×

Freedom House ประเมินเสรีภาพโลก 2021 ชี้ไทยไร้เสรีภาพ ทั่วโลกประชาธิปไตยถดถอย

โดย THE STANDARD TEAM
07.03.2021
  • LOADING...
Freedom House ประเมินเสรีภาพโลก 2021 ชี้ไทยไร้เสรีภาพ ทั่วโลกประชาธิปไตยถดถอย

Freedom House องค์กรวิจัยและสนับสนุนประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน ที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานเสรีภาพโลกประจำปี 2021 (Freedom in the World 2021) ที่ประเมินสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนในแต่ละประเทศทั่วโลก พบว่าช่วงปี 2020 ที่ผ่านมาระบอบเผด็จการมีความเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยกำลังก้าวถอยหลัง ซึ่งถือเป็นการถดถอยของเสรีภาพทั่วโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 15

 

เนื้อหารายงานที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคมชี้ว่าสัดส่วนของประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวด ‘ไร้เสรีภาพ’ นั้นเพิ่มสูงสุดในรอบ 15 ปี ซึ่งปีนี้ไทยถูกลดคะแนนจนรวมอยู่ในหมวดนี้เช่นกัน

 

จากข้อมูลการจัดอันดับพบว่าประเทศที่ได้คะแนนด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองลดต่ำลงนั้นมีมากถึง 73 ประเทศ หรือคิดเป็น 75% ของประชากรทั่วโลก ส่วนประเทศที่มีพัฒนาการดีขึ้นมีเพียง 28 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2006 ที่สถานการณ์ประชาธิปไตยทั่วโลกเริ่มถดถอยต่อเนื่อง

 

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งคืออินเดีย ซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ได้รับการจัดอันดับสถานะโดยเปลี่ยนจากประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกเป็นมีเสรีภาพเพียงบางส่วน ส่งผลให้ตอนนี้มีประชากรทั่วโลกไม่ถึง 20% อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 1995

 

ขณะที่สหรัฐฯ แม้จะอยู่ในสถานะประเทศที่มีเสรีภาพ โดยได้คะแนนด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง 83 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 แต่คะแนนที่ได้ก็ลดลงจากปีก่อน 3 คะแนน สาเหตุจากการที่ระบอบประชาธิปไตยถูกกัดกร่อน ทั้งจากแรงกดดันของพรรคการเมืองที่มีส่วนต่อกระบวนการเลือกตั้ง ตลอดจนความไม่เป็นกลางและความไม่ปกติในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งนโยบายที่เป็นอันตรายต่อผู้อพยพลี้ภัย และความไม่เสมอภาคในสังคมทั้งด้านฐานะ เศรษฐกิจ โอกาส และอิทธิพลทางการเมือง

 

สำหรับไทยนั้นถูกลดสถานะจากประเทศที่มีเสรีภาพบางส่วนไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไร้เสรีภาพ โดยได้คะแนนด้านสิทธิทางการเมือง 5 คะแนน และเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง 25 คะแนน รวมเป็น 30 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ได้ 32 คะแนน

 

โดย Freedom House ชี้แจงสาเหตุที่ไทยถูกลดสถานะเป็นไร้เสรีภาพ เพราะการยุบพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมในการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 เช่น พรรคอนาคตใหม่ และการที่รัฐบาลไทยซึ่งนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการกองทัพบก ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงนำโดยเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย

 

ภาพรวมสถานการณ์ในไทย
Freedom House สรุปภาพรวมการประเมินสถานการณ์เสรีภาพในไทย พบว่าหลังพ้นยุคเผด็จการทหารระยะเวลา 5 ปี ไทยได้เข้าสู่ยุครัฐบาลกึ่งเลือกตั้งที่ยังอยู่ใต้อำนาจกองทัพในปี 2019

 

แต่ในปี 2020 ผลจากความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยและความไม่พอใจต่อรัฐบาลส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ ซึ่งรัฐบาลใช้เครื่องมือในแบบเผด็จการ ทั้งการจับกุมโดยปราศจากเหตุผล การข่มขู่ให้เกิดความกลัว และการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่เสรีภาพสื่อมวลชนถูกจำกัด

 

พัฒนาการที่สำคัญในปี 2020
พัฒนาการที่สำคัญของสถานการณ์ในปี 2020 เริ่มตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ตามด้วยการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กลุ่มผู้ประท้วงนับแสนคนออกมาร่วมชุมนุม เรียกร้องให้ยุติการคุกคามนักเคลื่อนไหว ยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงข้อเรียกร้องใหญ่อย่างการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ขณะที่รัฐบาลเริ่มประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม แม้ว่าในตอนนั้นไทยจะมีกรณีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 7,500 ราย และเสียชีวิต 63 ราย จากข้อมูลการวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด

 

ซึ่งรัฐบาลยังต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินและเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจจัดการกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมากกว่าการจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19

 

และในเดือนตุลาคม รัฐบาลไทยยังตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ ห้ามการรวมกลุ่มของประชาชนเกิน 5 คน และเริ่มการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงและแกนนำการเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง โดยมีการตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับนักเคลื่อนไหวหลายสิบคน ส่งผลให้องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มออกมาแสดงความกังวลต่อการดำเนินการปราบปรามผู้ประท้วงของทางการไทย

 

ภาพ: Jittima Lukboon / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising