×

เปิดแผนเงินกู้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ G7 ไฟเขียวช่วยยูเครน เงินมาจากไหน จัดสรรอย่างไร

โดย THE STANDARD TEAM
17.06.2024
  • LOADING...
G7

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 มีมติเห็นชอบให้นำรายได้จากทรัพย์สินของรัสเซียที่ถูกอายัดไว้มาเป็นเงินกู้ให้แก่ยูเครนจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเคียฟต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซียต่อไป และเพื่อส่งสัญญาณท่าทีของชาติตะวันตกต่อมอสโก

 

ผู้นำประเทศสมาชิก G7 ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสหภาพยุโรป เห็นชอบแผนดังกล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอด ณ รีสอร์ตหรู Borgo Egnazia ทางตอนใต้ของอิตาลี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน หลังจากที่มีการเจรจาอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลาหลายเดือน และหลังจากที่ในตอนแรก วอชิงตันตั้งใจจะยึดทรัพย์สินเหล่านั้นเอาไว้เอง แต่เผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประเทศต่างๆ ในยุโรป 

 

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวเผยว่า แม้บรรดาผู้นำมีมติรับแผนเงินกู้ดังกล่าว แต่ยังเป็นเพียงการตกลงในหลักการ โดยยังมีคำถามสำคัญบางข้อที่ยังคงต้องหาคำตอบเพื่อให้แผนเงินกู้ดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้

 

เหตุใด G7 จึงเห็นชอบแผนเงินกู้นี้

 

ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปได้เห็นชอบแผนการที่จะดึงเอาผลกำไรจากทรัพย์สินของรัสเซียที่ยึดไว้ไปใช้เป็นเงินทุนด้านอาวุธและความช่วยเหลืออื่นๆ ให้แก่ยูเครนอยู่แล้ว แต่วอชิงตันผลักดันให้เร่งรัดเบิกจ่ายเงินรายได้จากทรัพย์สินดังกล่าวออกมาเป็นเงินก้อนเพื่อมอบแก่ยูเครน

 

ผู้นำ EU เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากจะช่วยลดโอกาสที่ยูเครนอาจขาดเงินทุน หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อยูเครน คว้าชัยได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ หรือรัฐสภาสหรัฐฯ ระงับการให้เงินช่วยเหลือแก่ยูเครนดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้

 

เงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์จะมาจากไหน

 

เงินกู้ดังกล่าวจะมาจากการจัดสรรของชาติสมาชิก G7 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น รวมไปถึงสหภาพยุโรป โดยทางกลุ่มจะนำดอกเบี้ยจากทรัพย์สินของรัสเซียที่แต่ละประเทศอายัดไว้มาปล่อยกู้ให้แก่ยูเครน

 

ทั้งนี้ ทรัพย์สินของรัสเซีย เช่น เงินสำรองของธนาคารกลางราว 2.6 แสนล้านยูโร (2.81 พันล้านดอลลาร์) ถูกอายัดภายใต้มาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกบังคับใช้หลังจากที่มอสโกเปิดฉากบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022

 

ทรัพย์สินประมาณ 1.9 แสนล้านยูโรถูกเก็บไว้ใน Euroclear ซึ่งเป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์กลางในเบลเยียม ทำให้ EU เป็นผู้เล่นหลักในแผนการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าว ขณะที่สหรัฐอเมริกายึดครองทรัพย์สินรัสเซียอยู่ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์

 

สมาชิก G7 แต่ละชาติจะให้เงินกู้แก่ยูเครนกันเท่าไรบ้าง

 

ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดจำนวนเงินแน่นอนที่แต่ละชาติจะต้องรับผิดชอบ 

 

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ รายหนึ่งเผยว่า วอชิงตันได้รับไฟเขียวจากสภาคองเกรสให้ปล่อยกู้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์แก่ยูเครน แต่ขณะเดียวกันก็คาดว่าประเทศอื่นๆ จะอนุมัติเงินกู้แก่ยูเครนด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นจะช่วยลดจำนวนเงินกู้ในส่วนของวอชิงตัน

 

ด้านเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปเผยกับ Reuters ว่า EU ซึ่งรวมถึง 3 ประเทศสมาชิก G7 อย่างฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี สามารถจัดสรรเงินได้ประมาณครึ่งหนึ่งของแผนเงินกู้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่แคนาดากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (13 มิถุนายน) ว่า พร้อมที่จะสมทบเงินกู้ 5 พันล้านดอลลาร์

 

ยูเครนจะได้รับเงินเมื่อไร

 

เงินสดส่วนหนึ่งจะมาถึงภายในสิ้นปีนี้ และบางส่วนจะทยอยมาหลังจากนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของยูเครนในการรับและเบิกจ่ายเงิน จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว 2 ราย

 

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเผยว่า ช่องทางการเบิกจ่ายนั้นจะแบ่งเป็นหลายช่องทาง ซึ่งสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น การทหาร งบประมาณ การฟื้นฟู และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 

 

นั่นจะเปิดทางให้ญี่ปุ่น ซึ่งไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการทหารในต่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ สามารถเข้าร่วมในแผนเงินกู้ได้

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากทรัพย์สินถูกยกเลิกอายัด

 

มาตรการคว่ำบาตรของ EU ในการอายัดทรัพย์สินของรัสเซียนั้นจะมีการต่ออายุทุกๆ 6 เดือน ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ

 

นั่นทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ฮังการี ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมอสโก อาจขัดขวางการต่ออายุและยกเลิกการอายัดทรัพย์สินดังกล่าว

 

เจ้าหน้าที่เผยว่า EU กำลังสำรวจทางเลือกต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว เช่น ไม่ต้องต่ออายุบ่อยๆ  หรือการออกกฎหมายเพื่อเปิดทางให้สามารถอายัดทรัพย์สินต่อไปได้

 

ชาติตะวันตกคาดว่า หากยูเครนและรัสเซียบรรลุข้อตกลงสันติภาพ ทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ดังกล่าวอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของเงินชดเชยที่ยูเครนจะได้รับ ซึ่งเคียฟจะสามารถนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ได้

 

รัสเซียมีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้

 

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 มิถุนายน) วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวถึงการยึดทรัพย์สินของมอสโกโดยชาติตะวันตกว่าเป็น ‘การขโมย’ และการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษ

 

ด้าน มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า การตอบสนองของมอสโกต่อแผนการของ G7 จะสร้างความเจ็บปวดอย่างมากให้กับ EU

 

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ประกาศว่า ดอกเบี้ยที่เกิดจากทรัพย์สินที่อายัดไว้นั้นถือเป็น ‘ลาภลอย’ ซึ่งรัสเซียไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ

 

ภาพ: Ludovic MARIN / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising