×

สรท. ห่วงค่าระวางเรือพุ่งไม่หยุด รั้งการเติบโตภาคส่งออก เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ หวัง ‘พาณิชย์’ เร่งเคลียร์ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน

22.04.2021
  • LOADING...
สรท. ห่วงค่าระวางเรือพุ่งไม่หยุด รั้งการเติบโตภาคส่งออก เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ หวัง ‘พาณิชย์’ เร่งเคลียร์ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน

กัณญภัค ตันติพัฒน์พงศ์ ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)​ กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ยังคงเป็นประเด็นที่กดดันให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสายที่ส่งไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งในเร็วๆ นี้บริษัทที่ให้บริการเดินเรือเตรียมจะปรับขึ้นค่าระวางอีกรอบ

 

“เดิมเราเข้าใจว่าปัญหาน่าจะเบาลงหลังสถานการณ์ที่คลองสุเอซคลี่คลายลง แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเร็วๆ นี้ทางสายเรือเตรียมจะปรับขึ้นค่าระวางอีกรอบจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลน ซึ่งจริงๆ เราก็ประเมินไว้บ้างแล้วว่าปัญหาเหล่านี้อาจจะลากยาวจนถึงสิ้นปี”

 

สาเหตุที่ทำให้ค่าระวางเรือยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ ดีมานด์ตู้คอนเทนเนอร์ในจีนเพิ่มสูงขึ้นมากจากการส่งออกของจีนที่เติบโตได้ดี ซึ่งตัวเลขการส่งออกของจีนล่าสุดในเดือนมีนาคม 2564 ขยายตัวได้ถึง 38% สะท้อนภาพความต้องการตู้ขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

 

นอกจากนี้การส่งออกของไทยแม้ตัวเลขโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะยังหดตัว 2.59% แต่หากหักทองคำแล้วถือว่าขยายตัว ยิ่งถ้าเป็นการส่งออกไปสหรัฐฯ พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ขยายตัวได้ถึง 20% จึงทำให้ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

กัณญภัคกล่าวว่า อีกปัญหาที่ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นและเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนานแล้ว คือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเคลียร์ตู้คอนเทนเนอร์ในหลายๆ ประเทศทำได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้จำนวนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มขาดแคลน ซึ่งทาง สรท. หวังว่ากระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องนี้

 

“พวกนี้คือต้นทุนของผู้ส่งออก และยังรั้งการขยายตัวของการส่งออกไทยด้วย ซึ่งทางเราประเมินว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ราว 3-4% แต่ถ้ายังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อยู่ การส่งออกของไทยในปีนี้ก็อาจติดปัญหาได้ และยังทำให้ผู้ส่งออกแบกต้นทุนเพิ่มด้วย”

 

ข้อมูลของ สรท. ระบุว่า สถานการณ์ค่าระวางเรือในเดือนเมษายน 2564 เส้นทางเอเชียส่วนใหญ่ยังมีอัตราคงที่เช่นเดียวกับเส้นทางออสเตรเลีย ในขณะที่เส้นทางไปยุโรปปรับเพิ่มขึ้น 50 ดอลลาร์ต่อ TEU (Twenty foot Equivalent Unit หรือตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) มาอยู่ที่ 3,950 ดอลลาร์ต่อ TEU และ 7,800 ดอลลาร์ต่อ FEU (Forty Foot Equivalent Unit หรือตู้สินค้าที่มีขนาด 40 ฟุต) ซึ่งปัจจุบันยังคงพบปัญหาการขาดแคลนตู้และปัญหาค่าระวางเรือ

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X