บรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 และสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ต่างออกมายืนยันความร่วมมืออย่างใกล้ชิดหลังเกิดเหตุโจมตีด้วยขีปนาวุธร้ายแรงหลุดเข้ามาในเขตแดนของโปแลนด์ หนึ่งในสมาชิก NATO ท่ามกลางสงครามยืดเยื้อของรัสเซียในยูเครน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า หลังจากการประชุมนอกรอบ G20 อย่างเร่งด่วนบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ บอกกับนักข่าวว่า “ไม่น่าเป็นไปได้” ที่ขีปนาวุธที่ล้ำเข้ามาในชายแดนของโปแลนด์จะถูกยิงจากรัสเซีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘จีน’ ผนึก ‘รัสเซีย’ ดันสกุลเงินกลุ่ม BRICS เป็นทางเลือกชำระเงิน หวังคานอำนาจดอลลาร์สหรัฐ
- ‘สีจิ้นผิง’ ขึ้นเวที G20 เรียกร้องประชาคมโลกจับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเรากำลังจะเป็นเจ้าภาพ
อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ ขีปนาวุธที่ผลิตโดยรัสเซียได้โจมตีเมืองเพรซโวดาว หมู่บ้านทางตะวันออกของโปแลนด์ใกล้กับชายแดนยูเครน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 พฤศจิกายน) คร่าชีวิตประชาชนไป 2 คน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการระดมยิงครั้งใหญ่ทั่วยูเครน โดยโครงสร้างพื้นฐานสำคัญตกเป็นเป้าหมายของกองทัพรัสเซียในเวลานั้น
สำนักข่าว AP รายงานว่า ผลการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่า ขีปนาวุธดังกล่าวเปลี่ยนทิศทางเพราะกองกำลังยูเครนยิงขีปนาวุธใส่ขีปนาวุธรัสเซียที่พุ่งเข้ามา
ด้านสำนักข่าว TASS ของรัสเซีย รายงานว่า นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การรุกรานยูเครนของรัสเซียซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ที่อาวุธของรัสเซียตกลงใส่ประเทศในกลุ่ม NATO ซึ่งไบเดนให้คำมั่นว่าจะปกป้อง โดยทางกระทรวงกลาโหมของรัสเซียได้ออกมายืนกรานปฏิเสธความรับผิดชอบ และว่ากองทัพของตนไม่ได้มีเป้าหมายโจมตีที่เขตชายแดนยูเครน-โปแลนด์แต่อย่างใด
รายงานระบุว่า ในระหว่างการประชุมฉุกเฉินของผู้นำกลุ่ม G7 และ NATO นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ แสดงความกังวลอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมย้ำมุมมองของตนว่าสถานการณ์โดยรอบยูเครนเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบพื้นฐานของระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งแยกไม่ออกจากความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกหลังการประชุมผู้นำกลุ่ม G7 สเปน และเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า “เราประณามการโจมตีด้วยขีปนาวุธป่าเถื่อนที่รัสเซียกระทำต่อเมืองต่างๆ ของยูเครน และโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนเมื่อวันอังคาร” พร้อมยังตกลงที่จะให้ “การสนับสนุนอย่างเต็มที่” สำหรับการสอบสวนที่กำลังดำเนินอยู่ในโปแลนด์ และ “ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป ในขณะที่การสอบสวนดำเนินไป” พร้อมย้ำถึงการสนับสนุนอย่างแน่วแน่ต่อยูเครนในขณะที่กำลังเดินหน้าต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย
ขณะเดียวกัน ในส่วนของการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวานนี้ (16 พฤศจิกายน) บรรดาผู้นำกลุ่ม G20 สามารถบรรลุฉันทมติในการออกปฏิญญาประณามสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน แต่ไม่มีการระบุถึงรัสเซียแต่อย่างใด พร้อมกับย้ำว่าโลกยุคปัจจุบันจะต้องไม่มีสงคราม
รายงานระบุว่า ปฏิญญาดังกล่าวชี้ถึงความจำเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและระบบพหุภาคี เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ รวมทั้งแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจผ่านทางความร่วมมือด้านนโยบายมหภาคระหว่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนี้ ทางผู้นำ G20 ยังได้ออกโรงเรียกร้องให้มีการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มความร่วมมือด้านสาธารณสุขในระดับโลก
ด้าน ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซียในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม ได้ประกาศปิดการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 อย่างเป็นทางการ พร้อมกับยื่นค้อนประธานส่งมอบให้แก่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งรับตำแหน่งประธานกลุ่ม G20 ในปี 2023
อ้างอิง: