใช้วิธีการเขียนโน้ตแล้วยื่นให้พร้อมยิ้มหวานๆ วาดการ์ตูนเป็นรอยยิ้มแถมให้เขาด้วย ให้ดูน่ารัก แต่ไม่ใช่วาดรูปกล้วยลงไปนะครับคุณ หรือใช้วิธีการกระซิบบอกคนใกล้ตัวเขาแทนที่จะบอกตรงๆ ให้ดูว่ามีคนใกล้ตัวเขาที่สามารถช่วยเขาได้หรือไม่ ถ้าดูแล้วมันต้องเป็นเราแล้วล่ะวะที่ต้องบอกเขาตรงๆ
ผมว่าถ้าสนิทกันอยู่แล้ว ชวนเพื่อนดูคลิปสอนแต่งหน้าด้วยกันก็ดีนะครับ แลกเปลี่ยนเคล็ดลับความงามกันไปในตัว บางทีเพื่อนอาจจะไม่รู้ว่าควรต้องทำอย่างไร ของแบบนี้เป็นทักษะ เมื่อทำบ่อยๆ ก็จะเก่งขึ้น เดี๋ยวก็หาสไตล์ของตัวเองเจอ
แล้ววันไหนที่เพื่อนแต่งหน้าสวยแล้ว ก็อย่าลืมให้กำลังใจเพื่อนด้วยว่า เพื่อนสวยแล้ว ด้วยจริตอย่างแอฟ ทักษอร ด้วยนะครับ
* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai