หากมีคนเดินเข้ามาบอกคุณว่า สิ่งที่คุณกำลังทุ่มเทพัฒนามานานแรมปีอยู่นั้น อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากองค์ประกอบความไม่แน่นอนหลายๆ อย่าง ซ้ำร้าย เมื่อทดลองทำด้วยตัวเองในครั้งแรกแล้วดันล้มเหลวไม่เป็นท่าจริงๆ คุณจะทำอย่างไร?
เรื่องทั้งหมดคือสถานการณ์ที่ แฟรงกี ซาปาตา นักกีฬาเจ็ตสกี นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสวัย 40 ปี และซีอีโอบริษัท Zapata ต้องเผชิญ หลังเริ่มพัฒนาเครื่องยนต์ไอพ่น ‘Flyboard’ ที่ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถเคลื่อนที่ในอากาศและลอยตัวเหนือผืนน้ำได้มาต่อเนื่องนานกว่า 8 ปีเต็ม (นับรวม Flyboard รุ่นต้นแบบเวอร์ชันแรก) จนกลายเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่สามารถบินผ่านช่องแคบอังกฤษด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่ตนเองคิดค้นขึ้นมาในที่สุด
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว ซาปาตาตัดสินใจจะบินข้ามช่องแคบอังกฤษด้วย Flyboard ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม เป็นครั้งแรก เพื่อแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะและศักยภาพของเครื่องยนต์ไอพ่นที่เขาซุ่มพัฒนาขึ้นมา อย่างไรก็ดี แม้กรมการบินพลเรือนของฝรั่งเศส (DGAC) จะอนุมัติให้เขาสามารถทำการบินได้ แต่เจ้าหน้าที่การเดินเรือท้องถิ่นในฝรั่งเศสก็ออกมาเตือนซาปาตาถึงความปลอดภัย เนื่องจากเส้นทางที่เขาบินผ่านคือเส้นทางสัญจรหลักของเรือบรรทุกสินค้าที่แล่นพลุกพล่านตลอดเวลา
“มันเป็นพื้นที่ที่อันตรายมาก เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเขา (ซาปาตา) จะสามารถขึ้นบินเหนือเรือบรรทุกสินค้าได้หรือไม่ เพราะช่องแคบกาเลถือเป็นเส้นทางที่มีอัตราการเดินเรือหนาแน่นมากเทียบเท่ากับสัดส่วน 1 ใน 4 ของโลก แถมยังมีเรือขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากอีกด้วย” หน่วยการเดินเรือท้องถิ่นให้ความเห็น
เมื่อได้ยินเช่นนั้น ดูซาปาตาจะไม่ยี่หระ แถมยังบอกอีกด้วยว่า มันฟังดู ‘ไร้สาระ’ พร้อมขึ้นบินด้วย Flyboard ตามกำหนดการเดิมทันที
เป็นไปตามคำเตือนของหน่วยการเดินเรือท้องถิ่น เมื่อซาปาตาล้มเหลวจากการทดสอบบินในครั้งแรก และตกลงไปยังแม่น้ำในระหว่างเตรียมเทียบท่าลงจอดยังแพลตฟอร์ม เพื่อพักเติมเชื้อเพลิง โดยทีมของซาปาตาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “นับเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ เขาพลาดในระหว่างลงจอดไปเพียงไม่กี่เซนติเมตร”
ด้านซาปาตาบอกกับบีบีซีว่า สิ่งที่เขาและทีมงานร่วมกันทำ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แผนการของเขานั้นโอเค ปัญหาเพียงอย่างเดียวคือ การแก้ช่องโหว่เรื่องการเติมเชื้อเพลิง ซึ่งในระหว่างนี้เขาและทีมงานก็จะโฟกัสไปที่การแก้ปัญหานี้ และเริ่มบินข้ามช่องแคบอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
“เราพลาด และเราก็เสียใจกับมัน แต่ผมต้องบอกเลยว่าความรู้สึกของการได้บินนั้นสุดยอดมากๆ เหมือนกับว่า ผมกำลังบินอยู่ในความฝันของตัวเอง น่าตื่นตาตื่นใจสุดๆ ผมไม่กลัวมันเลยแม้แต่น้อย”
กระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ในการบินครั้งที่ 2 ซาปาตาได้เริ่มออกบินจากชุมชน Sangatte ในเขต Pas-de-Calais ทางชายฝั่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เมื่อเวลาประมาณ 06.17 น. ในระยะทางกว่า 35 กิโลเมตร ด้วยระดับความสูงเหนือผืนน้ำที่ 15-20 เมตร โดยใช้ความเร็วเฉลี่ยสูงสุดในการบินที่ 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ท่ามกลางการเฝ้าจับตาทำข่าวของสื่อมวลชน กองเชียร์ของซาปาตาที่คอยลุ้นเอาใจช่วยอย่างใกล้ชิด หลังผ่านไป 22 นาที ซาปาตาก็ลงจอดบริเวณอ่าวเซนต์มาร์กาเร็ตส์ ในเมืองโดเวอร์ ประเทศอังกฤษ ได้อย่างปลอดภัย และไม่พบปัญหาระหว่างแวะจอดเติมเชื้อเพลิง
เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทั้งนำ้ตาแห่งความดีใจว่า “พวกเราพัฒนาเครื่องยนต์นี้ขึ้นมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และตอนนี้เราก็สามารถบินข้ามช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จ มันบ้ามากๆ เลย
“ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์หรือไม่ ผมไม่ใช่คนที่ตัดสินใจ เวลาเท่านั้นที่จะบอกทุกอย่าง”
ความสำเร็จในวันนี้ของซาปาตาและทีมงานไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากเจ้าตัวไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเขาไขว้เขวและขาดศรัทธาจากการที่คนจำนวนไม่น้อยบอกกับเขาว่า สิ่งที่เขากำลังทำอาจจะเป็นไปไม่ได้
สำคัญที่สุดคือ การที่เขากล้าที่จะยอมรับความผิดพลาดและความล้มเหลว พร้อมมองหาอุปสรรคช่องโหว่ที่เกิดขึ้นว่าจะแก้ไขมันได้ด้วยวิธีไหน และจะทำอย่างไรให้สามารถกลับมาทดสอบอีกครั้งให้ได้เร็วที่สุด ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แปรเปลี่ยนกลายเป็นแรงดันส่งให้ซาปาตาบินข้ามช่องแคบอังกฤษ พร้อมลงจอดอย่างราบรื่นในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/world-europe-49108632
- www.scmp.com/news/world/europe/article/3019712/daredevil-inventor-franky-zapata-will-cross-english-channel-his
- www.theguardian.com/uk-news/2019/aug/04/franky-zapata-crosses-channel-by-hoverboard-at-second-attempt
- www.theverge.com/2019/8/4/20753648/jet-powered-hoverboard-english-channel-crossing-franky-zapata-success
- www.npr.org/2019/07/25/745330126/franky-zapata-falls-in-english-channel-trying-to-cross-it-on-high-speed-hoverboa