วานนี้ (14 ธันวาคม) กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษเปิดเผยว่า กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G7 ร่วมด้วยนอร์เวย์และเดนมาร์ก อนุมัติข้อตกลงในการจัดสรรเงินทุนมูลค่า 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับเวียดนาม เพื่อเดินหน้าลดการใช้งานถ่านหินในประเทศ และเปลี่ยนมาสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
แถลงการณ์จากทั้ง 9 ประเทศระบุว่า วัตถุประสงค์ของการมอบเงินทุนครั้งนี้คือการช่วยเหลือเวียดนามให้สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกัน เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ข้อตกลง Just Energy Transition Partnership ฉบับที่จัดทำร่วมกับเวียดนามนี้ นับเป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 3 ที่กลุ่มประเทศ G7 ได้ลงนามร่วมกับชาติอื่นๆ โดยเมื่อปีที่แล้ว G7 เคยได้ลงนามข้อตกลงลักษณะเดียวกันนี้กับแอฟริกาใต้ และลงนามร่วมกับอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสการกดดันให้ชาติร่ำรวยที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเร่งให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับภาวะโลกรวน รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดที่จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง
กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษระบุว่า เงินทุนจำนวน 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์นี้จะมาจากทั้งภาครัฐและนักลงทุนภาคเอกชน โดยจะมีการจัดสรรให้เวียดนามตลอดช่วง 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าข้อตกลงนี้จะช่วยให้เวียดนามมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดได้ภายในปี 2030 ซึ่งเร็วกว่าระดับคาดการณ์ก่อนหน้าที่ปี 2035 และจะมีการจำกัดการผลิตถ่านหินสูงสุดไว้ที่ 30.2 กิกะวัตต์ จากแผนเดิมที่ 37 กิกะวัตต์ พร้อมตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 เวียดนามจะมีอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ 47% ของพลังงานทั้งหมด
ทั้งนี้ เวียดนามเป็นหนึ่งในชาติที่มียอดการใช้ถ่านหินสูงสุด 20 อันดับแรกของโลก โดยก่อนหน้านี้เวียดนามมีกำหนดจะลงนามในข้อตกลง Just Energy Transition Partnership กับกลุ่มประเทศ G7 ในการประชุมสุดยอด COP27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน แต่การเจรจาระดับสูงหยุดชะงักลงก่อนที่การประชุมจะเปิดฉากขึ้น แต่เพื่อโน้มน้าวให้เวียดนามสนับสนุนข้อเสนอนี้ คณะเจรจาของชาติตะวันตกซึ่งนำโดยสหภาพยุโรปและอังกฤษได้พยายามเสนอเงินทุนเพิ่มเติมให้กับเวียดนามหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่า ในจำนวนเงิน 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์นั้น จะเป็นทุนแบบให้เปล่าเพียงแค่ส่วนน้อย โดยทุนส่วนใหญ่จะเป็นในรูปการปล่อยสินเชื่อ
ภาพ: In Pictures Ltd. / Corbis via Getty Images
อ้างอิง: