×

ที่ประชุม G20 ป่วนหนัก สหรัฐฯ นำทัพวอล์กเอาต์ประท้วงรัสเซียกรณีบุกยูเครน

21.04.2022
  • LOADING...
G20

ถือเป็นการเปิดฉากการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G20 ครั้งประวัติศาสตร์ที่ต้องจดจำ เมื่อสมาชิกส่วนหนึ่ง นำทัพโดยสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจวอล์กเอาต์ หรือเดินออกจากที่ประชุมทันทีที่รัฐมนตรีคลังรัสเซียขึ้นเวทีกล่าวถ้อยแถลงเพื่อประท้วงรัสเซียกรณีบุกโจมตียูเครน

 

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แอนตัน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีคลังรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมผ่านทางออนไลน์ ขณะที่เจ้าหน้าที่การเงินการคลังของรัสเซียอีกส่วนหนึ่งเข้าร่วมการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน

 

ด้านสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ พร้อมด้วย เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เป็นผู้นำการวอล์กเอาต์จากที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G20 ที่กรุงวอชิงตัน ทันทีที่ แอนตัน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีคลังรัสเซียกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม โดยมีตัวแทนจากชาติตะวันตกหลายราย รวมถึงพันธมิตรเหนียวแน่นอย่างอังกฤษ แคนาดา และยูเครน เข้าร่วมการเดินออกจากที่ประชุมเพื่อแสดงการประท้วงต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

 

นอกจากนี้มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่จากบางชาติที่เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ปิดกล้องของตนเองในขณะที่เจ้าหน้าที่รัสเซียขึ้นกล่าวถ้อยแถลงเพื่อเป็นการประท้วง 

 

ด้าน คริสเทีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีคลังแคนาดา ได้ทวีตข้อความระบุว่า โลกแห่งประชาธิปไตยจะไม่ทนอยู่เฉยในการเผชิญหน้ากับความก้าวร้าวของรัสเซีย ซึ่งอยู่ในฐานะอาชญากรสงคราม พร้อมแสดงรูปแบบบรรดารัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ที่วอล์กเอาต์อย่าง เยลเลน, พาวเวลล์ และ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 

ความเคลื่อนไหวของเยลเลนในครั้งนี้เป็นไปตามที่มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมวงเสวนาในการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีคลัง G20 ที่มีตัวแทนจากรัสเซียเข้าร่วม โดยเยลเลนได้แสดงจุดยืนต่อหน้าคณะกรรมการบริการการเงินรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ตนเองมีความเห็นสอดคล้องกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติต่อรัสเซียที่ไม่สมควรได้รับความร่วมมือทางธุรกิจใดๆ จากบรรดาสถาบันการเงินทั้งหลาย และได้แจ้งต่อทางผู้จัดงาน G20 เรียบร้อยแล้วว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมการประชุมหากว่ามีตัวแทนจากรัสเซียเข้าร่วม

 

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า รัสเซียไม่สมควรเป็นสมาชิกของกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ หรือ G20 เพื่อป้องกันไม่ให้รัสเซียใช้เวที G20 ในการหาแนวร่วมสนับสนุนจากชาติสมาชิก ซึ่งข้อเสนอให้ขับรัสเซียออกจาก G20 ได้รับการคัดค้านจากจีน

 

กลุ่มประเทศ G20 ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของ GDP โลก ในครั้งนี้มีวาระการประชุมหลักอยู่ที่การร่วมมือกันหาแนวทางรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิดกับราคาอาหารและพลังงานที่แพงขึ้น ตลอดจนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงการพิจารณาข้อเรียกร้องให้ขับรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม G20

 

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความแตกแยกภายในกลุ่ม G20 ที่มีชนวนสงครามยูเครนเป็นสาเหตุหลัก ทำให้หลายฝ่ายหวั่นใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อความร่วมมือโดยรวมของกลุ่ม G20 ท่ามกลางความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญปัจจัยคุกคามรอบด้าน เช่น สงคราม โควิด เงินเฟ้อ นโยบายรัดเข็มขัดของธนาคารกลาง และการหยุดชะงักของระบบซัพพลายเชน จนทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตัดลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือ 3.6%

 

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ในขณะที่ชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ แสดงจุดยืนสนับสนุนสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ สมาชิกที่เหลืออย่างบราซิล อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ก็แสดงจุดยืนเคียงข้างรัสเซียในการประชุม G20 ในครั้งนี้ ที่จัดขึ้นร่วมกับการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิของ IMF และ World Bank

 

ก่อนหน้าที่จะเริ่มการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ไม่นาน คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF ได้ออกมาเรียกร้องขอให้ชาติสมาชิกคำนึงถึงส่วนรวม และร่วมมือกันฝ่าฟันวิกฤตในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ กระนั้น รายงานระบุว่าปมสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มที่ทางที่ประชุม G20 จะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันใดๆ หลังการประชุม

 

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กำลังวางแผนที่จะจัดการประชุมระดับทวิภาคีกับเยลเลน ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองจะหยิบยกประเด็นค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากนโยบายการเงินของ Fed ที่หันมารัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด สวนทางกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ยังคงใช้มาตรการแบบผ่อนคลาย

 

ทั้งนี้ กลุ่ม G20 ตั้งขึ้นในปี 1999 เพื่อหารือนโยบายในการสร้างเสถียรภาพต่อระบบการเงินโลกหลังเกิดวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ ในปี 1997 ที่ทำให้เงินบาททรุดตัวลง และส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินระหว่างประเทศ โดยชาติสมาชิกประกอบด้วยอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU)

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising