ความเหงา ความเครียด และโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจ ‘เพื่อนเช่า’ ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่ชาวจีน โดยพวกเขาสร้างรายได้จากการให้เช่าเวลาของตัวเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีทั้งเรื่องการระบายความเครียด ไปเที่ยวต่างถิ่น หรือแม้กระทั่งต้องการคนไปโรงพยาบาลด้วยกัน
Yang บล็อกเกอร์สาววัย 27 ปีในกรุงปักกิ่ง ได้พบกับลูกค้ารายแรกของเธอที่ IKEA โดยลูกค้ารายนี้เป็นชายหนุ่มที่ต้องการคนคุยด้วยในราคาชั่วโมงละ 125 หยวน (600 กว่าบาท)
“คนหนุ่มสาวในปัจจุบันมักรู้สึกโดดเดี่ยว พวกเขาเครียดจากการทำงาน บางคนมีปัญหากับครอบครัว” Yang กล่าว “การจ่ายเงินหาคนมาคุยด้วยทำให้พวกเขาไม่ต้องไประบายความทุกข์ให้เพื่อนหรือครอบครัวฟัง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผลสำรวจชี้ เกือบ 2 ใน 3 ของชาวจีนเริ่มให้ความสำคัญกับ ‘ชีวิตส่วนตัว’ มากกว่า ‘ความสำเร็จในการทำงาน’ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาด
- คนหนุ่มสาวในจีนโหยหาการถูก ‘ไล่ออก’ เพื่อเอาชนะความเครียดจากการทำงาน รับเงินชดเชย และหลีกหนีจากตลาดงานอันดุเดือด
- ปรากฏการณ์ ‘ลูกเต็มเวลา’ ของคนรุ่นใหม่ในจีน เสียงสะท้อนจากแรงกดดันการทำงานหนักและวิกฤตการว่างงานที่รุนแรงขึ้น
เพื่อนเช่า: ปรากฏการณ์ใหม่ในยุคโซเชียลมีเดีย
ในจีน แอปพลิเคชันยอดฮิตอย่าง Douyin และ Xiaohongshu ได้กลายเป็นพื้นที่โฆษณาธุรกิจเพื่อนเช่า โดยผู้ที่สนใจจะได้ลองโพสต์ประกาศหาลูกค้า ซึ่งบางคนประสบความสำเร็จจนกลายเป็นอาชีพเสริม
บริการนี้ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 35 ปีที่มีงานประจำแต่ต้องการรายได้เสริม เช่นเดียวกับลูกค้าของ Yang ที่มักต้องการปลดปล่อยความเครียดจากการทำงานด้วยการระบายความรู้สึกให้คนแปลกหน้าฟัง
นอกจากนี้ความต้องการความสัมพันธ์แบบไม่ผูกพันในสังคมสมัยใหม่ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เบ่งบาน
หลากหลายบริการ ตอบโจทย์ทุกความต้องการ
Alaia Zhang วัย 22 ปี เป็นสาวตกงานที่รับจ๊อบเป็นเพื่อนเช่ามาได้ระยะหนึ่ง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เธอจึงรับแต่ลูกค้าที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น
Zhang เชื่อว่าเด็กสมัยนี้มักกังวล แต่ไม่ต้องการแบ่งปันความทุกข์กับคนใกล้ชิด หรือรู้สึกว่าไม่มีใครไว้วางใจได้
“ทุกคนล้วนเหงา แม้แต่ตัวฉันเอง” Zhang กล่าว “โลกปัจจุบันทำให้คนไม่อยากผูกพัน กลัวว่าถ้าทุ่มเทไปแล้วจะเจ็บปวดในภายหลัง”
“การจ่ายเงินเพื่อให้คนมาฟังเราบ่นช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้” Zhang อธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายของเธอคือวัยรุ่นที่ใส่ใจสุขภาพจิต แต่อาจไม่มีกำลังทรัพย์มากพอสำหรับการบำบัดทางจิตวิทยาแบบจริงจัง หรือมองว่าการพบนักจิตวิทยายังเป็นสิ่งน่าอายอยู่
จากเพื่อนเช่าถึงผู้ช่วยเหลือ
ในอีกด้านหนึ่งของตลาดเพื่อนเช่าอย่างบริการ ‘ผู้ติดตามไปโรงพยาบาล’ กำลังได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน ในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ซับซ้อน ผู้สูงวัยมักประสบปัญหาในการพาตัวเองไปพบแพทย์ โดยเป็นปัญหาซ้ำเติมในช่วงที่คนสูงอายุจำนวนมากอาศัยอยู่ห่างไกลจากลูกๆ ที่เติบโตออกไปทำงานนอกเมือง
Cui Pei คุณแม่ลูกสองที่ผันตัวมาเป็นผู้ติดตามไปโรงพยาบาลอย่างเต็มเวลา เธออธิบายว่า ปัจจุบันคนจีนรุ่นใหม่นิยมใช้แอปพลิเคชันในการนัดหมายแพทย์ ซึ่งคนสูงอายุมักไม่คุ้นเคย
ลูกค้าของ Cui ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนที่ต้องจ้างให้เธอไปโรงพยาบาลแทนเพื่อดูแลพ่อแม่ “แม้แต่คนหนุ่มสาวที่คุ้นเคยกับระบบออนไลน์เองก็ยังบอกว่า การให้เราเป็นผู้ติดตามไปโรงพยาบาลสะดวกกว่า ไม่ต้องเสียเวลาลางานไปดูแลพ่อแม่เอง” Cui กล่าว
ปัจจุบันแพทย์ในโรงพยาบาลก็หันมาให้การยอมรับอาชีพเพื่อนเช่ามากขึ้น เพราะช่วยอำนวยความสะดวกในการอธิบายอาการกับผู้ป่วยให้ได้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาในการได้ยิน
อนาคตที่สดใส แต่ยังขาดกฎหมายรองรับ
เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน อาชีพเพื่อนเช่าจึงยังไม่มีหน่วยงานหรือกฎหมายใดออกมาควบคุมอย่างชัดเจน Cui มองว่า ธุรกิจนี้มีแนวโน้มจะเติบโตต่อไป และเป็นความต้องการที่ทุกคนจะมีในอนาคต
แม้จะเป็นงานที่ให้รายได้มากพอสมควร แต่ความผันผวนของรายได้ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาในแต่ละเดือน ถือเป็นความท้าทายสำคัญของอาชีพนี้เช่นกัน
ภาพ: Mike Kemp / In Pictures via Getty Images
อ้างอิง: