×

จาก Nobel สู่ Knowledge ตอนที่ 2 ออโตฟาจี้

27.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • ‘ออโตฟาจี้’ มาจากภาษากรีก auto- คือ ตัวเอง บวกเข้ากับ phagein คือ กิน แปลรวมกันง่ายๆ จึงหมายถึง ปฏิกิริยาที่เซลล์กินชิ้นส่วนของตัวเอง ฟังดูคล้ายจะน่ากลัว แต่การกินที่ว่านี้ เป็นการกินเพื่อความอยู่รอดของเซลล์ เป็นการทำลายขยะหรือชิ้นส่วนที่ผุพังของเซลล์ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งหากระบบกำจัดขยะทำงานได้ดี เซลล์ก็ทำงานผิดพลาดน้อยลง โอกาสการเกิดโรคต่างๆ ก็ลดลง

“ผมเป็นแค่นักชีววิทยาธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ทำงานกับยีสต์มาเป็นเวลา 40 ปี ยีสต์ได้ให้บทเรียนอะไรหลายอย่างกับผม และยังให้ของขวัญซึ่งเป็นของโปรดของผมเลย นั่นคือ สาเก!”

 

โยชิโนริ โอซูมิ กล่าวติดตลกในสุนทรพจน์หลังจากรับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2016 จากการค้นพบรายละเอียดกลไกการทำงานของกระบวนการ ออโตฟาจี้ (Autophagy) เขาใช้เวลากว่า 40 ปี ในการเพาะเลี้ยงยีสต์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่ใช่เพื่อนำมาหมักสาเก และไม่ได้นำมาทำเซรั่มทาหน้า แต่เพาะเลี้ยงเพื่อศึกษากลไกและยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออโตฟาจี้ ซึ่งในช่วงแรกที่เขาศึกษานั้น ไม่ค่อยมีคนสนใจให้ความสำคัญกับกระบวนการนี้เท่าไรนัก

 

คำว่า ‘ออโตฟาจี้’ มาจากภาษากรีก auto- คือ ตัวเอง บวกเข้ากับ phagein คือ กิน แปลรวมกันง่ายๆ จึงหมายถึง ปฏิกิริยาที่เซลล์กินชิ้นส่วนของตัวเอง ฟังดูคล้ายจะน่ากลัว แต่การกินที่ว่านี้ เป็นการกินเพื่อความอยู่รอดของเซลล์ เป็นการทำลายขยะหรือชิ้นส่วนที่ผุพังของเซลล์ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โอซูมิเคยเปรียบเทียบว่า ออโตฟาจี้เปรียบเสมือนระบบกำจัดและรีไซเคิลขยะ โดยเฉพาะโครงสร้างที่เป็นโปรตีนภายในเซลล์

 

ถ้าระบบกำจัดขยะทำงานได้ดี เซลล์ก็ทำงานผิดพลาดน้อยลง

โอกาสการเกิดโรคต่างๆ ก็ลดลง

 

ถ้าระบบกำจัดขยะทำงานได้ดี เซลล์ก็ทำงานผิดพลาดน้อยลง โอกาสการเกิดโรคต่างๆ ก็ลดลง ในทางตรงกันข้าม เมื่อระบบกำจัดขยะทำงานได้ไม่ดี เซลล์ที่มีขยะเยอะก็จะเกิดความผิดพลาด และนำมาสู่โรคต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคือ เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ระบบกำจัดขยะนี้จะมีประสิทธิภาพที่ลดลง โดยในเซลล์แก่ ประสิทธิภาพของระบบรีไซเคิลนี้จะเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์หนุ่มสาว

 

จึงมีความพยายามในการค้นหาวิธีการที่จะกระตุ้นกระบวนการออโต้ฟาจี้ให้ดีขึ้น ซึ่งพบว่าหนึ่งในกลไกที่ได้ผลคือ การลดปริมาณอาหารที่กินลง หรือเรียกเป็นภาษาทางวิทยาศาสตร์ว่า Calorie Restriction (CR)

 

หลักการง่ายๆ ของ CR คือ การรับประทานอาหารแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน แปลเป็นภาษาบ้านๆ ได้ประมาณว่า กินให้อิ่มแค่เจ็ดในสิบส่วนของท้อง แต่พยายามให้เป็นเจ็ดที่อุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นกับร่างกาย วิตามิน แร่ธาตุ โปรตีนดี ต้องครบ พยายามลดอาหารให้พลังงานสูงที่ไม่ค่อยมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ไอศกรีม ขนมเค้ก คุกกี้ อาหารทอด (ของอร่อยๆ เกือบทั้งหมด!)

 

นอกจาก CR จะช่วยกระตุ้นกระบวนการกำจัดขยะภายในเซลล์แล้ว ยังกระตุ้นการทำงานของยีนที่สัมพันธ์กับอายุที่ยืนยาว คือยีนในกลุ่ม Sirtuins งานวิจัยในสัตว์ทดลองหลากหลายสปีชีส์ ตั้งแต่ยีสต์ แมลงวัน หนู ลิง ล้วนพบว่าเมื่อสัตว์ทดลองลดพลังงานแคลอรีจากอาหารที่กินลง 30 เปอร์เซ็นต์ ช่วยยืดอายุขัยให้ยืนยาวขึ้นได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

 

โดยส่วนตัวแล้ว หมอเชื่อว่าการกินอาหารแต่พอดี ไม่มากเกินไป

ไม่น้อยเกินไปจนเกิดความเครียด เน้นอาหารที่แคลอรีต่ำแต่สารอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีนดี ไขมันดี วิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงเส้นใยอาหาร

และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ น่าจะเป็นคำตอบของสุขภาพดีที่ยั่งยืนกว่า

 

เว้นก็แต่การทดลองในคน กลับให้ผลในทางตรงข้าม จากงานวิจัยซึ่งรวบรวมกลุ่มคนที่อินกับ CR มาเป็นเวลาเฉลี่ยสิบปีร่วม 71 คน มาตรวจวัดค่าความยาวของเทโลเมียร์จากเซลล์เม็ดเลือดขาว (หากสงสัยว่าเทโลเมียร์คืออะไร แนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านบทความตอน 1 นะคะ) ผลปรากฏว่า กลุ่มคนที่อดทนกินไม่อิ่มมาเป็นเวลานับสิบปี กลับมีค่าความยาวเทโลเมียร์สั้นกว่าคนทั่วไป

 

นั่นหมายความว่า ความพยายามปฏิบัติการกินแบบ CR ของพวกเขา ไม่ได้ส่งผลให้อายุของเซลล์อ่อนเยาว์ลงสักเท่าไรเลย ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมโดยส่วนตัวแล้ว หมอเชื่อว่าการกินอาหารแต่พอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปจนเกิดความเครียด เน้นอาหารที่แคลอรีต่ำแต่สารอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีนดี ไขมันดี วิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงเส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ น่าจะเป็นคำตอบของสุขภาพดีที่ยั่งยืนกว่า

 

โอซูมิเคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตคงอยู่ด้วยความสมดุลระหว่างการสร้างและทำลาย ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกขณะ” เมื่อจุดแห่งสมดุลสูญเสียไป ความคงอยู่อันเป็นปกติสุขของชีวิตย่อมถึงเวลาเริ่มนับถอยหลัง

 

การรับประทานอาหารก็เช่น หาจุดสมดุลระหว่างความสุขใจทางปาก กับความสุขกายไม่เสียสุขภาพ ในปริมาณที่พอเหมาะพอดีให้ได้ น่าจะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต

 

เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ เทโลเมียร์ ยาวแล้ว Young

 

แนะให้อ่าน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X