สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ศาลแขวงใต้ของรัฐนิวยอร์กในสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อหาทางอาญารวม 8 ข้อหาต่อ แซม แบงก์แมน ฟรายด์ (Sam Bankman-Fried หรือ SBF) ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปเตอร์เคอร์เรนซี FTX หลังทางการสามารถจับกุมตัว Bankman-Fried ได้ที่บ้านของเจ้าตัวในบาฮามาสเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ธันวาคม)
ทั้งนี้ ทางอัยการสูงสุดของบาฮามาสออกแถลงการณ์ระบุว่า การจับกุมตัว SBF เกิดขึ้นหลังจากทางการสหรัฐฯ แจ้งว่าได้ยื่นฟ้อง SBF ในคดีอาญา โดยขณะนี้หน่วยงานสหรัฐฯ และบาฮามาสกำลังตรวจสอบว่า SBF มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มละลายของ FTX หรือไม่
ด้าน เดเมียน วิลเลียมส์ อัยการประจำศาลแขวงใต้ของรัฐนิวยอร์กในสหรัฐฯ กล่าวว่า การจับกุมตัว SBF เป็นไปตามคำร้องขอของรัฐบาลสหรัฐฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- แซม แบงก์แมน ฟรายด์ อดีตซีอีโอ FTX ถูกไต่สวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานกำกับในบาฮามาส
- Sam Bankman-Fried ลาออกจากซีอีโอ FTX พร้อมยื่นล้มละลายอย่างเป็นทางการ
- ขนหน้าแข้งไม่ร่วง! ‘Sequoia Capital’ เผยบันทึกมูลค่าการลงทุนทางบัญชีกว่า 7 พันล้านบาทใน FTX เป็น ‘0’ แล้ว
รายงานระบุว่า ทางอัยการในเขตทางตอนใต้ของนิวยอร์กได้เปิดคำฟ้องเมื่อวันอังคาร โดยตั้งข้อหา SBF ด้วยการฉ้อโกง และข้อหาสมรู้ร่วมคิดหลายกระทง รวมถึงการสมรู้ร่วมคิดในการฉ้อโกงนักลงทุน ผู้ให้กู้ และสหรัฐฯ กระทำการฉ้อโกงสินค้าโภคภัณฑ์ หลักทรัพย์ และการฟอกเงิน และละเมิดกฎหมายการเงิน
นอกจากนี้ทางอัยการยังกล่าวหาว่า SBF สมรู้ร่วมคิดกับผู้อื่นในแผนการมากมาย รวมถึงการใช้เงินฝากของลูกค้าใน FTX ในทางที่ผิด ซึ่งใช้เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายของ Alameda อีกทั้ง SBF ยังถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงผู้ให้กู้แก่ Alameda โดยให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของกองทุนเฮดจ์ฟันด์
ขณะเดียวกันนอกจากการตั้งข้อหาจากศาลแล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ SEC ยังได้สั่งฟ้อง SBF ฐานฉ้อโกงนักลงทุนอีกด้วย
ทั้งนี้ เอกสารคำร้องของ SEC ที่ยื่นต่อศาลระบุว่า SBF สามารถระดมทุนได้มากกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์จากบรรดานักลงทุนในคริปโต นับตั้งแต่ปี 2019 จากแพลตฟอร์ม FTX ด้วยการโฆษณาว่าเป็นช่องทางที่ปลอดภัยในการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ก่อนถ่ายโอนเงินลงทุนของลูกค้าไปยังกองทุนส่วนตัวของตัวเองอย่าง Alameda Research LLC โดยมิได้แจ้งให้ลูกค้าทราบ
ยิ่งไปกว่านั้น SBF ยังผสมเงินทุนต่างๆ ของลูกค้าในกองทุนดังกล่าวและนำไปลงทุนส่วนตัว รวมทั้งซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาแพง และบริจาคให้นักการเมือง โดยไม่มีการเปิดเผยต่อลูกค้าและนักลงทุนใน FTX แต่อย่างใด ดังนั้นจึงเข้าข่ายฉ้อโกง
แถลงการณ์ของ แกรี เจนส์เลอร์ ประธาน SEC สหรัฐฯ ระบุว่า SBF ก่อร่างสร้างบริษัทด้วยพื้นฐานของการหลอกลวง โดยการโกหกนักลงทุนว่าการลงทุนในคริปโตเป็นการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมาธิการการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดฟิวเจอร์ส (The Commodity Futures Trading Commission) ยังตั้งข้อหาอดีตซีอีโอ FTX วัย 30 ปีรายนี้อีกหนึ่งกระทงต่างหาก ควบคู่ไปกับข้อหาของทาง SEC
รายงานระบุว่า ท่าทีความเคลื่อนไหวทั้งหมดของทางการสหรัฐฯ เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า SBF อาจจะต้องเผชิญข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกหลายกระทง โดย SEC เปิดเผยว่าขณะนี้มีการสอบสวนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ ‘การละเมิดกฎหมายหลักทรัพย์อื่นๆ’ และในหน่วยงานและบุคคลอื่นๆ
คดีความทั้งหมดของ SBF มีขึ้นหลังจากที่ทาง FTX ได้ยื่นเรื่องต่อศาลสหรัฐฯ ตามมาตรา 11 เพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลายเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่นานหลังจากที่ทาง Binance บริษัทซื้อขายคริปโตรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศยกเลิกข้อตกลงซื้อกิจการ FTX ซึ่งการล้มละลายดังกล่าวส่งผลให้ทั้ง FTX และ SBF เผชิญกับการสอบสวนจากทั้งหน่วยงานของสหรัฐฯ และบาฮามาส ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ FTX
อย่างไรก็ตาม มีรายงานระบุว่าทางการสหรัฐฯ ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบ FTX มานานหลายเดือนแล้วก่อนที่บริษัทจะล้มละลาย โดยการตรวจสอบมุ่งเน้นไปยังประเด็นที่ว่า FTX ดำเนินการตามข้อกฎหมาย Bank Secrecy Act ของสหรัฐฯ หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมานั้นทางการสหรัฐฯ ใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อกำหนดให้สถาบันการเงินใช้มาตรการป้องกันการฟอกเงินและการระดมเงินเพื่อการก่อการร้าย และเพื่อตรวจสอบแพลตฟอร์มคริปโตที่กล่าวอ้างอย่างผิดๆ ว่าไม่ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในสหรัฐฯ
วันเดียวกัน หลังจากมีรายงานการตั้งข้อหาดังกล่าว ทางจอห์น เรย์ ผู้บริหารคนใหม่ของ FTX ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า แนวทางการจัดการที่ไม่ดีและผู้นำที่ไม่มีประสบการณ์นำไปสู่การล้มละลายของ FTX
“การล่มสลายของกลุ่ม FTX ดูเหมือนจะมีสาเหตุมาจากการกระจุกตัวของการควบคุมในมือของกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่มีประสบการณ์และไม่มีความรู้ความสามารถ” เรย์กล่าว และเพิ่มเติมว่า แทบไม่มีความแตกต่างระหว่างการดำเนินงานของ FTX และ Alameda Research ซึ่งเป็นบริษัทการค้าคริปโตของ SBF ซึ่งยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแพลตฟอร์ม FTX
เรย์ยังกล่าวต่อคณะกรรมการบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ (US House of Representatives Financial Services Committee) ว่าภายในบริษัทไม่มีการเก็บบันทึกหรือระบบการควบคุมภายในใดๆ เลย แถมยังต้องตกใจอย่างมากเมื่อรู้ว่าองค์การมูลค่ามหาศาลอย่าง FTX ใช้ QuickBooks ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่มุ่งสู่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง สำหรับการบัญชีและการอนุมัติใบแจ้งหนี้ผ่านข้อความ Slack
ขณะเดียวกันเรย์ยอมรับว่าไม่เชื่อในรายงานงบการเงินที่ตรวจสอบแล้วก่อนหน้า เนื่องจากบริษัทสูญเสียเงินของลูกค้าไปถึง 8 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้นจึงไม่อาจวางใจในกระดาษที่ยืนยันเพียงแค่แผ่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งอาจต้องใช้เวลายาวนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เพื่อรักษาทรัพย์สินทั้งหมด และยอมรับว่ากระบวนการทั้งหมดอาจใช้เวลายาวนาน
อ้างอิง: