เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ประเทศไทยผุดโครงการอีเอสบี หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ชื่อเต็มๆ คือ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program: ESB) ที่เริ่มขึ้นในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นกับชื่อแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี, มาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เอ่ยมาทั้งหมดเหล่านี้คือพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดทั้งสิ้น
การเกิด ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ในไทย ได้จังหวะลงตัวกับการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องมาจากข้อตกลง Plaza Accord ส่งผลให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นต้องปรับตัวลดต้นทุนย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่า แต่ระบบขนส่งมีประสิทธิภาพ
‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ จึงประสบความสำเร็จอย่างสูง เปลี่ยนโฉมประเทศไทยจากประเทศเกษตรกรรมดั้งเดิมก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม และเพิ่มรายได้รวมของประเทศขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ในที่สุดก็มาถึงจุดอิ่มตัว เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ทิศทางอุตสาหกรรมของโลกก็เปลี่ยน ภาครัฐจึงเห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะต่อยอดอัพเดตโครงการ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมของโลกในอนาคต
จาก ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ยุคป๋าเปรม สู่ ‘อีอีซี’ ยุคบิ๊กตู่
ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา หลายท่านจะได้เห็นและได้ยินคำว่า ‘อีอีซี’ ผ่านการเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน และไม่ว่า ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจจะขึ้นพูดปาฐกถาเวทีไหน ไม่เคยมีครั้งใดที่จะไม่พูดถึงคำว่าอีอีซี
อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่า อีอีซี หรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นภาคสองต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ พื้นที่อุตสาหกรรมที่เกิดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ในยุคพลเอกเปรมสามารถรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงในอดีต เช่น เม็ดพลาสติก ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีและทิศทางอุตสาหกรรมโลกเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนขึ้น พื้นที่เดิมจึงไม่สามารถรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในปัจจุบัน หรือแม้แต่ไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเดิมได้
อีอีซีจึงออกแบบเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมดั้งเดิม แต่ยังไม่ตกเทรนด์ มีแนวโน้มปรับตัวและพัฒนาสู่อนาคตได้ ดังนี้
- อุตสาหกรรมยานยนต์ (Next-Generation Automotive) สนับสนุนการพัฒนาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics) การผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม รวมถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ ซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง (Advance Agriculture and Biotechnology) เทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงที่มีการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยและการลงทุนทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์
- อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food Processing) การวิจัยและผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนเกษตร
- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Tourism) จัดระเบียบและส่งเสริมกิจกรรมหลากหลายตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สนับสนุนธุรกิจการฟื้นฟูทางการแพทย์และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ส่งเสริมศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ
ขณะที่สร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งภาครัฐคาดหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย
- หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน (Advance Robotics) เช่น หุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ การดำน้ำและการแพทย์
- อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานและฝึกอบรม ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการบินของเอเชีย
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) มีโรงพยาบาลที่ทันสมัย การลงทุนในการผลิตยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการรักษาโรคทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต/สมาร์ทโฟน
- อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemical) ตั้งเป้าใช้จุดแข็งด้านการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียน พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ เช่น ใช้ไบโอพลาสติกในการหีบห่อเพื่อการส่งออก
- อุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น E-commerce, Digital Content, Data Center, Cloud Computing
แผน 5 ปี ลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท รับอีอีซี
พื้นที่เป้าหมายของอีอีซีคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด และเพื่อดึงดูดให้บรรษัทข้ามชาติจากทั่วทุกมุมโลกสนใจมาลงทุนตั้งฐานการผลิตที่ไทย ‘อีอีซี’ จึงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างดี ขณะที่การขนส่งก็ออกแบบไว้ครอบคลุมทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ
ทางถนน
ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชลบุรี, พัทยา-มาบตาพุด, แหลมฉบัง-นครราชสีมา วงเงิน 3.53 หมื่นล้านบาท คาดว่าเปิดใช้ได้ภายใน พ.ศ. 2562
ทางราง
รถไฟทางคู่ (ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) วงเงิน 6.43 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ศ. 2562
รถไฟความเร็วสูง (ช่วงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง) วงเงิน 1.58 แสนล้านบาท คาดว่าจะประมูลและจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในปีนี้
ก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา ตั้งเป้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน ‘ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา’ งบประมาณรวมมากกว่า 3 แสนล้านบาท คาดว่าเริ่มก่อสร้างปลายปี 2561 แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการกลางปี 2566
ทางอากาศ
พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 วงเงิน 2.15 แสนล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ ยังไม่ระบุเวลาแล้วเสร็จ
ทางน้ำ
พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ระยะที่ 3) ให้สามารถรองรับตู้สินค้า 18 ล้านตู้ต่อปี รองรับรถยนต์ผ่านท่า 2.95 ล้านคันต่อปี วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท ยังไม่ระบุเวลาแล้วเสร็จ
พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด (ระยะที่ 3) รองรับสินค้าเหลว ก๊าซ ฯลฯ และพื้นที่ถมทะเล วงเงิน 1.015 หมื่นล้านบาท คาดว่าเริ่มใช้งานได้ปี 2564 เป็นต้นไป
สำหรับแผนการลงทุนของรัฐบาลตามกรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) รวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของภาครัฐไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ภาคเอกชน 5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกจะเป็นการร่วมทุนของภาครัฐกับเอกชน 7 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมลงทุนก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ
ญี่ปุ่นสนใจ นักลงทุนร่วม 600 คนมาดูงานก่อนตัดสินใจลงทุน?
นักลงทุนญี่ปุ่น 570 ราย นำโดย นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) เดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน เพื่อเข้ามาลงพื้นที่ดูอีอีซีอย่างจริงจัง รวมทั้งรับฟังแผนการพัฒนาเศรษฐกิจจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการสัมมนาพูดคุยกับภาคเอกชนไทย และลงพื้นที่โครงการอีอีซีจริงที่จังหวัดชลบุรี เพื่อรับฟังข้อมูลและตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ โดย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มั่นใจว่าจะมีนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจลงทุนในอีอีซีจำนวนมากแน่นอน และเชื่อว่าจะเกิดการลงทุนจริงในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องรอหลังวันที่ 13 กันยายนนี้ ถึงจะได้คำตอบที่แน่นอนว่าตัวเลขนักลงทุนญี่ปุ่นที่สนใจมีมูลค่าเท่าใด
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ว่า โครงการอีอีซีจะทำให้ไทยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ขยายฐานภาษีของประเทศให้ใหญ่ขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน พร้อมเชื่อว่าอีอีซีจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวปีละ 5% เพิ่มการจ้างงานปีละ 1 แสนคน และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคนต่อปี
อย่างไรก็ตาม โครงการอีอีซีก็ยังมีคำถามตัวโตที่รอคำตอบอยู่ ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นที่มาเข้าพบนายกฯ เองก็ยังกังวลเรื่องความต่อเนื่องของการพัฒนาโครงการ
ขณะที่คนในประเทศเองก็มีคำถามเรื่องความพร้อมของบุคลากรและแรงงานไทยว่าพร้อมกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงหรือยัง ปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโครงการรุ่นพี่อย่าง ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’
Plaza Accord คือข้อตกลงร่วมกัน 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการแทรกแซงที่จะทําให้ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเพื่อลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยผลของข้อตกลง Plaza Accord นี้ได้ทําให้ค่าเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมีการขยายตัวในอัตราที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการส่งออก (Export-led growth) ทำให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุน และหนึ่งในการปรับตัวสำคัญคือการย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า