×

อนาคตใหม่ ปีกแรงงาน LGBT รับฟังปัญหาสิทธิ-สวัสดิการในสถานประกอบการ ชี้ยังมีความเหลื่อมล้ำ

โดย THE STANDARD TEAM
14.09.2019
  • LOADING...

วันนี้ (14 ก.ย.) เวลา 13.00 น. ที่ BFC Ckub House ถนนบางนา-ตราด (กม.42) ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ปีกแรงงาน และ LGBT นำโดย วรรณวิภา ไม้สน ส.ส. บัญชีรายชื่อ, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร่วมเสวนารับฟังปัญหา หัวข้อ ‘สิทธิ สวัสดิการ และความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถานประกอบการ’ โดยมี จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส. ฉะเชิงเทรา เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ กลุ่มคนใช้แรงงานที่เป็น LGBT ต้องการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการและหัวหน้างานให้สิทธิการทำงานโดยเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ​ โดยที่ผ่านมา กลุ่มคนแรงงานที่เป็น LGBT ถูกกดดันและเลือกปฏิบัติ​อย่างไม่เป็นธรรม​ภายในสถานประกอบการ​ต่างๆ

 

ประชาชนที่เข้ามารับฟังงานเสวนาในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน LGBT ที่ได้รับผลกระทบในหน้าที่การงาน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ จึงถูกเลือกปฏิบัติ แม้จะมีความสามารถและมีความเป็นผู้นำ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เพราะโดนกีดกันการดำรงตำแหน่งต่างๆ ภายในสถานประกอบการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมภายในสังคม และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมไม่พัฒนา เนื่องจากเป็นการกีดกันบุคลากรที่มีคุณภาพ ไม่มีพื้นที่ได้แสดงผลงาน โดยในช่วงระหว่างการเสวนา มีการสะท้อนปัญหาในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน ไปจนถึงนักศึกษา ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ บ้างว่าถูกมองด้วยสายตาที่เหยียดหยาม บ้างโดนกีดกันการจ้างงาน หรือปฏิเสธการจ้างงาน

 

วรรณวิภากล่าวว่า เรื่อง LGBT กับการทำงาน เรื่องโครงสร้างกับความเหลื่อมล้ำ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราควรจะสร้างความคิดพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมให้กับคนรอบข้าง ก่อนที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ และหากพูดถึงในเรื่องของกฎหมายแรงงาน สิ่งที่ยากที่สุดคือ การนำกฎหมายที่ออกมาไปใช้ได้จริง และใช้อย่างเท่าเทียม ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงมีนโยบายรัฐสวัสดิการที่เห็นคนเป็นคน และคนทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย และความเท่าเทียมกันนี้ครอบคลุมถึงกลุ่มคน LGBT ไม่ว่าจะเพศไหน หน้าตาเป็นอย่างไร รวยหรือจน เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่เสียภาษีเหมือนกัน และตราบใดที่เรายังมองคนเป็นคน และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ปัญหาความกดขี่ กดทับ และเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างจะค่อยๆ หมดไป

.

ธัญญ์วารินกล่าวว่า ความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชาย เราทุกคนไม่มีโอกาสด้วยซ้ำที่จะเลือกได้ด้วยตัวเอง ตอนเกิดก็ถูกกำหนดเพศโดยอวัยวะเพศ เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก มีจิตใจเหมือนกัน แต่ถูกสังคมกำหนดว่าเราคือเพศอะไร โดยที่ไม่สามารถเลือกได้เอง สิ่งเหล่านี้เป็นสังคมที่กำหนดให้เกิดความไม่เท่าเทียม สังคมกำหนดผู้ชายให้เป็นช้างเท้าหน้า ขณะที่ผู้หญิงบางคนมีศักยภาพความเป็นผู้นำมากกว่า ก็จะเกิดปัญหาทันที นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน ตนอยากเรียกร้องเพียงความธรรมดาที่เราสามารถเลือกที่จะเป็นได้ นี่คือความต้องการพื้นฐานที่มนุษย์ควรมี คนทุกคนแต่งตัวออกจากบ้าน ไม่ว่าจะใส่เสื้อ กางเกง หรือกระโปรง ล้วนเป็นสิทธิของคนแต่ละคน แต่ทำไมคนหลากหลายทางเพศไม่มีสิทธิแม้แต่เลือกที่จะใส่เสื้อผ้าด้วยซ้ำ การทำงาน การเรียน วัดกันที่ความสามารถ ไม่ได้วัดกันที่รสนิยมทางเพศหรือการแต่งกาย เราควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการแต่งกายออกจากบ้าน ไม่ว่าจะไปทำงานหรือไปเรียน เพื่อให้ได้ใช้สมองอย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

ด้านธัญวัจน์กล่าวว่า คนหลากหลายทางเพศไม่ได้หมกมุ่นเรื่องเพศ แต่สังคมต่างหากที่บอกว่ากลุ่มคนเหล่านี้หมกมุ่นเรื่องเพศ เด็กนักเรียนผู้ชายใส่กางเกง เด็กนักเรียนผู้หญิงใส่กระโปรง นี่คือตัวอย่างที่เป็นตัวกำหนดให้สังคมหมกมุ่นเรื่องเพศ ความเป็นเพศกักขังความคิดที่สร้างสรรค์ สังคมมองว่า คนหลากหลายทางเพศเป็นคนผิดปกติหรือตัวตลก ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เราจึงต้องลบอคติเรื่องเพศออกไป และเพิ่มความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันให้มากขึ้น หากเราทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน จะทำให้สังคมน่าอยู่ เราจะต้องก้าวออกจากกรอบทางเพศ เพื่อที่จะทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพื่อที่จะทำให้คนกล้าแสดงศักยภาพของตัวเอง เราต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะเราคือมนุษย์คนหนึ่งในโลกใบนี้ แล้วสังคมตอนนี้จะเอาการกำหนดเรื่องเพศออกได้อย่างไร

 

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า พ.ร.บ. แรงงานปัจจุบันเขียนความเท่าเทียมทางเพศไว้แต่ชาย-หญิงเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นั่นทำให้สังคมไทยในปัจจุบันยังมองคนไม่เท่ากัน ยังมองกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างไม่เท่าเทียม 

 

ทั้งนี้ วิทยากรทุกคนมีความคิดกับปัญหาสิทธิความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมทางเพศคล้ายๆ กัน นั่นคือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและความคิดของคนในสังคมที่กำหนดสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม การมองคนให้เป็นคนจะช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม โดยในช่วงท้าย วิทยากรทั้งสี่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนถาม-ตอบอย่างทั่วถึง และบรรยากาศเป็นไปอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X