×

เปิดคำสั่งฉบับเต็ม! เด้ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์-ลูกน้อง 4 นาย ออกจากราชการ รักษาการ ผบ.ตร. ไม่กังวล ย้ำทำตามขั้นตอน

โดย THE STANDARD TEAM
18.04.2024
  • LOADING...
เผยถึง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล

วันนี้ (18 เมษายน) พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) มีหนังสือคำสั่งที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ใจความว่า 

 

ด้วยข้าราชการตำรวจดังต่อไปนี้ 

 

  • พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  • พ.ต.อ. กิตติชัย สังขถาวร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
  • พ.ต.ท. คริษฐ์ ปริยะเกตุ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธร พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
  • ส.ต.อ. ณัฐวุฒิ หวัดแวว ผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่จราจร) งานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร
  • ส.ต.อ. ณัฐนันท์ ชูจักร ผู้บังคับหมู่ งานสายตรวจ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร

 

มีกรณีถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน กรณีมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ ชื่อ BNK Master จนถูกดำเนินคดีอาญาและถูกศาลอาญาออกหมายจับในความผิดฐาน ‘สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการทำผิดฐานฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน’ 

 

มีเหตุผลให้พักราชการได้ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ข้อ 3 (1) คือถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา โดยผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการตำรวจ มีหน้าที่และอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แต่กลับต้องหาว่ากระทำผิดทางอาญาเสียเอง ซึ่งเป็นคดีสำคัญ

 

ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง ถ้าให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการได้ ประกอบกับได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาที่เป็นเหตุให้สั่งพักราชการนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 115, 108, 131 และ 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ประกอบกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2549 ข้อ 8 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 118/2567 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทน 

 

จึงให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล กับพวก รวม 5 นาย ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

อนึ่ง ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 141 ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง 

 

และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 90 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์

 

รักษาการ ผบ.ตร. ไม่กังวล ยืนยันทำตามขั้นตอน

 

ด้าน พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ตนเซ็นคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ พร้อมกับนายตำรวจอีก 4 นาย รวมเป็น 5 นาย ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น เป็นไปตามระเบียบ หลังจากนั้นจะมีการรายงานพฤติการณ์แห่งคดี และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ก็ได้รายงานเรื่องที่ตัวเองต้องคดีไปตามกระบวนการ ก่อนส่งต่อให้กองวินัยพิจารณาตามขั้นตอน 

 

พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ระบุอีกว่า ตนมีอำนาจเต็มแม้จะเป็นรักษาราชการแทน และเป็นคนเซ็นให้ออกจากราชการ ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ส่วนที่รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ต้องมีการส่งตัวกลับมาตามระเบียบ 

 

ทั้งนี้การสั่งออกจากราชการไว้ก่อนมีผลทันทีตั้งแต่ 18 เมษายน และที่ต้องออกจากราชการไว้ก่อน เพราะกระบวนการสอบวินัยใช้เวลานาน ซึ่ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอน ยืนยันว่าไม่ได้กังวลหรือหวั่นไหวใดๆ เพราะทำงานตามระเบียบ แม้ตนจะเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. เช่นเดียวกับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ก็ต้องทำงานตามขั้นตอน 

 

ส่วนคดีของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ตอนนี้เป็นคดีอยู่ที่ สน.เตาปูน ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน โดยคดีดังกล่าวนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นตำแหน่ง ผบ.ตร.

 

คดีกระทบภาพลักษณ์ สตช. อย่างร้ายแรง

 

ขณะที่ พล.ต.ท. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นอำนาจของ รรท.ผบ.ตร. ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรง หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ หากให้อยู่ในหน้าที่อาจเกิดความเสียหายแก่ราชการได้ 

 

นอกจากนี้ผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีการกระทำความผิดร่วมกับข้าราชการตำรวจและพลเรือนหลายคน ตำรวจซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดอาญา แต่กระทำผิดเอง ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อย่างร้ายแรง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising