ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของสงครามสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว โดยประเทศต่างๆ ต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อความขัดแย้งในอนาคต และการใช้ AI ในกองทัพ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้งานที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
“หนึ่งในความท้าทายที่เราเห็นคือ เราจะเข้าใจได้อย่างไรว่าอะไรคือการใช้งานที่เหมาะสมของเทคโนโลยีนี้ และอะไรคือข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องป้องกัน” แคธลีน ฟิชเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมข้อมูล สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงกลาโหม (DARPA) กล่าว
ที่ผ่านมา AI ถูกนำมาใช้ในกองทัพ 4 ด้านหลัก ได้แก่
- การส่งกำลังบำรุง
- การลาดตระเวน
- ไซเบอร์สเปซ
- สงคราม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจฟฟรีย์ ฮินตัน เจ้าของฉายา ‘เจ้าพ่อแห่ง AI’ ออกโรงเตือน เทคโนโลยี AI ยังอันตราย แนะพัฒนาด้วยความระมัดระวัง
- อีลอน มัสก์ และผู้บริหารบริษัทเทคชั้นนำของโลก เรียกร้องให้ ‘หยุดการแข่งขัน’ พัฒนา AI หวั่นก้าวหน้าเท่ามนุษย์
- ชั่งน้ำหนัก AI ความเฉลียวฉลาดจะให้ผลดีหรือผลร้ายต่อมนุษยชาติ? | KEY MESSAGES #74
โลจิสติกส์: มีการใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายเสบียง อุปกรณ์ และบุคลากร จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล AI สามารถช่วยคาดการณ์เมื่อจำเป็นต้องบำรุงรักษา ทำให้สามารถวางแผนได้ดีขึ้นและลดเวลาการหยุดทำงาน
การลาดตระเวน: AI ช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรอง โดยการรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลและเปลี่ยนเป็นข้อมูลเชิงลึกที่นำไปปฏิบัติได้ สิ่งนี้ช่วยให้ผู้นำทางทหารสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น โดยอิงจากข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
ไซเบอร์สเปซ: มีการใช้ AI เพื่อค้นหาช่องโหว่ในซอฟต์แวร์ ช่วยปกป้องระบบทางทหารจากการโจมตีทางไซเบอร์ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจจับมัลแวร์และระบุรูปแบบในการโจมตีทางไซเบอร์บนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งช่วยปรับปรุงความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยรวมได้
สงคราม: AI มีความโดดเด่นมากขึ้นในสนามรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของโดรนไร้คนขับ โดรนเหล่านี้สามารถใช้ในการเฝ้าระวัง ลาดตระเวน หรือแม้แต่โจมตีเป้าหมายเฉพาะ โดยไม่ทำให้ชีวิตมนุษย์ตกอยู่ในความเสี่ยง
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ โดรนไร้คนขับเป็นส่วนสำคัญของการทำสงครามโดยใช้ AI ช่วย ระหว่างปี 2009-2017 จำนวนทหารอเมริกันในการต่อสู้ลดลง 90% และจำนวนการโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10 เท่า
วันนี้โดรนของสหรัฐฯ, รัสเซีย, อิสราเอล, จีน, อิหร่าน และตุรกี กำลังบินโจมตีในตะวันออกกลาง, ทวีปแอฟริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป
ขณะเดียวกันสงครามยูเครนยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการลาดตระเวนด้วยโดรนและการสื่อสารระหว่างผู้ควบคุมโดรน ปืนใหญ่ และทหารราบ ความแม่นยำที่ได้รับในลักษณะนี้ ทำให้ยูเครนสามารถหยุดยั้งการรุกคืบของรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ในทางทฤษฎีแล้ว AI มีความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ และการตอบสนองความเร็วสูง แต่ในทางปฏิบัติพวกเขายังคงล้มเหลว เนื่องจากความซับซ้อนของโลกแห่งความเป็นจริง
ระบบ AI ในปัจจุบันมักไม่เข้าใจบริบท ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าเชื่อถือ เสี่ยงต่อการถูกโจมตี และไม่เหมาะกับการตัดสินใจเรื่องความเป็นความตายอย่างมีจริยธรรม
การวิจัยเกี่ยวกับนักบินโดรนได้แสดงให้เห็นว่า การห่างไกลจากสนามรบสามารถนำไปสู่ความรู้สึกของการเพิกเฉยต่อศีลธรรม นักบินบางคนอาจรู้สึกผิดน้อยลงเกี่ยวกับการกระทำของตน เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตความขัดแย้ง
ระยะห่างระหว่างคนควบคุมกับ AI ที่อยู่ในสนามรบ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งบนโลกที่หุ่นยนต์และระบบ AI สามารถทำสงครามกันเองได้ สนามรบอาจไร้ซึ่งทหารมนุษย์ และทำให้ภาระของสงครามตกอยู่กับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ สิ่งนี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่น่าหนักใจ ที่พลเรือนอาจเผชิญอันตรายยิ่งกว่าทหารในความขัดแย้งในอนาคต
มีการแนะนำว่า เพื่อลดความเสี่ยง กองทัพควรมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในเทคโนโลยี AI ที่สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI สำหรับการสนับสนุนทางการแพทย์ การบำรุงรักษา การคาดการณ์ความล้มเหลว และการตรวจจับภัยคุกคาม
ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า AI กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการสู้รบในสงคราม และผลกระทบของมันจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อมีความก้าวหน้าใหม่ๆ ในด้านวิทยาการหุ่นยนต์ การพัฒนาแบบจำลองโลก และวัสดุศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทำให้เกิดการพัฒนาระบบอาวุธใหม่ๆ
ถึงการใช้ AI ในการทำสงคราม ทำให้เกิดข้อกังวลด้านจริยธรรมและคำถามเกี่ยวกับวิธีการควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่เป็นที่ชัดเจนว่า AI จะยังคงมีบทบาทสำคัญในอนาคตของการทำสงคราม
อ้างอิง: