×
SCB Omnibus Fund 2024

บทเรียนจาก Credit Suisse ‘เมื่อความเชื่อมั่นสูญสิ้น ประวัติศาสตร์ 167 ปีต้อง (เกือบ) สิ้นสุด’

20.03.2023
  • LOADING...

“เมื่อความเชื่อมั่นสูญสิ้น คุณจะไม่สามารถสร้างมันกลับขึ้นมาใหม่ได้ง่าย ธุรกิจธนาคารก็เป็นเช่นนี้ มันไม่เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ” จอห์น พลาสซาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของ Mirabaud กล่าวถึงหนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์และของโลกอย่าง Credit Suisse ที่จวนเจียนจะล้มลง ก่อนที่ธนาคารกลางสวิส (The Swiss National Bank) และคู่แข่งรายสำคัญอย่าง UBS Group จะเข้ามาประคองไว้ได้ทัน 

 

Too Big to Fail

 

หาก Credit Suisse ไม่ใช่ ‘ยักษ์ใหญ่’ ไม่แน่ว่าสถาบันการเงินที่มีอายุเกือบ 167 ปี อาจจะต้องล้มลงไปแล้ว ด้วยปัญหาที่หมักหมมมานานจนกัดกร่อนให้สภาพคล่องของบริษัทร่อยหรอลงไปอย่างมาก ก่อนจะเผชิญกับการไหลออกของเงินทุนของลูกค้าราว 1.33 แสนล้านดอลลาร์เมื่อปี 2022 ซึ่งเป็นที่มาของการรายงานผลขาดทุนที่มากถึง 7.9 พันล้านดอลลาร์ มากที่สุดนับแต่วิกฤตการเงินปี 2008 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


แม้ว่าก่อนหน้านั้นบริษัทได้พยายามปรับโครงสร้างธุรกิจและลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานประจำถึง 9,000 คน พร้อมกับแยกธุรกิจวาณิชธนกิจออกไป เพื่อโฟกัสกับธุรกิจบริหารความมั่งคั่งแล้วก็ตาม

 

และก่อนที่ Credit Suisse จะตกไปอยู่ภายใต้คู่แข่งอย่าง UBS ธนาคารกลางสวิสพยายามเข้ามาช่วยเหลือด้วยการอัดฉีดเงินเข้ามาราว 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ทุกอย่างสายเกินไปสำหรับปัญหาที่เรื้อรังมานาน

 

ภายหลังการเจรจาอย่างเข้มข้นราว 11 ชั่วโมงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา UBS ได้บรรลุข้อตกลงที่จะซื้อหุ้นทั้งหมดของ Credit Suisse คิดเป็นมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ หลังจากข้อเสนอแรกที่มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ได้ถูกปฏิเสธไป เพราะ Credit Suisse มองว่าเป็นราคาที่ต่ำเกินไป และจะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและพนักงานของบริษัทอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่ 3.3 พันล้านดอลลาร์ยังคงต่ำกว่าราคาตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ราว 8 พันล้านดอลลาร์ 

 

คาริน เคลเลอร์-ซัตเตอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสวิส กล่าวว่า “การสูญเสียความเชื่อมั่นจากตลาดและลูกค้าไม่สามารถที่จะประคองไว้ได้อีกต่อไป และ (ส่วนตัว) รู้สึกเสียใจที่ Credit Suisse ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง” 

 

ขณะที่ คอล์ม เคลเลเฮอร์ ประธานคณะผู้บริหารของ UBS กล่าวว่า “เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าซื้อ Credit Suisse นี่คือการเข้าช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน” 

 

สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่มีสถาบันการเงินมากถึง 243 บริษัท และสาขาของธนาคารต่างชาติอีก 24 บริษัท อาจไม่สามารถปล่อยให้ Credit Suisse ล้มลงได้ ขณะที่การควบรวมกันระหว่างสินทรัพย์ของ UBS และ Credit Suisse คิดเป็นประมาณ 2 เท่าของ GDP ของสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ

 

ล้มเหลวในการควบคุมความเสี่ยง

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1856 Credit Suisse ถูกตั้งขึ้นโดยนักการเมืองและนักธุรกิจอย่าง อัลเฟรด เอสเชอร์ ภายใต้ชื่อ Schweizerische Kreditanstalt (SKA) ในฐานะธนาคารหน้าใหม่ เพื่อให้เงินทุนสนับสนุนโครงการลงทุนขยายระบบรางรถไฟและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซูริก

 

ในอีก 14 ปีต่อมา ธนาคารได้ขยายไปตั้งสำนักงานที่ต่างประเทศแห่งแรกที่นิวยอร์กในปี 1905 ก่อนที่บริษัทจะเดินหน้าซื้อกิจการของธนาคารอีกหลายแห่ง และขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันการเงิน เช่น ธุรกิจวาณิชธนกิจภายใต้บริษัท First Boston, ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกัน ก่อนที่บริษัทจะมีการจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ในปี 1997 และเปลี่ยนชื่อจาก SKA และ CS Holding มาเป็น Credit Suisse Group ก่อนจะขยายธุรกิจออกไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

 

ช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 Credit Suisse สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตมาได้โดยไม่จำเป็นต้องรับการช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐ ในขณะที่ UBS ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ จำเป็นจะต้องรับเงินช่วยเหลือ แต่หลังจากนั้น Credit Suisse กลับต้องเข้าสู่ช่วงเวลาขาลงอย่างเต็มตัว 

 

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ Credit Suisse ดิ่งลงกว่า 95% จากจุดพีคในช่วงก่อนวิกฤตการเงินปี 2008 ที่กว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 8 พันล้านดอลลาร์จากราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าบริษัทอย่าง Goldman Sachs Group ถึง 10 เท่า 

 

หนึ่งในปัจจัยที่หลายคนมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Credit Suisse เดินมาถึงจุดนี้คือ การเร่งเติบโตผ่านการซื้อกิจการอย่างหนักหน่วง ไล่มาตั้งแต่ปี 1990 ภายใต้การบริหารงานของ เรเนอร์ กัต อดีตซีอีโอ ที่ตัดสินใจเข้าซื้อบริษัทพันธมิตรในสหรัฐฯ อย่าง First Boston ซึ่งประสบปัญหาในช่วงเวลานั้น

 

หลังจากนั้น Credit Suisse ยังเดินหน้าซื้อกิจการต่อเนื่อง เช่น Winterthur Insurance ในปี 1997 Donaldson และ Lufkin & Jenrette ในปี 2000 ซึ่งท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นดีลที่แพงเกินจริง ก่อนที่บริษัทจะตัดขาย Winterthur ออกไปในปี 2006 โดย ออสวอลด์ กรูเบล อดีตซีอีโอ

 

ไม่เพียงแค่นั้น กระบวนการตรวจสอบภายในของบริษัทก็ดูเหมือนจะหละหลวมอยู่ไม่น้อย ทั้งจากกรณีการทุจริตของ แพทริซ เลสคอดรอน อดีต Private Banker ของบริษัท ซึ่งถูกตัดสินใจความผิดในปี 2018 

 

ถัดมาในปี 2021 บริษัทต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้ารายใหญ่อย่าง Archegos Capital Management คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการบริหารความเสี่ยง จนในท้ายที่สุด Credit Suisse ได้รับความเสียหายจากการปล่อยกู้ให้กับ Archegos ไปมากถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์ 

 

และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น บริษัทยังต้องปิดกองทุน 4 แห่งที่บริหารร่วมกับ Greensill Capital หลังจากที่ Greensill มีประเด็นเกี่ยวกับการทุจริตร่วมกับลูกค้ารายใหญ่ในธุรกิจเหล็กอย่าง Sanjeev Gupta ทำให้ Credit Suisse ในฐานะผู้ออกกองทุนอ้างอิงกับใบแจ้งหนี้ (Invoice) ของ Greensill ประสบปัญหา 

 

ผู้ชนะหนึ่งเดียวกับผู้แพ้เกลื่อนกลาด

 

จากบทสรุปล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ Credit Suisse สำนักข่าว Bloomberg มองว่า ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียวคือ ราล์ฟ ฮาเมอร์ส ซีอีโอของ UBS ซึ่งจะได้เห็นความมั่งคั่งและสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ และยังได้รับสิทธิพิเศษที่จะเลือกเก็บหน่วยธุรกิจที่มีกำไรของ Credit Suisse เอาไว้ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนมากประเมินว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 3 เท่า เทียบกับเงินที่ UBS จ่ายเพื่อซื้อกิจการทั้งหมดของ Credit Suisse 

 

แม้ว่าฮาเมอร์สและทีมงานจะมีงานที่ต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรกับแต่ละหน่วยธุรกิจ แต่อย่างน้อยที่สุดบริษัทก็ยังสบายใจได้ระดับหนึ่งจากการมีสิ่งที่เรียกว่าค่าความนิยมติดลบ (Badwill) ซึ่งก็คือส่วนต่างของราคาทุนที่จ่ายซื้อ ‘ต่ำกว่า’ มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิที่ได้มาจากการซื้อ คิดเป็นมูลค่า 5.9 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ซึ่งจะช่วยชดเชยการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และยังมีเงินการันตีช่วยเหลือผลขาดทุนจากรัฐบาลอีก 9 พันล้านฟรังก์สวิส 

 

ส่วนผู้แพ้จากบทสรุปของ Credit Suisse นั้นไล่เรียงมาตั้งแต่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โดยเฉพาะ Saudi National Bank ที่ต้องขาดทุนถึง 1.1 พันล้านฟรังก์สวิสภายในเวลาไม่ถึง 15 สัปดาห์ จากการใส่เงินเพิ่มทุนก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับ Qatar Investment Authority ที่ใส่เงินลงทุนเข้ามาตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินคราวก่อน และอาจต้องเผชิญผลขาดทุนจากหุ้นกู้หากยังคงถืออยู่

 

ผู้ถือหุ้นกู้ AT1 ในทางทฤษฎีแล้วมักจะได้รับการปกป้องจากการขาดทุนมากกว่าผู้ถือหุ้นโดยตรง แต่ไม่ใช่กับกรณีนี้ หน่วยงานกำกับของสวิสตัดสินใจที่จะปล่อยให้ผู้ถือหุ้นกู้เผชิญกับการขาดทุนรวมกันถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

หน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดการเงินของสวิส (FINMA) ที่ต้องเข้ามาช่วยอัดฉีดสภาพคล่องหลายพันล้านฟรังก์สวิส เพื่อรับผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นให้กับ UBS และทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเงินในรอบ 15 ปีนับแต่ที่เคยเข้าไปช่วยเหลือ UBS จากวิกฤตการเงินครั้งก่อน 

 

รวมทั้ง เอเซล เลห์แมนน์ ประธานบริษัท และ อัลริช Ulrich ซีอีโอบริษัท ที่เข้ามาพร้อมกับแผนในการฟื้นฟูและรื้อโครงสร้างบริษัท แต่ไม่สามารถประคองให้บริษัทรอดพ้นวิกฤตไปได้ แม้บริษัทจะตัดสินใจเปิดเผยถึงความเสี่ยงและจุดอ่อนเกี่ยวกับการควบคุมภายในของบริษัทผ่านรายงานประจำปีล่าสุด พร้อมประกาศออกมาก่อนหน้านี้ว่า “Credit Suisse โฉมใหม่จะเริ่มกลับมาทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป”

 

อย่างไรก็ตาม โลกไม่ได้หยุดนิ่ง ยุคของเงินทุนราคาถูกจบลงแล้ว เศรษฐกิจโลกเริ่มปั่นป่วน และความเชื่อมั่นของนักลงทุนสูญสิ้นไปแล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising