×

‘From Barriers to Bridges’ การประชุมเรื่องสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ ครั้งแรกของเอเชีย เปิดฉากขึ้นแล้ว

20.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ‘From Barriers to Bridges’ คือ เวทีการประชุมระดับเอเชียที่ใช้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และค้นหารูปแบบการบริการสุขภาพที่เป็นมิตรและยึดถือผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการบริการด้าน HIV ในกลุ่มคนข้ามเพศ
  • จากรายงานล่าสุดของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่า คนข้ามเพศ (Transgender) นั้นมีโอกาสติดเชื้อ HIV มากกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปสูงถึง 49 เท่า และอัตราการเข้ารับบริการสุขภาพในกลุ่มคนข้ามเพศยังคงมีอัตราที่ต่ำมาก

     การประชุมเพื่อการพัฒนาการบริการด้านสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ (Transgender) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชีย ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2017 ณ กรุงเทพมหานคร โดยการประชุมจะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ ซึ่งจะมีผู้แทนจาก 19 ประเทศทั่วโลกกว่า 120 คน ที่มาจากหลายภาคส่วนทั้งจากตัวแทนภาครัฐ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ กลุ่มประชาสังคมและกลุ่มคนข้ามเพศเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

 

 

     โดยมี ศ. คลินิก เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านทูตกลิน ที. เดวีส์ (Glyn T. Davies) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ศ. กิตติคุณ นพ. ประพันธ์ ภานุภาค จากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย รวมถึง โม-จิรัชยา มงคลนาวิน สาวทรานส์ที่สวยที่สุดในโลกคนปัจจุบัน เจ้าของตำแหน่ง Miss International Queen 2016 ฮั้ว-ณชเล บุญญาภิสมภาร จาก Asia Pacific Transgender Network และ รีน่า จันทร์อำนวยสุข อีกหนึ่งตัวแทนจากสภากาชาดไทยให้เกียรติเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับนานาชาติในวันนี้

     ‘From Barriers to Bridges’ เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน นำโดยเครือข่ายคนข้ามเพศแห่งเอเชียแปซิฟิกและศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ภายใต้การสนับสนุนหลักขององค์การพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS)

 

 

     โดยเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับงานบริการด้านสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย จะเป็นหนึ่งใน ‘พื้นที่ต้นแบบ’ ที่มุ่งหานวัตกรรมการบริการสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง HIV ที่มีความเหมาะกับกลุ่มผู้รับบริการที่เป็นคนข้ามเพศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการปราศจากการติดเชื้อ HIV ตาม ‘เป้าหมาย 90-90-90’ ของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS)  

     เมื่อปี 2006 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้มาร่วมพูดคุยกันที่เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากที่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ค่อยสู้ดีนักในขณะนั้น เพราะมีรายงานการถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติจากคนกลุ่มต่างๆในสังคม ซึ่งการหารือกันในครั้งนั้นนำมาซึ่ง ‘หลักการยอกยาการ์ตา (Yogyakarta Principles)’ ที่ได้กำหนดแนวทางและข้อปฏิบัติระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า ‘ประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตน โดยรัฐจะต้องให้การสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิ์นี้แก่พวกเขาเหล่านั้น’ โดยหลักการยอกยาการ์ตานี้คือ หนึ่งหมุดหมายสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การประชุม ‘From Barriers to Bridges’ ถูกจัดขึ้น

 

 

     จากรายงานของ UNAIDS พบว่า คนข้ามเพศนั้นมีโอกาสติดเชื้อ HIV มากกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปถึง 49 เท่า และอัตราการเข้ารับบริการสุขภาพในกลุ่มคนข้ามเพศยังคงมีอัตราที่ต่ำ อันเป็นผลมาจากข้อตัวบทกฎหมาย การตีตรา และการเลือกปฏิบัติจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และบ่อยครั้งที่พบว่ากลุ่มคนข้ามเพศนั้นมักจะถูกเหมารวมในกลุ่มชายรักชาย จึงทำให้ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อนำมาพัฒนาการบริการต่างๆ สำหรับคนข้ามเพศ  

     ศ. คลินิก เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ การจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานบริการด้านสุขภาพในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะเพิ่มพื้นที่และส่งเสริมสิทธิให้แก่กลุ่มคนข้ามเพศทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ”

     ทั้งนี้ท่านทูตกลิน เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยยังกล่าวเน้นย้ำว่า ในนามตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทางเราพร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศขึ้นในทุกๆ สังคมอย่างเต็มกำลัง”

 

อ้างอิง:

FYI
  • ‘เป้าหมาย 90-90-90’ คือ เป้าหมายสูงสุดของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติที่มุ่งหวังว่า ภายในปี 2020 หรือภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อ HIV (ควรจะต้อง) ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง ร้อยละ 90 ของผู้ที่ทราบว่าตนติดเชื้อ HIV พร้อมทั้งได้เข้ารับการรักษา และ ร้อยละ 90 ของผู้ที่เข้ารับการรักษามีระดับเชื้อ HIV ต่ำลง จนตรวจไม่พบและไม่เป็นอันตราย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X