×

จากแบงก์ล้มสู่แบงก์ลวง! ฝรั่งเศสสั่งปรับแบงก์พาณิชย์กว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ หลังโดนสอบฐานพัวพันกรณีเลี่ยงภาษี-ฟอกเงิน

29.03.2023
  • LOADING...
Societe Generale

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บรรดาธนาคารในฝรั่งเศส รวมถึงธนาคารรายใหญ่ชั้นนำอย่าง Societe Generale SA และ BNP Paribas SA ต้องเผชิญกับค่าปรับรวมกันมากกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ หลังการสอบสวนพบว่าธนาคารเหล่านี้เข้าไปพัวพันกับการฉ้อโกงทางภาษี และการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินปันผล

 

รายงานระบุว่า ธนาคารพาณิชย์อย่าง HSBC Holdings Plc, Natixis SA และ Exane ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของ BNP ก็โดนปรับด้วยเช่นกัน 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


รายงานของสำนักงานอัยการในปารีสระบุว่า ค่าปรับซึ่งเป็นไปตามบทลงโทษ และครอบคลุมถึงดอกเบี้ยย้อนหลังดังกล่าว มีขึ้นหลังทางการเปิดฉากสอบสวนอย่างจริงจังในเดือนธันวาคม ปี 2021

 

สำหรับการเปิดฉากตรวจสอบครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การเก็งกำไรจากเงินปันผลที่รู้จักกันในชื่อ Cum-Cum ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ถือหุ้นโอนหุ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ให้กับนักลงทุนในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเงินปันผล เพื่อให้นักลงทุนถือหุ้นในช่วงเวลาที่จ่ายเงินปันผลและไม่ต้องเสียภาษีหรือได้รับภาษีคืน จากนั้นก็ขายหลักทรัพย์คืนให้กับเจ้าของเดิมและแบ่งจำนวนเงินที่บันทึกไว้ระหว่างทั้งสองฝ่าย

 

จนถึงขณะนี้ตัวแทน BNP, HSBC และ Natixis ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ ขณะที่โฆษกของ SocGen ยืนยันว่าธนาคารได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนที่เกิดขึ้น 

 

การเข้าตรวจสอบและสอบสวนเชิงรุกในครั้งนี้ยังเพิ่มความรู้สึกด้านลบต่ออุตสาหกรรมการธนาคารทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งนักลงทุนได้รับผลกระทบจากการรับความช่วยเหลือฉุกเฉินของ Credit Suisse Group AG และการประกาศล้มละลายของ Silicon Valley Bank 

 

นอกจากนี้ข่าวเชิงลบยังส่งผลให้หุ้นของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในตลาดลอนดอนปรับตัวร่วงแรงในช่วงวันอังคารที่ 28 มีนาคม โดยหุ้นของ SocGen ลดลงมากถึง 2.4% ขณะที่ BNP ลดลง 0.5% และ HSBC ลดลงประมาณ 0.2%

 

การเปิดฉากตรวจสอบบรรดาธนาคารพาณิชย์ของทางอัยการฝรั่งเศสมีการเตรียมการมาอย่างยาวนานหลายเดือนแล้ว โดยอัยการฝรั่งเศสได้จับมือกับผู้พิพากษาท้องถิ่น 16 คน เจ้าหน้าที่สืบสวนมากกว่า 150 คน และอัยการอีก 6 คน ร่วมมือกันขุดคุ้ยตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ซึ่งการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีสำหรับเงินปันผลในเยอรมนีเป็นเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศภายใต้โครงการ Cum-Ex ที่อนุญาตให้ผู้ขายชอร์ตและผู้ถือหุ้นที่แท้จริงได้รับเครดิตภาษีการเรียกร้องทั้งหมดสำหรับเงินปันผลที่จ่ายเพียงครั้งเดียว

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2019 เหล่าเทรดเดอร์ที่เข้าร่วม Cum-Ex ในเยอรมนี ได้บอกกับศาลว่า Cum-Ex ทำกำไรได้มากกว่า Cum-Cum 5-6 เท่า อย่างไรก็ตาม Cum-Cum แพร่หลายกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการซื้อขายระหว่างธนาคาร เนื่องจากถือว่าความเสี่ยงทางกฎหมายต่ำกว่ามาก โดย Cum-Cum ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพราะเชื่อกันว่าไม่ละเมิดประเด็นทางกฎหมายใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ Cum-Ex ทำ

 

ทั้งนี้ การสืบสวนที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนั้นได้ทำให้เกิดกวาดล้างผู้ต้องสงสัยที่มีศักยภาพนับพันรายทั่วทั้งภาคการเงิน และมีการบุกเข้าจับกุมธนาคารระหว่างประเทศรายใหญ่เกือบทุกแห่งในเยอรมนี ทำให้เกิดคดีแพ่งและคดีอาญาในเยอรมนี สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก

 

ด้านสถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า สารพัดความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในภาคธนาคารในยุโรปและสหรัฐฯ ในช่วงเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อภาคการเงินการธนาคารถูกสั่นคลอน 

 

รายงานระบุว่า นับตั้งแต่การล้มของ Silicon Valley Bank ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ธนาคารล้มครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 ก็มีข่าวธนาคารน้อยใหญ่ชั้นนำหลายแห่งทยอยประสบปัญหา ตั้งแต่ภาวะขาดทุนไปจนถึงการขาดสภาพคล่อง โดยรวมถึงกรณีการเข้าซื้อกิจการ Credit Suisse แบบฉุกเฉินของ UBS ส่งผลให้ความวิตกกังวลแพร่กระจายเป็นวงกว้างจนนำไปสู่การเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร

 

ล่าสุด Deutsche Bank ก็ตกเป็นเป้าหมายรายต่อไป หลังจากราคาหุ้นร่วงลง และราคาในการประกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ (CDS) พุ่งขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ธนาคารจะมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งก็ตาม

 

ธนาคารกลางอังกฤษประกาศ ‘ยกระดับความรอบคอบ’ 

แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประกาศให้คำมั่นเพิ่มความระแวดระวังให้มากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของภาคการเงินการธนาคารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าตัวชี้ว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาพิสูจน์ความแข็งแกร่งของธนาคาร เนื่องจากตลาดกำลังทดสอบเพื่อระบุจุดอ่อน 

 

คำสัญญาดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความเคลื่อนไหวของหุ้นในกลุ่มธนาคารทั่วโลกที่ผันผวนอย่างหนักในช่วงเดือนมีนาคม โดยเป็นผลจากกระแสความหวาดวิตกเกี่ยวกับเสถียรภาพและสภาพคล่องของธนาคาร หลังเกิดการล้มของ Silicon Valley Bank และอีกไม่กี่วันต่อมา Credit Suisse ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ก็ประสบปัญหาสภาพคล่อง จนต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนยุติปัญหาด้วยการที่ UBS เข้าควบรวมกิจการ 

 

เบลีย์ได้กล่าวกับทางคณะกรรมการวิสามัญการคลัง (Treasury Select Committee) ของสหราชอาณาจักรว่า ทางการสหรัฐฯ กำลังจัดการกับประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารในภูมิภาค และ Credit Suisse เป็น “เรื่องราวของสถาบัน” แต่ยืนยันว่าระบบธนาคารในสหราชอาณาจักร “อยู่ในสถานะที่แข็งแกร่ง เงินทุนสำรองพร้อม และสภาพคล่องดี” 

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงวันศุกร์ที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา มีการเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรปอย่างรวดเร็ว นำโดย Deutsche Bank ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์หลายคนสับสน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารสัญชาติเยอรมันแห่งนี้กลับมามีความสามารถในการทำกำไรที่สม่ำเสมอ พร้อมกับเงินทุนที่แข็งแกร่งและสถานะสภาพคล่อง

 

อย่างไรก็ตาม หุ้นของธนาคาร Deutsche Bank ก็ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในวันจันทร์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ความตื่นตระหนกในตลาดดูเหมือนจะบรรเทาลง หลังจากที่ First Citizens ตกลงที่จะซื้อสินทรัพย์ก้อนใหญ่ของ Silicon Valley Bank

 

เบลีย์กล่าวต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติว่า จากมุมมองส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เห็นในช่วงวันศุกร์ที่แล้วเป็นความเคลื่อนไหวของตลาดที่ต้องการทดสอบความแข็งแกร่งของธนาคารแต่ละแห่ง และเพื่อระบุจุดอ่อนที่ควรระวัง 

 

เบลีย์ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกฎระเบียบของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ในการปฏิบัติต่อความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในบัญชีเพื่อการธนาคาร (IRRBB) ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่คาดหวังต่อเงินทุนของธนาคารและรายได้จากการเคลื่อนไหวที่ไม่พึงประสงค์ของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ระบบของอังกฤษไม่เปิดกว้างเท่ากับธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ

 

ขณะเดียวกันเบลีย์มั่นใจว่าภาคการธนาคารในอังกฤษและอีกหลายประเทศในยุโรปจะสามารถยืนหยัดท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายนี้ได้ และธนาคารทั้งหลายในอังกฤษต่างแข็งแกร่งกว่าช่วงปี 2007-2008 กระนั้นโดยรวมแล้วยังคงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง พร้อมเตือนว่าต่อให้ไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวล แต่ก็เป็นปัญหาที่ต้องระวัง 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising