‘Meme’ หรือมีม เป็นหนึ่งในไอคอนความป๊อปของคนยุคดิจิทัลที่สะท้อนให้เห็นสังคม วัฒนธรรม ทัศนคติของคนในช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญมีมยังเป็นไอคอนที่สร้างเสียงหัวเราะจนทำให้คนทั่วโลกเข้าใจภาษามีมแบบเดียวกันได้ด้วย และล่าสุดเราก็กำลังจะได้เห็นมีมรูปแบบใหม่ที่เป็นตัวแทนของยุค Digital Age ได้อย่างดี นั่นคือ ‘3D Meme’ หรือมีมสามมิติ
Meme?
แต่ก่อนจะไปถึงมีมสามมิติ เรายังเชื่อว่าต้องมีบางคนที่ยังไม่รู้จักคำว่า Meme มาก่อน มีม (ไม่ใช่เมม ไม่ใช่มาม ไม่ใช่เมเม่ อ่านว่ามีม) เป็นคำที่ตั้งขึ้นโดย ริชาร์ด ดอว์กินส์ ในปี 1976 ในหนังสือ The Selfish Gene โดยการกร่อนจากคำว่า Mimeme ซึ่งมีความหมายประมาณว่า ‘สิ่งที่ถูกเลียนแบบกันมา’
ในบทท้ายๆ ของหนังสือ เขาเขียนถึงการที่มนุษย์มักมีพฤติกรรมและอุปนิสัยที่ไม่ได้มาจากยีน แต่มาจากวัฒนธรรม (Culture) มากกว่า ซึ่งนั่นอาจหมายถึงภาษา แฟชั่น ความเชื่อ ดนตรี กีฬา และสิ่งใดๆ ในกลุ่มวัฒนธรรมนั้นๆ ที่ทำตามๆ กันจนเกิดเป็นมีม
โดยในปัจจุบัน มีม หรือให้ชัดเจนมากขึ้นว่า Internet Meme ถูกให้คำจำกัดความว่าเป็นก้อนความคิดที่ถูกส่งต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งจนแพร่หลายกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยๆ ในสังคม ซึ่งมีมสามารถอยู่ในรูปแบบของภาพ GIF ขยับได้ ข้อความ วิดีโอ หรือแม้กระทั่งแฮชแท็ก ซึ่งมีมมีอิทธิพลอย่างยิ่ง ทั้งเพื่อการสร้างกลุ่มของคนที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่แบ่งแยกกลุ่มของคนได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีมมักมีจุดมุ่งหมายในการสร้างเสียงหัวเราะ ความประหลาดใจ ความเข้าใจ และความเป็นหนึ่งเดียวกันจากการคัดกลุ่มคนที่มีความคิดเห็น มีไอเดีย มีสไตล์แบบเดียวกันไว้เดียวกัน
มีมแรกที่มีการบันทึกไว้ (จากเว็บไซต์ www.digitalnext.com.au) และเราอาจจะเคยเห็นผ่านตากันคือ The Dancing Baby (www.youtube.com) ในปี 1996 จนกระทั่งเริ่มมีเว็บไซต์กลุ่มสังคมออนไลน์อย่าง 4Chan (2003) และ Reddit (2005) ทำให้มีมแพร่กระจายรวดเร็วขึ้น จนกระทั่งมีการก่อตั้งเว็บไซต์ Know Your Meme ที่เป็นเหมือนคลังสารานุกรมของมีมโดยเฉพาะให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเข้าไปค้นหามีม อ่านที่มาและความหมายของแต่ละมีมได้ (ซึ่งมีเยอะมากๆ)
ในปี 2012 มีการตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า The Language of Internet Memes ที่เขียนโดย แพทริก เดวิสัน และเขาก็ได้ให้คำจำกัดความของ Internet Meme อีกครั้งว่ามันคือชิ้นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มักเป็นมุกตลกซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการส่งต่อกันทางโลกออนไลน์
ถ้าให้ยกตัวอย่างมีมดังๆ ที่ถูกแชร์กันบ่อยๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตก็มีทั้ง Doge, Forever Alone, Me Gusta, Nyan Cat, Neil deGrasse Tyson Reaction, Y U NO Guy, You Don’t Say, Overly Attached Girlfriend, Ancient Aliens, “Not Bad” Obama Face, First World Problem ไปจนถึงมีมยุคหลังๆ อย่าง American Chopper Argument, Surprised Pikachu, Drake, Gavin Thomas และอีกมากมาย ซึ่งโลกอินเทอร์เน็ตก่อใช้การส่งต่อและดัดแปลงมีมไปจนไม่สามารถระบุที่มาที่ไปของมันได้อย่างชัดเจน แต่เข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ knowyourmeme.com
ในประเทศไทยเอง เราได้นำไอเดียของการทำมีมมาใช้เช่นเดียวกัน โดยปรับเอาภาพ หรือคอนเทนต์หลักมาจากสื่อของไทยเอง บางคนอาจจะเคยเห็นเทรนด์ ‘สาจ๋า’ จากเรียลิตี้โชว์ This Is Me Vatanika, #หมดแพชชั่น หรือมีมจากประเทศไทยอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นหนึ่งในมีมที่กลายเป็นตัวนำเสนอวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ ผ่านโลกออนไลน์
3D Meme?
มีมในปัจจุบันถูกดัดแปลงไปจนล่าสุดที่เฟซบุ๊กมีฟีเจอร์ 3D Photo ปล่อยให้ทดลองใช้โหมดสามมิติเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เรามองเห็นรูปถ่ายแบบหลายมุม มีความตื้นลึกคล้ายของจริง ไม่ว่าจะดูผ่านนิวส์ฟีดปกติหรือใช้กับ VR ได้เช่นกัน และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับวิวัฒนาการมีมไปโดยปริยาย เพราะเหล่าผู้สร้างมีมจากทั่วโลกก็สร้างมีมเพื่อรองรับกับระบบ 3D Photo ของเฟซบุ๊ก
มีเพจในเฟซบุ๊กมากมายที่หันมาทำมีมสามมิติ ทั้ง Dimemetional, 4d3d3d3 Engaged, และ 3D Memes For Multi-Dimensional Teebs แต่เพจที่น่าจะเป็นผู้นำและมาแรงแซงทางโค้งที่สุดก็คือเพจ 4d3d3d3 Engaged
“มีมกำลังมีวิวัฒนาการ เมื่อไรก็ตามที่มีพรมแดนใหม่เกิดขึ้น มีมก็พร้อมที่จะรับความท้าทายและรับใช้พวกเรา ยืนหยัดข้างเคียงกับเราในยามที่เราต้องการพักจากโลกแห่งความเป็นจริง และตอนนี้มีมก็ได้เข้าสู่ยุคสามมิติ มีมมีมุมมองด้านเดียวมานานแล้ว”
ในเพจดังกล่าวเราจึงมีโอกาสได้เห็นมีมสุดฮิตหลายมีมที่ถูกแปลงมาเป็นรูปแบบสามมิติ และผู้ใช้งานเฟซบุ๊กสามารถใช้เมาส์เลื่อนมีมให้เห็นมุมอื่นๆ ได้รอบด้าน และเราก็อาจได้เจอเซอร์ไพรส์ที่สร้างเสียงหัวเราะได้จากมีม 1 มีม
แม้มีมจะดูเป็นเรื่องสนุกเบาสมองในโลกอินเทอร์เน็ต แต่อย่างที่เราบอกว่าสิ่งนี้นี่แหละที่เป็นตัวบ่งบอกทัศนคติ แนวคิด และความเชื่อของสังคมในแต่ละกลุ่ม แต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์